โบรกเกอร์ เชียร์"ซื้อ"หุ้นบมจ.อาซีฟา (ASEFA) มองผลการดำเนิงานในไตรมาส 3/59 เป็นไตรมาสที่ดีที่สุดของปีนี้ รับผลประโยชน์การลงทุนภาครัฐ-ภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งเป็นช่วงไฮซีซั่น ขณะที่แนวโน้มมาร์จิ้นดีขึ้นจากธุรกิจบริการ รวมถึงยังไร้การปรับลดมูลค่าสินค้ากลุ่มรื้อถอนจากราคาเหล็กที่ลดลงเหมือนงวดปีก่อน
นอกจากนี้ การขยายฐานลูกค้าเพิ่มในกลุ่มอื่น และนำผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานอยู่เข้ามาจำหน่าย เช่น ผลิตภัณฑ์ Mineral Insulated Cable (MICC) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทนความร้อนสูงและจะติดตั้งในโรงงานอุตสาหกรรมและปั๊มน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้งานติดตั้งสินค้าดังกล่าวให้กับปั๊มน้ำมันของปตท.และเอสโซ่แล้ว คาดเป็นปัจจัยหนุนต่อการเติบโตในอนาคต
ราคาหุ้น ASEFA พักเที่ยงอยู่ที่ 7.55 บาท เพิ่มขึ้น 0.10 บาท (+1.34%) ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยลดลง 0.04%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) กรุงศรี ซื้อ 9.30 ฟินันเซีย ไซรีส ซื้อ 8.50 เคทีบี (ประเทศไทย) ซื้อ 8.60 ฟิลลิป (ประเทศไทย) ซื้อ 8.20
นางสาวพรสุข อมรวดีกุล ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส คาดว่ากำไรสุทธิในช่วงไตรมาส 3/59 จะอยู่ที่ 68 ล้านบาทและนับเป็นระดับสูงสุดของปี โดยกำไรในไตรมาส 3/59 น่าจะเติบโต 11.2% จากไตรมาสก่อน ตามรายได้ที่เติบโต 7% มาที่ราว 740 ล้านบาท เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซั่น
ขณะที่แนวโน้มกำไรสุทธิในช่วงไตรมาส 4/59 ชะลอลงจากค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (SG&A) ที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี
แต่ทั้งปี 59 คาดว่ากำไรสุทธิจะเติบโต 23% เป็น 255 ล้านบาท ปรับขึ้นจากประมาณการการเดิมเล็กน้อย 5% และโตต่อเนื่องอีก 15% ในปี 60 ทั้งนี้ ปัจจุบันมูลค่างานในมือ (Backlog) ที่ระดับ 1.8 พันล้านบาท คาดว่า 60-65% จะรับรู้เป็นรายได้ใน 2 ไตรมาสข้างหน้า โดยมูลค่างานในมือเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากสิ้นไตรมาส 3/58 ที่ระดับ 1.4 พันล้านบาท แสดงถึงความสามารถในการได้งานใหม่ ๆ ซึ่งสินค้าของบริษัทถูกนำไปใช้ในหลากหลายธุรกิจ ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม, อาคารพาณิชย์, สถานพยาบาล, โทรคมนาคม, ที่พักอาศัย, โรงไฟฟ้า, และโครงการสาธารณูปโภคต่าง ๆ
ขณะที่การฟื้นตัวช้าๆ ของการลงทุนโดยรวมและการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้า สนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 โครงการนำสายไฟฟ้าลงดิน โรงไฟฟ้าใหม่ และ Data Center ก็ยังเป็นปัจจัยหนุน รวมทั้งแผนขยายสาขาของบริษัทไปยังเมืองหลัก ๆ ในต่างจังหวัดที่จะทยอยเปิดดำเนินการตั้งแต่ปลายปีนี้ ช่วยหนุนการขยายตัวของรายได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามคือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจ, การพึ่งพิงผู้จำหน่ายสินค้ารายใหญ่, ความผันผวนของวัตถุดิบหลักทองแดง และ การพึ่งพาบุคลากร โดยเฉพาะ วิศวกร
"เรามองว่าผลประกอบการในช่วงไตรมาส 3/59 จะเป็นไตรมาสที่มีผลประกอบการสูงที่สุดของปีนี้ โดยให้ราคาเป้าหมายที่ 8.50 บาท ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับผลประโยชน์จากการลงทุนภาครัฐที่ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง และการลงทุนภาคเอกชนที่มีเพิ่มขึ้นด้วย เราจึงเชื่อว่าปี 60 จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปีนี้"นางสาวพรสุข กล่าว
บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ โดยคาดว่าแนวโน้มกำไรสุทธิไตรมาส 3/59 ของ ASEFA จะอยู่ที่ 77 ล้านบาท เติบโต 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโต 25% จากไตรมาสก่อน จากฤดูกาลส่งมอบงานโดยเฉพาะโครงการจากภาครัฐ ซึ่งจะมีการส่งมอบงานในครึ่งปีหลังเป็นส่วนใหญ่จากช่วงปิดปีงบประมาณ ขณะที่คาดยอดขายจะอยู่ที่ 705 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 17% จากไตรมาสก่อน จากการเพิ่มขึ้นของยอดขายทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์
