หุ้น SQ ปิดเทรดช่วงเช้าที่ 4.14 บาท เพิ่มขึ้น 0.94 บาท (+29.38%) จากราคาขาย IPO ที่ 3.20 บาท/หุ้น มูลค่าซื้อขาย 2,377.37 ล้านบาท โดยเปิดตลาดที่ 4.22 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 4.42 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 4.10 บาท
บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯแนะ"ซื้อ"หุ้น บมจ.สหกลอิควิปเม้นท์ (SQ) กำหนดราคาพื้นฐานด้วย P/E ปี 60 ที่ 12.5 เท่า เป็น 4.25 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาจองถึง 33% และราคาพื้นฐานเทียบเท่ากับ P/BV และ PEG ปี 60 ที่ 1.9 และ 0.26 เท่า ตามลำดับ ด้านคาดการณ์อัตราผลตอบแทนปันผลอยู่ในเกณฑ์ดี ปี 60 และ 61 เป็น 4.3% และ 5.6% ตามลำดับ (ด้วยนโยบายจ่ายปันผลในอัตราไม่ต่ำกว่า 40% ซึ่งกำหนดให้เป็น 40%) อีกทั้งอัตราผลตอบแทนส่วนผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) อยู่ในเกณฑ์สูง คาดว่าสิ้นปี 60 เป็น 16.4%
ฐานะการเงินดีขึ้นหลัง IPO โดยอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน (Net Gearing Ratio) ณ สิ้น Q2/59 สูงเป็น 2.6 เท่า สูงกว่าที่ตกลงไว้กับสถาบันการเงิน (covenant ratio) ที่ 2.0 เท่า แต่หลังจากได้รับเงิน IPO ที่ 1.2 พันล้านบาท ก็คาดว่าอัตราส่วนนี้จะลดลงต่ำกว่า covenant ได้ นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุน เงินกู้จาก suppliers ด้วย ซึ่งเป็นเงินกู้ระยะยาว ขณะที่บริษัทจะต้องใช้เงินทุนอีกมาก สำหรับโครงการแม่เมาะ 8 และ หงสา ส่วนแผนการใช้เงิน IPO คือ ลงทุนซื้อเครื่องจักรสำหรับโครงการเหมืองแม่เมาะ 8 เป็นจำนวนเงินประมาณ 850 ล้านบาท และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนอีก 366 ล้านบาท
SQ เป็นผู้รับเหมางานเหมืองครบวงจรรายแรกของไทย เน้นการวางแผนงานในเหมือง การปฏิบัติงานเปิดหน้าเหมือง มีประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการเหมืองถ่านหินแม่เมาะให้กับ EGAT กว่า 30 ปี ข้อดีคือ มีคู่แข่งน้อยรายในตลาด เช่น ITD, NWR ซึ่งรับงานก่อสร้างที่หลากหลายกว่า แต่ไม่มีใครเน้นงานเหมืองแร่เท่า SQ อีกทั้งสามารถทำกำไรได้ดีกว่าคู่แข่ง จุดเด่นคือ งานในมือ (Backlog) ปัจจุบัน สิ้น Q2/59 สูงเป็น 36.4 พันล้านบาท ประกอบด้วยงานขุดขนหน้าดินและถ่านหินแม่เมาะ 7 และ 8 และหงสา เฟส D และก่อให้เกิดรายได้ที่มั่นคงไปจนถึงปี 2569 หรือมากกว่า 10 ปีนับจากปีนี้
อีกทั้งอัตราการเติบโตกำไรต่อหุ้นเทียบ y-o-y โดดเด่น ปี 58-60 มีอัตราการเติบโตแบบ CAGR เฉลี่ยสูงมากที่ 56% และมีอัตราการเติบโตกำไรต่อหุ้นรายปีเทียบ y-o-y สูงคือ ปี 59 +93% ปี 60 +49% และปี 61 +33% เนื่องจากรายได้ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามปริมาณการขุดขนที่มากขึ้น และลักษณะการทำงาน คือช่วงแรกใช้เครื่องจักรขนาดเล็ก และเป็นขนาดใหญ่ตามมา รวมทั้งอัตรากำไรที่ดีขึ้นจากการประหยัดต่อขนาด