(เพิ่มเติม) SCC เชื่อปีนี้กำไรโตยังโตแม้รับยอดขายรวมอาจลด 3-5% คาดใช้งบลงทุนพลาดเป้า,ยังเดินหน้าขยายอาเซียน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 26, 2016 17:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) มั่นใจว่าในปีนี้กำไรสุทธิจะดีกว่าปีก่อน แม้ยอมรับยอดขายรวมปีนี้อาจจะหดตัวราว 3-5% ตามคาดการณ์ความต้องการใช้ปูนในประเทศที่หดตัวลง และการหยุดเดินเครื่องโรงงานโอเลฟินส์ของ ROC เพื่อซ่อมบำรุงในช่วงปลายเดือน พ.ย.59 เป็นเวลา 40 วัน ซึ่งคงจะกระทบกำลังผลิตโอเลฟินส์รวมประมาณ 3-5% แต่ธุรกิจปิโตรเคมียัมีผลการดำเนินงานที่ดี

“กำไรปีนี้น่าจะดี 9 เดือนที่ผ่านมา เราทำได้ค่อนข้างดี ทั้งปีไม่น่าจะมีอะไรผิดพลาด แต่ภาพรวมปีหน้าเราขอดูภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ ขอดูตัวเลข 1-2 เดือนนี้ก่อน ขณะที่ในต่างประเทศเราเห็นภาพหลายสินค้ามีแนวโน้มดีขึ้น"นายรุ่งโรจน์ กล่าว

วันนี้ SCC รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/59 มีกำไรสุทธิ 1.41 หมื่นล้านบาท สูงขึ้นจากไตรมาส 3/58 ที่มีกำไร 9 พันล้านบาท หือเติบโตถึง 28% และงวด 9 เดือนแรกของปี 59 มีกำไร 4.36 หมื่นล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 3.39 หมื่นล้านบาท

นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า ยอดขายรวมในปีนี้น่าจะหดตัวลงราว 3-5% จากระดับ 4.39 แสนล้านบาทในปีที่แล้ว จากเดิมที่คาดการณ์ล่าสุดว่ายอดขายปีนี้จะใกล้เคียงกับปีที่แล้ว แต่ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ปรากฎว่ายอดขายหดตัวลง 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการปูนซีเมนต์ของตลาดภายในประเทศชะลอตัว และจากราคาขายสินค้าเคมีภัณฑ์ลดลงตามราคาน้ำมันที่ลดลง

ขณะที่ในไตรมาส 4/59 ผลดำเนินงานจะได้รับผลกระทบจากการหยุดซ่อมบำรุงโรงโอเลฟินส์ของ ROC ในช่วงปลายเดือน พ.ย. เป็นเวลา 40 วัน ซึ่งจะทำให้กำลังผลิตโอเลฟินส์ลดลงไป 3-5%

ส่วนธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่ค่อนข้างชะลอตัว ทำให้ตลาดยังซบเซา โดยคาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศจะหดตัว 2-3% จากเดิมคาดไว้ว่าเติบโตราว 1% จากระดับ 40 ล้านตันในปีที่แล้ว เนื่องจากช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ความต้องการใช้ปูนหดตัว 1% และคาดว่าในไตรมาส 4/59 จะยังหดตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ตลาดในอาเซียนยังเติบโตได้ดีทั้งเมียนมา ,ลาว ,กัมพูชา ,ฟิลิปปินส์ ,อินโดนีเซีย เป็นต้น

สำหรับธุรกิจบรรจุภัณฑ์ในช่วงไตรมาส 4/59 การขยายกำลังการผลิตโรงงานกระดาษบรรจุภัณฑ์ ในเวียดนามอีกว่า 2 แสนตัน/ปีจะแล้วเสร็จและเดินเครื่องผลิต ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ในเวียดนามเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า

ขณะที่การร่วมลงทุนกับ Yamato Asia หรือแมวดำ ในธุรกิจขนส่งพัสดุย่อยในไทยนั้น จะเริ่มดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพฯ ก่อนจะขยับไปยังหัวเมืองใหญ่ และในระยะยาวก็จะขยายการขนส่งจากผู้ผลิตในต่างจังหวัด หรือผู้ผลิตสินค้าเกษตรไปยังผู้บริโภคโดยตรงก็นับว่ามีศักยภาพค่อนข้างสูง