ขณะที่แนวโน้มมาร์จิ้นคาดว่าจะดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะธุรกิจบริการมีมาร์จิ้นที่ดีขึ้น อีกทั้งงวดปีที่ผ่านมาได้รับผลจากการปรับลดมูลค่าสินค้าในกลุ่มกิจการรื้อถอนส่งผลให้มีขาดทุนจากส่วนดังกล่าว แต่คาดว่าค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารจะเพิ่มขึ้น 39% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากค่าใช้จ่ายพนักงานเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการเปิดสาขา
ทั้งนี้ ยังคงประมาณการผลการดำเนินงานปี 59 ของ ASEFA ที่ระดับ 281 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% จากงวดปีก่อน หลังคาดการณ์ผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนคิดเป็น 72% ของประมาณการที่ประเมินไว้ อีกทั้งงานในมือที่ 1.8 พันล้านบาทจะส่งมอบปีนี้อย่างน้อย 50% ทำให้ประมาณการที่ประเมินไว้ยังมีความเป็นไปได้ โดยยังคงยอดขายปีนี้ที่ 2.97 พันล้านบาทเพิ่มขึ้น 17% จากปีก่อน และแนวโน้มมาร์จิ้นดีขึ้นจากงวดปีก่อน จากผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในปีนี้มีมาร์จิ้นที่ดี อีกทั้งไม่มีการปรับลดมูลค่าสินค้ากลุ่มรื้อถอนจากราคาเหล็กที่ลดลงอย่างเช่นปีที่ผ่านมา แต่ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารจะเพิ่มขึ้น 31% จากงวดปีก่อน จากจำนวนพนักงานที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการเปิดสาขา
นอกจากนี้แม้ว่าการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐอาจล่าช้า ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินงาน แต่ ASEFA ได้ขยายฐานลูกค้าเพิ่มในกลุ่มอื่น ๆ เพื่อชดเชยกับการชะลอตัวของงานภาครัฐ โดยสัดส่วนรายได้ในช่วงครึ่งปีแรกผู้รับเหมาก่อสร้างทั่วไปมีสัดส่วนยอดขายเพิ่มเป็น 37% จาก 36% ในช่วงครึ่งปีแรกปี 58 รวมถึงรายได้ที่มาจากเจ้าของโครงการสัดส่วนยอดขายเพิ่มเป็น 16% จาก 14% ในช่วงครึ่งปีแรกปี 58 โดยกลุ่มลูกค้าจะมาจากกลุ่มโรงพยาบาล, ร้านค้าปลีก, โรงงานอุตสาหกรรม, โทรคมนาคม, กลุ่มที่พักอาศัย และโครงการขนาดใหญ่ของเอกชนที่มีการขยายการลงทุนไปต่างจังหวัด
อีกทั้งการนำผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานอยู่เข้ามาจำหน่าย อย่างเช่น MICC เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทนความร้อนสูงและจะติดตั้งในโรงงานอุตสาหกรรมและสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้งานติดตั้งสินค้าดังกล่าวให้กับสถานีบริการน้ำมันของ ปตท.และเอสโซ่ แล้ว คาดว่าจะเป็นปัจจัยหนุนต่อการเติบโตในอนาคต และมีแผนประมูลงานเพิ่มเติมในครึ่งปีหลังด้วย
ด้าน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์โดยมีมุมมองในเชิงบวกต่อการดำเนินงานทั้งระยะสั้นและระยะยาวของ ASEFA ซึ่งทำธุรกิจหลักด้านการผลิตและจำหน่ายสวิตช์บอร์ดไฟฟ้า จากปริมาณงานในมือที่แข็งแกร่งช่วยหนุนกำไรสุทธิในไตรมาส 3/59 และกำไรสุทธิของทั้งปีนี้ รวมถึงกำไรที่จะเติบโตต่อเนื่องในปีหน้าด้วย ส่วนการขยายหน้าร้านอีก 10 แห่งทั่วประเทศ และการลงทุนของภาครัฐผ่านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งคาดว่าจะหนุนมูลค่ารวมเฉพาะงานสวิตช์บอร์ดที่ 3,650 ล้านบาท จะเป็นปัจจัยบวกระยะยาวของบริษัท
อีกทั้งบริษัทมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งโดยปัจจุบันมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำที่ 0.2 เท่าส่งผลให้มีภาระการจ่ายดอกเบี้ยที่ต่ำลง
เรายังเชื่อว่าบริษัทจะสามารถคงการเติบโตที่ประมาณ 15% ต่อปีตามที่ผู้บริหารตั้งเป้าไว้ได้ เนื่องจากมีงานภาครัฐกำลังจะออกประมูลจำนวนมาก โดยคาดว่างานภาครัฐเฉพาะส่วนงานสวิตช์บอร์ดไฟฟ้ามีมูลค่าสูง 3,650 ล้านบาท บริษัทน่าจะรับรู้รายได้จากโครงการที่กล่าวมาเป็นจำนวนมากในช่วงประมาณปี 62-63 เนื่องจากงานติดตั้งสวิตช์บอร์ด
อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากการพึ่งพิงผู้จำหน่ายสินค้ารายใหญ่ ความผันผวนผันผวนของราคาเหล็กและทองแดง ความเสี่ยงจากการลงทุนรื้อถอนโรงไฟฟ้าบางปะกง ความเสี่ยงจากการแข่งขันของการเข้ามาของรายใหม่ ๆ