นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) เปิดเผยว่า บริษัทได้ปรับการประมาณการผลการดำเนินงานของปี 59 ใหม่เพื่อสะท้อนผลประกอบการจริงที่เกิดขึ้นใน 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ ประกอบด้วย (1) การลดลงของรายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) จากปีที่แล้วเล็กน้อย (2) กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ,ภาษี,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว และ (3) รายจ่ายด้านการลงทุนในเครือข่ายและสินทรัพย์ต่าง ๆ (CAPEX) อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่แล้ว
อนึ่ง EBITDA Margin ในปี 58 อยู่ระดับ 31.8% ขณะที่เดิม DTAC ตั้งเป้าหมาย EBITDA margin ปีนี้ในช่วง 31-33% โดยในงวด 9 เดือนแรกของปี 59 บริษัทมี EBITDA อยู่ในระดับทรงตัวที่ -0.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับ CAPEX ที่คาดว่าจะใกล้เคียงกับปีก่อนที่ประมาณ 20,000 ล้านบาทนั้นจะทำการลงทุนในโครงข่ายบนคลื่น 2.1GHz เพื่อเพิ่มคุณภาพของสัญญาณ หลังจากขยายบริการ 4G ได้ครบทุกอำเภอและให้บริการ 4G-1800MHz ด้วยปริมาณคลื่นความถี่เต็ม 20 MHz ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและเมืองหลักแล้ว
ทั้งนี้ DTAC รายงานผลประกอบการไตรมาส 3/59 มีกำไรสุทธิที่ 659 ล้านบาท ลดลง 46% จากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่สูงขึ้นจากการลงทุนในโครงข่าย และเพิ่มขึ้น 366% จากไตรมาสก่อนโดยส่วนใหญ่เกิดจาก EBITDA ที่เพิ่มขึ้นและมีค่าใช้จ่ายพิเศษในการปรับโครงสร้างจำนวน 394 ล้านบาทที่เกิดขึ้นในไตรมาส 2/59 ซึ่งหากไม่รวมค่าใช้จ่ายพิเศษดังกล่าวแล้ว กำไรสุทธิจะเพิ่มขึ้น 23% จากไตรมาสก่อน
ขณะที่รายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย(IC) อยู่ที่ 16,196 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.0%จากไตรมาสก่อน แต่ลดลง 1.2% เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่มีแนวโน้มดีขึ้นจากไตรมาส 2/59 ที่ลดลง 2.4% โดยรอบ 9 เดือนแรกของปี 59 รายได้ไม่รวม IC ลดลง 1.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
แม้ว่ารายได้รวมในไตรมาส 3/59 จะลดลงเล็กน้อย หรือลดลง 1.6%จากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 17,320ล้านบาท แต่การควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีส่งผลให้ EBIDA เพิ่มขึ้น 2% และ EBITDA margin เพิ่มขึ้นเป็น 37.0% ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 2 ปี เทียบกับ 35.9% เมื่อช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ส่วนจำนวนฐานลูกค้ารายเดือนและรายได้ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอัตราเลขสองหลัก เป็นผลเนื่องมาจากการปรับปรุงคุณภาพและภาพลักษณ์ของเครือข่าย ข้อเสนอที่ดีที่สุดในตลาด แคมเปญโทรศัพท์มือถือที่ดึงดูด และการขยายเพิ่มจำนวนของร้านดีแทคช้อป
ในไตรมาสที่ 3/59 จำนวนลูกค้าระบบรายเดือนเพิ่มขึ้นประมาณ 195,000 เลขหมายและรายได้จากกลุ่มลูกค้ารายเดือนเพิ่มขึ้น 14% ในส่วนของกลุ่มลูกค้าระบบเติมเงิน ยังคงประสบกับความท้าทายต่างๆ ได้แก่ การช่วยอุดหนุนราคาอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ แคมเปญการย้ายค่ายเบอร์เดิมอันรุนแรง และกระแสความนิยมในการเปลี่ยนจากระบบเติมเงินเป็นระบบรายเดือนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของลูกค้าดีแทค แม้ว่าจำนวนลูกค้าในระบบรายเดือนจะเติบโตขึ้นอย่างมาก แต่รายได้รวมไม่รวมค่า IC ในไตรมาส 3/59 ลดลง 1.2% จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ส่วนรายได้จากการให้บริการข้อมูลคิดเป็น 58% ของรายได้จากการให้บริการทั้งหมดไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) ดีแทคมีการครอบครองคลื่นความถี่ที่แข็งแกร่ง โดยมีแบนด์วิธรวม 50 MHz ซึ่งรวมถึงคลื่น 1800 MHz ที่มีช่วงความถี่ต่อเนื่องกว้างที่สุด พร้อมรองรับความต้องการจากการใช้บริการข้อมูลของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น และสามารถให้บริการไร้สายต่างๆ ที่ดีที่สุดแก่ลูกค้าด้วยเทคโนโลยี 2G/3G/4G
DTAC ยังคงดำเนินการขยายเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง โดยได้ทำการติดตั้งสถานีฐานสำหรับให้บริการ 3G/4G จำนวนกว่า 20,000 สถานีในระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา โดยสามารถความเพิ่มความครอบคลุมของบริการ 4G ครบทั่วทั้งประเทศเมื่อสิ้นสุดไตรมาสที่ 3 นอกจากนี้ DTAC ได้เพิ่มแบนด์วิธของคลื่นความถี่ 1800 MHz ขึ้นเป็น 20 MHz ซึ่งนับว่าเป็นแบนด์วิธที่กว้างที่สุดบนคลื่นเดียวในตลาด และจะเพิ่มพื้นที่ครอบคลุมอย่างต่อเนื่องในไตรมาสต่อๆไป
ที่ผ่านมา DTAC ได้พัฒนาคุณภาพและภาพลักษณ์ของโครงข่ายอย่างต่อเนื่องไปพร้อมๆกับการขยายโครงข่าย ส่งผลให้จำนวนผู้ใช้บริการ 4G เมื่อสิ้นไตรมาส 3/59 มีจำนวน 4.1 ล้านเลขหมาย ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.6 ล้านเลขหมายจากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีฐานลูกค้ารวมอยู่ที่ 24.8 ล้านเลขหมาย โดย 94% ของจำนวนนี้ได้ลงทะเบียนภายใต้ดีแทคไตรเน็ต (DTN) เรียบร้อยแล้ว ณ สิ้นไตรมาส 3/59 ซึ่งลดลง 132,000 เลขหมายจากไตรมาส 2/59 อันเป็นผลจากการแข่งข้นในตลาดบริการระบบเติมเงิน
นอกเหนือจากการขยายโครงข่าย DTAC ยังได้มุ่งมั่นในการพัฒนาช่องทางการขาย ทั้งการเปิดร้านดีแทคช้อปเพิ่มจำนวน 55 ร้าน ดิจิทัลเซอร์วิสแฟล็กชิพสโตร์ “ดีอินฟินิท" (dInfinite) รวมถึงร้านค้าออนไลน์ เช่น ร้านดีแทคบนเว็บไซต์ลาซาด้า (Lazada) ซึ่งช่องทางการขายดิจิทัลมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการก้าวสู่ความเป็นผู้นำในแบรนด์ดิจิทัลของดีแทค
แม้ว่ารายได้รวมในไตรมาส 3/59 จะลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว แต่การควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีส่งผลให้ EBIDA เพิ่มขึ้น 2% และ EBITDA margin เพิ่มขึ้นเป็น 37.0% ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 2 ปี เทียบกับ 35.9% เมื่อช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
"เรายินดีที่ได้เห็นการเติบโตอันแข็งแกร่งของบริการระบบรายเดือน ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนถึงการปรับปรุงคุณภาพและภาพลักษณ์ของเครือข่ายดีแทค รวมไปถึงช่องทางการขายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เราจะยังคงนำเสนอบริการอินเทอร์เน็ตที่ดีและคุ้มค่าที่สุดให้แก่ลูกค้าของเรา นอกเหนือจากนี้ รายได้จากการให้บริการข้อมูลยังคงเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยหลักๆ มาจากบริการสตรีมมิ่งวีดีโอและเพลง เราได้จัดสรรแบนด์วิธจำนวน 20 MHz บนคลื่นความถี่ 1800 MHz สำหรับบริการ 4G ในกรุงเทพฯและปริมณฑล และได้ขยายความครอบคลุมไปยังพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นทั่วทั้งประเทศ โดยเครือข่าย 4G ของดีแทคครอบคลุมการใช้งานในทุกอำเภอของประเทศไทยแล้วเมื่อสิ้นไตรมาสที่ 3”นายลาร์ส กล่าว
อย่างไรก็ตาม บริษัทคงนโยบายการจ่ายเงินปันผลโดยมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิของบริษัท ขึ้นอยู่กับฐานะทางการเงินและแผนการประกอบธุรกิจของบริษัทในอนาคต โดยบริษัทมีเป้าหมายจะพิจารณาจ่ายเงินปันผลทุกครึ่งปี