โบรกเกอร์เชียร์ "ซื้อ"หุ้นธนาคารทหารไทย (TMB) หลังมองผลการดำเนินงานฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญในปี 60 จากที่อ่อนแอในปีนี้ จากการตั้งสำรองหนี้สูญค่อนข้างมาก กดดันต่อกำไรสุทธิปี้นี้ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ในไตรมาส 4/59 จะยังถูกกระทบด้วยค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล แต่คาดว่าภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นหนุนการขยายตัวของสินเชื่อ และค่าใช้จ่ายสำรองที่ลดลง จะช่วยผลักดันกำไรของ TMB ให้เติบโตเหนือกว่ากลุ่มได้ในปี 60
ขณะที่ราคาหุ้นเคลื่อนไหวแย่กว่ากลุ่มมากในช่วงที่ผ่านมา โดยปรับตัวลงราว 14% ตั้งแต่ต้นปี เทียบกับการปรับตัวขึ้นของกลุ่มแบงก์ที่ราว 14% ทำให้ราคาปัจจุบันนับว่าถูกมาก เมื่อเที่ยบกับราคาเป้าหมาย ทำให้ความเสี่ยงของราคาหุ้นจำกัด
ราคาหุ้น TMB ช่วงบ่ายอยู่ที่ 2.08 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อน ขณะที่หุ้นไทย ปรับขึ้น 0.20%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) เอเชีย เวลท์ ซื้อ 2.70 เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ ซื้อ 2.50 ทรีนีตี้ ซื้อ 2.25 โนมูระ พัฒนสิน ซื้อ 2.86 ฟิลลิป (ประเทศไทย) ซื้อ 2.36 แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซื้อ 2.46 ซีไอเอ็มบี ซื้อ 2.50 กสิกรไทย ซื้อ 2.30 ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเชีย เวลท์ กล่าวว่า กำไรสุทธิของ TMB ในปี 60 จะฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ หรือเพิ่มขึ้น 18.4% จากปีนี้ที่ผลคาดว่าจะทำผลกำไรได้เพียง 8.1 พันล้านบาท ลดลงจาก 9.3 พันล้านบาทในปีที่แล้ว หลังได้ปรับลดสมมติฐานการขยายตัวของสินเชื่อปี 59 จาก 10% เป็น 4% เนื่องจาก TMB มีความระมัดระวังมากขึ้นในการให้สินเชื่อโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี และปรับลดการเติบโตของรายได้จากค่าธรรมเนียมจาก 25% เป็น 5% ตามการขยายตัวของสินเชื่อที่ชะลอตัว ขณะเดียวกันก็เพิ่มสมมติฐานสัดส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อ (credit cost) จาก 120bps เป็น 140bps เพื่อสะท้อนการตั้งสำรองในระดับสูงอย่างต่อเนื่องของธนาคาร ด้านนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) คาดว่ากำไรสุทธิของ TMB ในปี 60 จะอยู่ที่ 1.04 หมื่นล้านบาท เติบโต 23.9% จากปีนี้ ส่วนหนึ่งจาก NPL ของกลุ่มแบงก์ที่น่าจะผ่านจุดสูงสุดในสิ้นปี 59 และมีทิศทางลดลงในปี 60 ขณะที่แนวโน้มกำไรในไตรมาส 4/59 จะปรับตัวขึ้นจากไตรมาสก่อน เนื่องจาก Credit Cost ลดลง และ NPL ใหม่แม้ยังเพิ่มขึ้นแต่มีทิศทางที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตามผลประกอบการในปีนี้แม้จะยังคงอ่อนแอ แต่ราคาหุ้นถือว่าถูกมาก และคาด ROE (Return on Equity) จะปรับตัวดีขึ้นเป็น 12.2% ในปีหน้า และมองว่าตลาดมีความกังวลมากเกินไปเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง NPL ขณะที่ผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/59 แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการ การเติบโตในระดับปานกลาง โดย TMB พยายามลดจำนวนเงินฝากอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากธนาคารไม่ประสบผลสำเร็จที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในไตรมาส 2/59 ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิยังคงขยายตัว 