CAC ปลื้ม บจ.ไทยร่วมต่อต้านทุจริตเพิ่ม เน้นขยายไปกลุ่มเสี่ยงคอรัปชั่น รับเหมา-อสังหาฯ-ขนส่ง

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 18, 2016 17:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพนัส สิมะเสถียร ประธานคณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) กล่าวในงานสัมมนาประจำปี "Ethical. Leadership: Combating Corruption Together"ว่า บริษัทในไทยได้ให้ความสำคัญการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นโดยมีจำนวนเอกชนที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นไม่รับ ไม่จ่าย ไม่ให้สินบนในการทำธุรกิจตามโครงการ CAC มากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงวันนี้จำนวน 732 บริษัท จากวันที่เริ่มก่อตั้งมี 27 บริษัท โดยจำนวนนี้มีบริษัท 200 แห่งได้ผ่านการรับรองว่าบริษัทมีนโยบายและมีแนวปฏิบัติป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นและการให้สินบน

อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ผ่านการรับรองส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่และแม้จะมีบริษัทไทยประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นมากขึ้นก็ตาม แต่ก็ยังมีอีกหลายแสนบริษัทหรืออาจถึงล้านบริษัท ซึ่งเป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่ยังไม่ได้เข้าร่วม ดังนั้น CAC จะผลักดันให้บริษัทเหล่านี้รวมบริษัทใหญ่ได้เห็นความสำคัญและมีส่วนร่วมต่อต้านการทุจริต

CAC ยังได้เพิ่มความเข้มข้นในการรับรองกับบริษัทที่ยื่นแสดงความจำนงต่อต้านทุจริตเพื่อให้การรับรอง CAC มีความน่าเชื่อถือ ทั้งนี้คณะกรรมการ CAC ได้กำหนดกรอบเวลาให้บริษัทที่ยื่นประกาศเจตนารมณ์ ต้องมีการดำเนินการให้ผ่านการรับรองภายใน 18 เดือน และเมื่อผ่านการรับรองครบ 3 ปีแล้วต้องยื่นขอรับรองใหม่

ด้านนาย Abdulwahab Alkebsi. Deputy Director, the Center for International Private Enterprise (CIPE) เห็นว่า CAC และ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) เป็นหน่วยงานสำคัญในไทย เป็นผู้นำในการสร้างความร่วมมือการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น ขณะเดียวกันได้มีความช่วยเหลือระหว่างภาครัฐ และเอกชน และเห็นว่ากระบวนการรับรองบริษัทที่ยื่นแสดงเจตนารมณ์ร่วมต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นและการจ่ายสินบนของบริษัทที่มีระยะเวลากำหนดแน่นอน โดยตนเองได้นำมาเป็นตัวอย่างในหลายประเทศที่เข้ารณรงค์การร่วมต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นของภาคเอกชน

นายบันฑิต นิจถาวร เลขาธิการ CAC และประธานกรรมการ IOD กล่าวว่า ตั้งแต่การก่อตั้ง CAC มา 7 ปี (เริ่มก่อตั้งพ.ย.53) จำนวนบริษัทที่เข้าร่วมต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างสมัครใจ มีจำนวนมากขึ้น จะเห็นความกระตือรือร้นที่จะเข้ามาร่วมต่อเนื่อง ซึ่งมีความหลากหลายมีทั้งบริษัทขนาดใหญ่ ไปถึงบริษัทเล็ก รวมทั้งเข้ามาในลักษณะสมาคม ได้แก่ สมาคมธนาคารไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สมาคมจัดการลงทุน สมาคมประกันชีวิต และสมาคมประกันวินาศภัย

ขณะนี้ CACได้ชักชวนธุรกิจในรูปแบบสมาคมเพราะถ้าธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรมในรูปสมาคม จะทำให้สมาชิกของสมาคมมีความตระหนักรู้ให้สมาชิกมาปฏิบัติ และยังแก้ปัญหาในการแข่งขันอย่างเป็นธรรม การทำธุรกิจให้สะอาด ซึ่งจะทำให้ทั้งบริษัทเล็ก ขนาดกลาง และบริษัทใหญ่ เข้ามาร่วม CAC โดยพิจารณาธุรกิจที่มีความเสี่ยงเรื่องคอร์รัปชั่น ใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง , ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และ ธุรกิจขนส่ง ซึ่งมีอยู่หลายสมาคมที่เกี่ยวข้อง

