นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้พบว่า นักลงทุนต่างชาติมีการลงทุนในตราสารหนี้ไทยเพิ่มขึ้นถึง 167,390 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการถือครองเพิ่มขึ้นในตราสารหนี้ระยะสั้น 109,147 ล้านบาท ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นตราสารหนี้ระยะสั้นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และถือครองเพิ่มขึ้นในตราสารหนี้ระยะยาว 58,244 ล้านบาท ทำให้ยอดการถือครองตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติสูงขึ้นเป็น 731,552 ล้านบาท ณ 30 ก.ย. 59
แม้ว่าเมื่อวานนี้และในช่วงเช้าวันนี้มีกระแสเงินไหลออกรวม 15,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเมื่อวานนี้ 11,000 ล้านบาท และครึ่งวันนี้ (11 ต.ค.) ราว 4,500 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการขายพันธบัตรระยะสั้น เป็นผลมาจากปัจจัยในและนอกประเทศ ขณะที่ตลาดหุ้นก็ปรับลงด้วย "Fund flow ที่ไหลออก 2 วันนี้ ยังดูไม่ชัดเจน แต่สิ่งที่เห็น Fund flow ที่เกิดขึ้นปีนี้อยู่ใน short term อย่างน้อยก็คงจะรอให้ครบกำหนด จะตัดสินใจอยู่ต่อหรือไม่ ซึ่งก็รอดูเทรนด์ว่าจะเปลี่ยนหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่ลงอยู่ในตราสารหนี้ระยะสั้นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ออกมาเพื่อดูดซับสภาพคล่อง ซึ่งเชื่อว่าผลกระทบยังมีอยู่ เพราะลงไปในที่ที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงิน"นายธาดา กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่า Fund flow สิ้นปีนี้จะเป็นยอดซื้อสุทธิจากในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาและในไตรมาส 4 นี้ หากไม่นับ 2 วันดังกล่าวนี้ยังเชื่อว่าเป็นยอดซื้อสุทธิ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีการปรับการเติบโตของจีดีพีขึ้น ขณะที่ประเทศอื่นไม่ปรับ แต่หากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธ.ค.อาจจะเกิดความผันผวนได้
สำหรับช่วง 9 เดือนของปี 59 ตลาดตราสารหนี้ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าคงค้างรวมเพิ่มขึ้น 5.72% จากสิ้นปีที่แล้วมาอยู่ที่ 10.70 ล้านล้านบาท
ด้านการระดมทุนของภาคเอกชนผ่านตลาดตราสารหนี้ พบว่า มูลค่าการออกตราสารหนี้ระยะสั้นเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่า 685,520 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มูลค่าการออกตราสารหนี้ระยะยาวเพิ่มขึ้นถึง 24% โดยมีมูลค่าการออกรวม 532,165 ล้านบาท
ทั้งนี้มีจำนวนผู้ออกตราสารหนี้รวมทั้งหมด 317 บริษัท แบ่งเป็น ระยะยาว 128 บริษัท ระยะสั้น 189 บริษัท โดยมีจำนวนผู้ออกรายใหม่ 66 บริษัท
นายธาดา กล่าวว่า สำหรับปีนี้ได้ปรับเป้ามูลค่าการออกตราสารหนี้ระยะยาวเพิ่มเป็น 6.5 แสนล้านบาท จากเดิมปรับขึ้นมาที่ 6 แสนล้านบาท เนื่องจากในช่วงที่เหลือของปียังมีอีกหลายดีลที่จะออกมา ขณะที่ช่วง 9 เดือนปีนี้ มีมูลค่าการออกตราสารหนี้แล้ว 5.32 แสนล้านบาท แม้ว่าความต้องการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง แต่จากการคาดการณ์ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปลายปีนี้ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวสูงขึ้นทุกช่วงอายุ เมื่อเทียบกับสิ้นไตรมาสก่อน โดย 30 ก.ย.59 Yield ของพันธบัตรระยะสั้นถึงกลาง ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 4-7 basis points ส่วน Yield ของพันธบัตรระยะยาวปรับตัวขึ้นในช่วง 4-11 basis points อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรทุกช่วงอายุยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน โดย Yield ของพันธบัตรระสั้นถึงกลาง ลดลง 5-10 basis points ส่วน Yield ของพันธบัตรระยะยาวลดลง 15-70 basis points
สำหรับแนวโน้มทิศทางอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ (BondYield) ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ มองว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นมีแนวโน้มทรงตัวตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบายที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับ 1.5% ไปจนถึงสิ้นปี ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวอายุ 10 ปี น่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ในช่วงที่เหลือของปีนี้น่าจะทรงตัวและมีโอกาสขยับขึ้นตาม Fed Fund rate ที่คาดว่าจะถูกปรับขึ้นในเดือนธ.ค. โดยการปรับตัวน่าจะเป็นไปอย่างช้าๆ ตามทิศทางเศรษฐกิจโลก และผลกระทบจาก Brexit ที่ยังคงต้องติดตาม
นายธาดา กล่าวถึงตั๋วเงินระยะสั้น (B/E) ที่ออกโดยบมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป (NMG) ที่จะครบกำหนดมูลค่า 100 ล้านบาทในวันพรุ่งนี้นั้นโอกาสที่จะผิดนัดชำระหนี้ (Default) ย่อมมีสูง ซึ่งมองว่าเป็นผิดนัดชำระหนี้ทางเทคนิค (Technical Default) เพราะไม่มีคนเซ็น แต่ไม่ได้เกิดจากบริษัทไม่มีเงินมาชำระ ซึ่ง NMG มีการออกตั๋ว B/E ทั้งหมด 550 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งหมด 8 รุ่น สิ้นสุดเดือนมี.ค.60
"หากพรุ่งนี้ไม่สามารถชำระได้ ก็อาจจะกระทบไปถึงดีลที่เหลือ และดีลอื่นๆ ซึ่งก็จะมีผลสะท้อนตัวอื่นๆ ที่ยังไม่ครบดีลด้วย จึงอยากจะเตือนนักลงทุน คนที่เคยคิดว่าลงทุนระยะสั้นๆให้คำนึงถึงความเสี่ยงด้วย เป็นบทเรียนว่าความเสี่ยงเกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งปกติตั๋ว B/E จะมีอายสั้น 3,6 เดือนซึ่งของ NMG เฉลี่ยไม่เกิน 6 เดือน"