1.5% จากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่การเติบโตของสินเชื่อแม้จะเติบโตเพียง 0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยสุทธิ มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญกว่า 15% เป็นผลมาจากรายได้จากกองทุนรวมและธุรกิจ bancassurance ประกอบกับ TMB ยังคงสามารถลดต้นทุนในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 2% เท่านั้น ด้าน Gross NPL ดูจะปรับตัวดีขึ้น โดยลดลงถึง 12% จากไตรมาสก่อน เป็นผลมาจากการตัดจำหน่ายหนี้เป็นจำนวนมาก ถ้าไม่รวมการตัดจำหน่ายหนี้ NPL อาจจะปรับตัวขึ้นถึง 19% ดังนั้น การกันสำรองในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นถึง 27% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ทำให้กดดันกำไรหดตัวลงกว่า 14% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 1.85 พันล้านบาท ต่ำกว่าที่เมย์แบงก์ฯและตลาดคาดที่ 7% และ 9% ตามลำดับ บทวิเคราะห์บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ระบุว่า TMB จะมีกำไรเติบโตดีในปี 60 จากภาวะเศรษฐกิจจะขยายตัวดีขึ้น ตามการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐเป็นหลัก ซึ่งทำให้สินเชื่อขยายตัวได้ดีกว่าปีนี้ตามไปด้วย ขณะที่การบริหารส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่เป็นจุดเด่น ตามสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (Loan-to-Deposit ratio:LDR) สูงขึ้นและความยืดหยุ่นในการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากที่เป็นที่นิยมและต้นทุนต่ำ นอกจากนี้ รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยสุทธิ (Non-NII) เติบโตดีขึ้น ซึ่งมาพร้อมกับการขยายสินเชื่อ นอกเหนือจากด้านกองทุนรวมและ Bancassurance ขณะที่การควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงานให้เพิ่มน้อยกว่ารายได้ และค่าใช้จ่ายสำรองที่ลดลง จะช่วยผลักดันให้กำไรของ TMB เติบโตดีเหนือกลุ่ม 12% ในปีหน้า ด้านค่าใช้จ่ายสำรองน่าจะลดลงในปีหน้า หลังในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ TMB มี credit cost ที่ 146bps และมองว่าทั้งปีจะปิดที่ราว 150bps ซึ่งหมายถึงค่าใช้จ่ายสำรองยังกดดันต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้าย ทำให้คาดกำไรทั้งปีหดตัวแรง 17% จากปีก่อน อย่างไรก็ดีการที่คาดว่าเศรษฐกิจผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ซึ่งทำให้ปัญหา NPL จะพีคสุดอย่างช้ากลางปีหน้า ซึ่ง TMB ค่อนข้างมั่นใจว่าค่าใช้จ่ายสำรองจะผ่านจุดสูงสุดแล้วในครึ่งหลังปีนี้ และจะลดลงในปีหน้า แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เห็นว่า Valuation น่าสนใจ โดยราคาหุ้น TMB underperform SET และกลุ่มแบงก์ ซึ่งราคาหุ้นได้สะท้อนผลการดำเนินงานในปีนี้ไปแล้ว ขณะที่กำไรที่จะฟื้นตัวดีขึ้นตามการตั้งสำรองลดลง สินเชื่อขยายตัวดีขึ้น และ Non-NII เติบโต จะเป็นปัจจัยบวกหนุนราคาหุ้นตั้งแต่ปี 60 เป็นต้นไป บทวิเคราะห์บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า TMB ยังต้องรอการฟื้นตัวในปี 60 หลังผลการดำเนินในปีนี้ยังอ่อนแอ โดยในไตรมาส 4/59 คาดผลประกอบการยังไม่สดใสจากคาดการตั้งสำรองที่ยังอยู่ในระดับสูงเพื่อรองรับ NPL ที่เพิ่มขึ้น และแก้ปัญหา NPL ที่ค้างอยู่ในพอร์ตด้วยการ write-off หรือขาย NPL นอกจากนี้ยังคาดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานยังเพิ่มขึ้นตามปัจจัยฤดูกาล