ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJNA) ที่ระดับ “BBB+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงประสบการณ์ที่ยาวนานของผู้บริหารของบริษัทในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในประเทศ ตลอดจนรายได้ที่สม่ำเสมอจากการขายไฟฟ้า และการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่และผู้ร่วมทุนสัญชาติญี่ปุ่น การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงการกระจายที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการเพิ่มรายได้ประจำจากการเพิ่มการลงทุนในธุรกิจโรงงานและคลังสินค้าให้เช่าด้วย อย่างไรก็ตามอันดับเครดิตมีข้อจำกัดบางส่วนจากความผันผวนของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูง
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนความคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานภาพในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเอาไว้ได้ นอกจากนี้ สัดส่วนกระแสเงินสดจากธุรกิจไฟฟ้าคาดว่าจะสามารถช่วยบรรเทาความผันผวนของธุรกิจขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมได้ อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นหากกระแสเงินสดและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอย่างต่อเนื่อง ในทางตรงข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากบริษัทมีการลงทุนที่ใช้เงินกู้เป็นจำนวนมากจนทำให้สถานะการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทอ่อนแอลง
ROJNA เป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2531 โดยตระกูลวินิชบุตรและกลุ่มซูมิโตโม (Sumitomo Group) นอกเหนือจากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภคแล้ว บริษัทยังเป็นเจ้าของและผู้ดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซขนาด 415 เมกะวัตต์และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 24 เมกะวัตต์ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยาด้วย
ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา บริษัทได้ขยายกิจการนิคมอุตสาหกรรมไปยังภาคตะวันออกของประเทศ ปัจจุบันบริษัทเป็นเจ้าของและเป็นผู้พัฒนาสวนอุตสาหกรรมรวม 4 แห่งในจังหวัดอยุธยา ระยอง และปราจีนบุรี และกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาสวนอุตสาหกรรมอีก 2 แห่งในจังหวัดชลบุรี บริษัทมีความพยายามที่จะเพิ่มรายได้ประจำ โดยเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน บมจ. ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น (TICON) ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจโรงงานและคลังสินค้าให้เช่า จาก 20.6% เป็น 43.6% ในช่วงปลายปี 2557 โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 5,300 ล้านบาท
บริษัทได้รวมงบการเงินกับ TICON ตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 เป็นต้นมา ภายหลังจากการรวมงบการเงินกับ TICON ในปี 2558 แล้ว เงินทุนจากการดำเนินงาน (Funds from operations) ที่บริษัทได้รับจากธุรกิจพลังงานคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของเงินทุนจากการดำเนินงานรวมของบริษัท จาก TICON คิดเป็น 40% และส่วนที่เหลือมาจากการขายที่ดินซึ่งคิดเป็น 20% เทียบกับในปี 2551-2553 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ บริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงานจากการขายที่ดินในสัดส่วน 37%-63%
เศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้ความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมลดลงทั้งประเทศในช่วงปี 2557-2558 บริษัทจึงมียอดขายที่ดินเพียง 94 ไร่ในปี 2558 เทียบกับ 300-700 ไร่ในช่วงปี 2556-2557 อย่างไรก็ตาม บริษัทขายที่ดินได้เพิ่มขึ้นในปี 2559 โดยขายที่ดินได้ 364 ไร่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 ซึ่งยอดขายที่เพิ่มขึ้นมาจากความต้องการที่ดินของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงานรายหนึ่ง ยอดขายที่ดินในสวนอุตสาหกรรมของบริษัทกว่า 70% มาจากพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ในเขตภาคตะวันออกของประเทศ ยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ของบริษัทช่วยลดผลกระทบจากยอดขายที่ดินในสวนอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยาซึ่งเป็นพื้นที่เดิมของบริษัทที่ยังไม่ฟื้นตัวนัก ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 บริษัทมีที่ดินคงเหลือสำหรับขายรวม 7,334 ไร่ โดยประมาณ 41% อยู่ในจังหวัดอยุธยา อีก 27% อยู่ในจังหวัดชลบุรี 16% อยู่ในจังหวัดปราจีนบุรี และที่เหลืออยู่ในจังหวัดระยอง
บริษัทถือหุ้น 41% ใน บริษัท โรจนะ พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยา จากกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้น 415 เมกะวัตต์ บริษัทขายไฟฟ้าจำนวน 180 เมกะวัตต์ภายใต้สัญญาขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement -- PPA) ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งอยู่ในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) สำหรับกำลังการผลิตที่เหลือนั้น บริษัทจะผลิตและขายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมในพื้นที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยา
หลังจากการซ่อมแซมและเปลี่ยนอุปกรณ์เสร็จสิ้นในปี 2556 รายได้จากการขายไฟฟ้าของบริษัทก็เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 ปริมาณขายไฟฟ้าของบริษัทเท่ากับ 2,530 ล้านหน่วย (Gigawatt Hour -- GWh) เพิ่มขึ้น 13.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากปริมาณการขายไฟที่เพิ่มขึ้นทั้งที่ขายให้แก่การไฟฟ้าฯและกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม ในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 ปริมาณขายไฟฟ้าของบริษัทเท่ากับ 1,202 ล้านหน่วย ลดลง 2.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าโดยมีสาเหตุมาจากกำลังการผลิตที่ลดลงเนื่องจากการย้ายเครื่องจักรไปติดตั้งที่โรงไฟฟ้าแห่งใหม่และโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซบางหน่วยหยุดซ่อมนอกแผนในช่วงต้นปี 2559 ปริมาณการขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฯบางส่วนในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 จึงลดลง 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 703 ล้านหน่วย
อย่างไรก็ตาม ปริมาณการขายไฟฟ้าให้แก่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น 24% เป็น 499 ล้านหน่วย ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับปริมาณขายในช่วงก่อนเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ในปลายปี 2554 เมื่อรวมผลประกอบการของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยแล้ว บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจากธุรกิจพลังงานอยู่ที่ 1,028 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 เพิ่มขึ้นจาก 995 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนตัวลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 รายได้ของบริษัทเท่ากับ 5,392 ล้านบาท ลดลงจากระดับ 7,479 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ เนื่องจากการลดลงของยอดขายที่ดินในสวนอุตสาหกรรม บริษัทโอนขายที่ดินในสวนอุตสาหกรรมได้เพียง 177 ไร่ เมื่อเทียบกับ 714 ไร่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 การลดลงของสัดส่วนรายได้จากการขายที่ดินที่มีกำไรสูงส่งผลทำให้อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อยอดขายของบริษัทเท่ากับ 29.2% ลดลงจาก 30.71% ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายก็ลดลงเป็น 1,869 ล้านบาท จาก 2,573 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 หากไม่รวมกับกำไรของ TICON กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะเท่ากับ 1,217 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 เทียบกับ 2,040 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 ประมาณ 85% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 มาจากธุรกิจพลังงาน
ภาระหนี้ของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่สูง โดยภาระหนี้เงินกู้รวมเพิ่มขึ้นจาก 40,555 ล้านบาทในปี 2557 เป็น 46,040 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 64.9% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 จาก 62.8% ในปี 2557 หนี้เงินกู้รวมที่เพิ่มขึ้นนั้นเกิดจากการรวมงบการเงินกับ TICON ทั้งนี้ หากไม่รวมภาระหนี้เงินกู้ของ TICON แล้ว เงินกู้รวมของบริษัท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 เท่ากับ 23,883 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเงินกู้รวมของบริษัทในปี 2557 แม้ว่าบริษัทจะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อกระจายความเสี่ยงทางด้านทำเลที่ตั้งและเพิ่มรายได้ประจำในช่วงปี 2557-2558 แต่บริษัทก็ประสบความสำเร็จในการเพิ่มทุนประมาณ 3,000 ล้านบาทในปี 2557-2558
คาดว่าในอนาคตอัตราการก่อหนี้ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงเนื่องจากบริษัทและ TICON ยังมีแผนพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง บริษัทมีแผนจะลงทุนราว 8,000 ล้านบาทในระหว่างปี 2559-2561 เพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซขนาด 110 เมกะวัตต์ภายใต้โครงการ SPP รวมทั้งพัฒนาสวนอุตสาหกรรมแห่งใหม่และขยายกำลังการผลิตโรงผลิตน้ำประปา ในขณะที่ธุรกิจโรงงานและคลังสินค้าให้เช่าภายใต้การดำเนินงานของ TICON นั้นก็มีแผนลงทุนปีละประมาณ 2,600 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2559 ที่ประชุมคณะกรรมการของ TICON มีมติอนุมัติการเพิ่มทุนจำนวน 13,230 ล้านบาทโดยการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 735 ล้านหุ้นในวงจำกัดให้แก่ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด (FPHT) ในราคาหุ้นละ 18 บาท โดยเงื่อนไขการขายหุ้นเพิ่มทุนจะขึ้นอยู่กับมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทที่จะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 19 ธันวาคม 2559 ที่จะถึงนี้
หากการเพิ่มทุนในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ บริษัทจะมีสัดส่วนการถือหุ้นใน TICON ลดลงเหลือ 26.1% จาก 43.6% และคาดว่าบริษัทจะยุติการรวมงบการเงินของ TICON เข้ากับงบการเงินของบริษัท แม้ว่าบริษัทไม่ได้รวมงบการเงินกับ TICON คาดว่าสถานะทางการเงินของบริษัทจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากระดับปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ โดยคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 60% อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายจะอยู่ที่ระดับ 2-3 เท่า และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมคาดว่าจะอยู่ในช่วง 8%-10%