นายรุ่งโรจน์ กล่าวอีกว่า ในด้านการลงทุนของบริษัทในปีนี้คงไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ระดับ 4-5 หมื่นล้านบาท หลังจากช่วง 9 เดือนแรกใช้เงินลงทุนไปเพียง 2.6 หมื่นล้านบาทเท่านั้น เนื่องจากมีบางโครงการมีความล่าช้ากว่าแผนเล็กน้อย ทำให้ต้องขยับการลงทุนไปเป็นไตรมาส 1/60 เช่น โครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในเวียดนาม เลื่อนสรุปแผนลงทุนและพันธมิตรไปเป็นปลายปีนี้จากเดิมคาดไว้กลางปี และเบื้องต้นคาดว่ามูลค่าเงินลงทุนอาจจะเพิ่มขึ้นจากที่เคยประกาศไว้ที่ 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หลังโครงการมีความล่าช้าออกไป

ขณะที่ในปี 60 คาดว่าเงินลงทุนเบื้องต้นจะอยู่ที่ราว 6 หมื่นล้านบาท และมีส่วนเพิ่มเงินลงทุนที่เหลือจากปีนี้เข้ามาด้วย ทำให้เชื่อว่าแผนการลงทุนในช่วง 2 ปี (ปี 59-60) จะยังคงเป็นไปตามเดิมที่ระดับ 8 หมื่นล้านบาท ถึง 1 แสนล้านบาท เพื่อรองรับการขยายงานที่ยังเน้นการลงทุนในอาเซียนเป็นหลัก และยังเน้นในกลุ่มธุรกิจหลักปิโตรเคมี,บรรจุภัณฑ์ และซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง

นายเชาวลิต เอกบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุน SCC กล่าวว่า การลงทุนของกลุ่มบริษัทจะให้ความสำคัญกับการซื้อกิจการหรือร่วมลงทุน (M&A) เป็นหลัก เพราะการลงทุนในรูปแบบ Greenfield นั้นปัจจุบันกลุ่มก็มีฐานการผลิตอยู่ในแต่ละประเทศมากแล้วและเริ่มมีประสบการณ์ในประเทศเหล่านั้นเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งหากเป็นการลงทุนในลักษณะ M&A จะทำได้รวดเร็วกว่า ซึ่งรวมถึงการทำ M&A ในโครงการโรงปูนซีเมนต์ในเวียดนาม ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาด้วย

ปัจจุบันกลุ่ม SCC มีฐานการผลิตปูนซีเมนต์แล้วในกัมพูชา, ลาว, เมียนมา, อินโดนีเซีย โดยโรงงานปูนซีเมนต์ในลาว ซึ่งเป็นแห่งสุดท้ายจะเปิดดำเนินการในไตรมาส 1/60 ขณะที่ตลาดปูนซีเมนต์ในอาเซียน ส่วนใหญ่เติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก ยกเว้นในเมียนมา ที่อาจจะโตชะลอตัวลงเล็กน้อยในช่วงนี้ แต่คาดว่าระยะยาวยังมีความต้องการอีกมาก

นายเชาวลิต ยังกล่าววถึงภาวะตลาดปูนซีเมนต์ในประเทศที่หดตัวลงว่า ทำให้มีการแข่งขันด้านราคาของผู้ประกอบการบ้างตามปกติ ส่งผลให้ราคาปูนซีเมนต์ลดลงราว 20-30 บาท/ตันในแต่ละไตรมาส หากเฉลี่ยทั้งปีคาดว่าราคาปูนซีเมนต์จะลดลงราว 120 บาท/ตัน แต่ยังนับว่าอยู่ในสภาพการแข่งขันตามปกติ ไม่ได้มีการตัดราคามากนัก ขณะที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะใช้กำลังการผลิตปูนซีเมนต์ไม่เต็มกำลัง โดยเฉลี่ยอยู่ที่ราว 80-85% เท่านั้น

ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมี ยังมีทิศทางที่ดีต่อเนื่องตามภาวะตลาดโลก โดยคาดว่าส่วนต่าง (สเปรด) ราคาผลิตภัณฑ์ HPDE กับวัตถุดิบแนฟทา ในปีนี้จะอยู่ที่ราว 720 เหรียญสหรัฐ/ตัน สูงกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย โดยคาดว่าสถานการณ์ธุรกิจปิโตรเคมีจะยังค่อนข้างตึงตัวในช่วง 2-3 ปีซี่งจะทำให้ราคาผลิตภัณฑ์และสเปรดยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่อาจจะมีการลดลงไปบ้างในบางช่วงเท่านั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