ปัจจุบัน มีจำนวนบริษัทเอกชนที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่รับ ไม่จ่าย ไม่ให้สินบนในการทำธุรกิจตามโครงการ CAC รวมทั้งสิ้น 732 บริษัทเป็นบริษัทจดทะเบียนถึง 361 บริษัท ซึ่งมีมูลค่าตลาด (Market Cap) คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 80% ของมูลค่าตลาดรวมทั้งตลาด แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของธุรกิจขนาดใหญ่ในการเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของประเทศ รวมทั้งได้มีแรงสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่มีนโยบายสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการในด้านการป้องกันทุจริตคอร์รัปชั่น และสมาคมนักลงทุนไทย

นอกจากนี้ จากการประเมินของบริษัทที่เข้าร่วมเพราะต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาเพราะธุรกิจมองเป็นต้นทุนธุรกิจ. อยากให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เพราะถ้ามีการทุจริตจะทำลายการแข่งขัน รวมทั้งรักษาความน่าเชื่อถือการทำธุรกิจในไทยในสายตานักลงทุนต่างประเทศ

นายบัณฑิต กล่าวว่า การร่วมมือต่อต้านการทุจริตภาคเอกชนที่ CAC ดำเนินมา 7 ปีได้ช่วยแก้ปัญหาทุจริตลดทอนลงได้ อย่างที่เห็นในต่างประเทศที่ทำได้ อาทิ ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ เป็นต้น และได้เพิ่มความตระหนักรู้ถึงปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น รวมทั้งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน โดยเฉพาะการทำงานของภาครัฐให้หลีกเลี่ยงการพบเจ้าหน้าที่รัฐเปลี่ยนมาใช้วิธีออนไลน์

ยกตัวอย่างเช่น บมจ.สมบูรณ์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี (SAT) ได้ชักชวนบริษัทคู่ค้าเข้าร่วมการต่อต้านการทุจริต ตามโครงการ CAC ถึง 88 บริษัท และ บมจ.บางจากปิโตรเลียม(BCP) ได้มีซัพพลายเออร์เข้าร่วม CAC จำนวน 58 ราย จากเกือบ 200 ราย

"ดูโมเมมตัม 7 ปี ยังมีหลายบริษัทเข้าร่วมต่อเนื่อง ช่วยให้ประเทศไทยลดทอนปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ผมได้เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์จากที่มองว่าแก้ไขปัญหาทุจริตไม่ได้แต่พฤติกรรมคนทำให้เปลี่ยนแปลงได้ ลดทอนปัญหาได้" นายบัณฑิต กล่าว

ในวันนี้ CAC ได้มอบประกาศนียบัตร.กับ 23 บริษัทที่ผ่านการรับรองในไตรมาส 3/59 ได้แก่ 1. บมจ.ควอลิตี้ คอนสตรัคชั่นโปรดักส์ (Q-CON) 2.บมจ.ไทย-เยอรมัน เซรามิค อินดัสทรี่ (TGPRO)3.บมจ.ไทยพลาสติค และเคมีภัณฑ์ (TPC) 4. บมจ. สหพัฒนพิบูล (SPC) 5. บมจ. ไทยวาโก้ (WACOAL) 6. บมจ.ธนูลักษณ์ (TNL) 7. บมจ.สหโคเจน (ชลบุรี) (SCG) 8. บมจ.เท็กซ์ไทล์เพรสทีจ (TPCORP) 9.บมจ.เอส แอนด์ เจ อินเตอร์เนชั่นแนล เอนเตอร์ไพรส์ (S&J) 10. บมจ.สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง (SPI) 11. บมจ.ฟาร์อีสท์ ดีดีบี (FE) 12. บมจ. ประชาอาภรณ์ (PG) 13.บมจ. ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล (ICC)

14.บมจ.ประกันภัยไทยวิวัฒน์ (TVI) 15.บมจ.ผลธัญญะ (PHOL) 16. บมจ. ทิปโก้ฟูดส์ (ประเทศไทย) (TIPCO) 17. บมจ.ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (CPI) 18. บมจ. ทีทีซีแอล (TTCL) 19. บมจ. เอ็ม บี เค (MBK) 20.บมจ. เมืองไทยประกันชีวิต 21. บมจ. อุตสาหกรรมพรมไทย (TCMC)22. บมจ. โมโน เทคโนโลยี (MONO) 23. บมจ. มุ่งพัฒนา อินเตอร์เนชั่นแนล (MOONG)

และ รายชื่อ 4 บริษัทซึ่งยื่นขอรับรองใหม่ (Re-certification) และคณะกรรมการ CAC ให้การรับรองในไตรมาสที่ 3/59 ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) , บล.กสิกรไทย , บลจ.กสิกรไทย และ บมจ. บางจากปิโตรเลียม (BCP)


แท็ก อสังหาฯ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