หุ้น SELIC ปิดเทรดช่วงเช้าที่ 4.28 บาท เพิ่มขึ้น 1.38 บาท (+47.59%) จากราคาขาย IPO ที่ 2.90 บาท/หุ้น มูลค่าซื้อขาย 997.35 ล้านบาท โดยเปิดตลาดที่ 4.30 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 4.50 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 4.22 บาท
นายเอก สุวัฒนพิมพ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีลิค คอร์พ (SELIC) กล่าวว่า บริษัทฯเข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ในวันนี้ ( 18 ต.ค.) เป็นวันแรก ถือว่าราคาหุ้นก็มีการปรับตัวขึ้นเหนือราคาจองซื้อ หรือมีราคาเปิดเทรดอยู่ที่ 4.30 บาท จากราคาเสนอขาย 2.90 บาท ซึ่งเป็นไปตามกลไกของตลาด โดยบริษัทฯมีจุดเด่นในเรื่องของการวิจัยและการพัฒนา (R&D) จึงได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน
ทั้งนี้เงินที่ได้จากการระดมในครั้งนี้ บริษัทฯก็มีแผนที่จะนำไปลงทุนในเครื่องมือเครื่องใช้ในการวิจัยและพัฒนา (R&D) และเพิ่มบุคคลากร ,ใช้เป็นเงินทุนในการต่อเติมอาคาร ปรับปรุงระบบการผลิตให้มีความทันสมัยมากขึ้น ส่วนที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท เพื่อรองรับการขยายธุรกิจของบริษัทฯ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในระดับสากล
นอกจากนี้ หลังจากมีการปรับปรุงโครงสร้างของบริษัทฯในด้านต่างๆแล้ว บริษัทฯก็มองโอกาสขยายผลิตภัณฑ์ออกสู่อุตสาหกรรมอื่นมากขึ้น เช่น เฟอร์นิเจอร์ ,สิ่งทอ เป็นต้น จากปัจจุบันก็มีการนำสินค้าส่งเข้าไปยังอุตสาหกรรม อย่าง อาหาร เครื่องดื่ม และชิ้นส่วนยานยนต์ โดยกำลังการผลิตขณะนี้อยู่ที่ 60-70% ยังสามารถรองรับกำลังการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นได้อีกพอสมควร ขณะเดียวกันบริษัทฯยังมองการส่งออกไปยังต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย จากเดิมมีการส่งออกสินค้าแล้วใน 26-27 ประเทศทั่วโลก และมีสัดส่วนรายได้จากการส่งออกอยู่ที่ 30% ในประเทศอยู่ที่ 70% ซึ่งหากมีการส่งออกเพิ่มขึ้น บริษัทฯคาดหวังว่าจะสามารถดันสัดส่วนรายได้ในต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 30-40% ได้ในอนาคต
ด้านนายสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ประธานกรรมการ บริษัท แอสเซท โปรแมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน SELIC กล่าวว่า SELIC ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม และมีพื้นฐานดี ซึ่งจากการระดมทุนครั้งนี้ทำให้ได้เงินกว่า 200 ล้านบาท ส่งผลต่อหนี้สินต่อทุน (D/E) ลดลงเหลือ 0.7 เท่า จากเดิม 1 เท่า
อย่างไรก็ตามจึงเป็นโอกาสที่จะนำเงินที่ได้ไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และขยายตลาดไปยังต่างประเทศ เช่น CLMV หรือในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมในตลาดโลกยังมีโอกาสให้บริษัทฯสามารถเติบโตไปได้ ประกอบกับอัตราการเติบโตในระดับ 10% ต่อปี และต้นทุนที่ต่ำ จึงน่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการแข่งขันในตลาดโลก