นายอนุสรณ์ มุทราอิศ กรรมการ บมจ.เดลต้า อิเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่ากำไรสุทธิในปีนี้มีโอกาสจะทำได้สูงกว่าปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 6.71 พันล้านบาท หากได้รับคำสั่งซื้อชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าจากผู้ประกอบการในยุโรปและสหรัฐฯ เข้ามาในช่วงก่อนเดือน ธ.ค.59 ซึ่งผู้ประกอบการรถยนต์ในยุโรปและสหรัฐฯจะเริ่มทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจังในปี 60 และคำสั่งซื้อดังกล่าวจะช่วยหนุนผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/59 สูงขึ้นจากไตรมาส 3/59 ด้วย
ขณะที่ด้านรายได้ในปีนี้บริษัทยังคงเป้าเติบโต 10% จากปีก่อน 4.79 หมื่นล้านบาท แม้ว่ารายได้จากธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มโทรคมนาคมซึ่งถือเป็นรายได้หลักจพปรับตัวลงมาราว 20% แต่บริษัทคาดว่าธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามาช่วยผลักดันรายได้ในช่วงไตรมาส 4/59 ให้มีโอกาสเติบโตได้ตามเป้าหมายว้
"ตอนนี้เราก็ลุ้น ๆ ว่าออเดอร์ของชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามาในไตรมาส 4 นี้หรือไม่ เพราะเท่าที่เราได้ทำการ R&D และก็มีลุกค้ารองรับไว้แล้ว มีโอกาสสูงที่ผู้ประกอบการรถยนต์ในยุโรปและสหรัฐฯจะเริ่มสั่งซื้อชิ้นส่วนฯไปผลิตรถ เพราะเขาจะต้องมีการขายรถยนต์ไฟฟ้าและส่งมอบให้กับลูกค้าในปีหน้า ซึ่งถ้าออเดอร์นี้เข้ามาก็จะช่วยทำให้กำไรปีนี้ของบริษัทสูงกว่าปีก่อน แต่ในกรณีที่ออเดอร์ไม่เข้าในปลายปีนี้รายได้ก็อาจจะต่ำกว่าเป้า และกำไรก็อาจจะต่ำกว่าปีก่อนเล็กน้อย"นายอนุสรณ์ กล่าว
สำหรับธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้านั้น บริษัทได้มีการทำการวิจัยและพัฒนา (R&D) ในช่วงที่ผ่านมาใช้งบลงทุนไปแล้วกว่า 300-400 ล้านบาท และคาดว่าจะใช้ครบตามแผนงาน 1 พันล้านบาท โดยบริษัทได้มองเห็นโอกาสของการเติบโตในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศในยุโรปและสหรัฐฯที่มีการส่งเสริมอย่างจริงจัง ซึ่งเริ่มมีการทยอยใช้งานรถไฟฟ้ากันแล้ว แต่ปัจจุบันยังติดปัญหาในเรื่องจำนวนตู้ชาร์จไฟและประเภทของหัวจ่ายไฟที่ยังไม่มีมาตราฐานเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ในปี 60 บริษัทคาดว่าค่ายรถยนต์ในยุโรปและสหรัฐฯจะเริ่มทำการตลาดและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์อย่างจริงจัง ซึ่งจะต้องมีการสั่งซื้อชิ้นส่วนรถไฟฟ้าเข้ามาตั่งแต่ช่วงที่เหลือของปีนี้มากขึ้น เพื่อจะใช้สำหรับผลิตในช่วงปลายปีถึงต้นปีหน้าก่อนการส่งมอบให้ลูกค้า ขณะเดียวกันในเรื่องของตู้ชาร์จไฟบริษัทก็ได้มีการแจกจ่ายออกไปเพื่อติดตั้งในประเทศกลุ่มยุโรป และมองโอกาสที่จะลงทุนติดตั้งในประเทศไทย
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอความชัดเจนจากภาครัฐ หลังจากเริ่มมีแนวคิดที่จะส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น และในช่วงแรกภาครัฐได้เสนอที่จะลงทุนติดตั้งตู้ชาร์จไฟเอง ซึ่งทางบริษัทก็เห็นโอกาสที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการติดตั้งตู้ชาร์จไฟซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายตู้ชาร์จไฟรวมไปถึงรายได้ค่าบริการด้วย
ทั้งนี้ โครงการติดตั้งตู้ชาร์จไฟรถยนต์ไฟฟ้าจะนำร่องการให้บริการหน่วยงานภาครัฐที่ปัจจุบันมีหน่วยงานที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และในอนาคตรัฐบาลน่าจะเพิ่มรถไฟฟ้าให้เป็นรถที่ใช้ในหน่วยงานราชการ
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนเข้าซื้อกิจการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกันในต่างประเทศ โดยจะเป็นธุรกิจที่เข้ามาเสริมศักยภาพอย่างเช่น การเสริมศักยภาพและสร้างนวัตกรรมด้านการผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบระบายความร้อนในผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท รวมไปถึงการระบายความร้อนในรถยนต์ ซึ่งกำลังเป็นกระแสในอนาคต เพราะเป็นส่วนหนึ่งในการลดต้นทุนและประหยัดพลังงาน
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้บริษัทจะเดินทางไปยังไต่หวันไปเจรจาเบื้องต้นในการซื้อกิจการดังกล่าว แต่บริษัทก็ไม่ได้เร่งรีบที่จะสรุป ขณะที่กระแสเงินสดของบริษัทเพียงพอที่จะเข้าซื้อกิจการได้ทันที โดยปัจจุบันมีกระแสเงินสดในมือกว่า 2 พันล้านบาท และมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ในระดับต่ำเพียง 0.4 เท่า
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 60 คาดว่ารายได้จะสูงกว่าปีนี้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการฟื้นตัวของการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มโทรคมนาคมที่จะมีการฟื้นตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากในปีหน้าเป็นช่วงการเปลี่ยนเทคโนโลยีทำให้ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะต้องมีการสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มขึ้น หลังจากปีนี้ที่ธุรกิจโทรคมนาคมถึงจุดอิ่มตัวเนื่องจากไม่มีเทคโนโลยีใหม่
อีกทั้งการสั่งซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐฯและยุโรปมีแนวโน้มสูงขึ้นจากกระกระตุ้นการใช้ ซึ่งจะเสริมให้สัดส่วนรายได้จากยุโรปจะเพิ่มขึ้นเป็น 70% จากปีนี้ 60% ด้านรายได้จากอินเดียปีหน้าคาดว่าจะทำได้ 250 ล้านเหรียญฯ จากปีนี้ 200 ล้านเหรียญฯ เพราะในประเทศอินเดียมีการเติบโตของการจำหน่ายรถยนต์ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์มีการเติบโตขึ้นตาม