บมจ.โคแมนชี่ อินเตอร์เนชั่นแนล (COMAN) กำหนดราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 34,000,000 หุ้น ที่ราคาหุ้นละ 7.80 บาท จากมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท โดยเปิดให้จองซื้อในช่วงวันที่ 2-4 พ.ย.59 และจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 11 พ.ย.นี้ การเสนอขายหุ้น IPO ของ COMAN ครั้งนี้ มีบล.ทรีนิตี้ เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน และมีผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายอีก 3 แห่ง ประกอบด้วย บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ,บล.ฟินันเซีย ไซรัส และบล.เอเซีย พลัส
นายชาญชัย กงทองลักษณ์ กรรมการอำนวยการ บล.ทรีนีตี้ ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ของ COMAN คาดว่าหุ้น COMAN จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนเพราะราคาหุ้นที่เสนอขาย IPO อยู่ในระดับที่เหมาะสม สะท้อนพื้นฐานการเติบโตในระยะยาว ขณะที่ผลการดำเนินงานช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 56-58) เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายได้จากการขายและให้บริการจากงบการเงินรวม มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 38% ต่อปี ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นประมาณ 60-70% และอัตรากำไรสุทธิประมาณ 18-26%
"หุ้นโคแมนชี่ พร้อมแล้วที่จะเปิดให้นักลงทุนได้จองซื้อในระหว่างวันที่ 2-4 พฤศจิกายนนี้ ในราคาหุ้นละ 7.80 บาท และคาดว่าจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ ได้ในวันที่ 11 พ.ย.59 โดยใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ว่า COMAN ผมมั่นใจว่าหุ้น COMAN จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนอย่างคับคั่งในวันจองซื้ออย่างแน่นอน จากราคาหุ้นดังกล่าวอยู่ในระดับที่ไม่แพง และอยู่ในระดับที่เหมาะสม สะท้อนพื้นฐานการเติบโตในระยะยาว"นายชาญชัย กล่าว
ทั้งนี้ COMAN เป็นเป็นผู้พัฒนาเพื่อจำหน่าย ติดตั้ง และให้บริการโปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อใช้บริหารงานโรงแรม (Business Solutions Software for Hotel) และลงทุนในบริษัทอื่น
อนึ่ง COMAN กำหนดสัดส่วนการเสนอขายหุ้น IPO แบ่งเป็น เสนอขายต่อผู้มีอุปการคุณของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ จำนวน 24,300,000 หุ้น คิดเป็น 71.5% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่เสนอขาย, เสนอขายต่อนักลงทุนสถาบัน จำนวน 2,000,000 หุ้น คิดเป็น 5.9% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่เสนอขาย และเสนอขายต่อผู้มีอุปการคุณของบริษัท จำนวน 7,700,000 หุ้น คิดเป็น 22.6% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่เสนอขาย
บริษัทระบุในแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ว่า วัตถุประสงค์การใช้เงิน ได้แก่ ใช้พัฒนาโปรแกรมและโซลูชั่นที่เกี่ยวเนื่องกันของบริษัทฯ และบริษัทย่อย 30 ล้านบาทในช่วงปี 59-60, ใช้เป็นทุนหมุนเวียนของบริษัทและบริษัทย่อย 30.30 ล้านบาทในช่วงปี 59-61 และ งบประมาณเพื่อเข้าร่วมลงทุนในบริษัทอื่น 189 ล้านบาทในช่วงปี 60-61 รวม 249.30 ล้านบาท
นายชาญชีย กล่าวว่า สำหรับการนำเสนอข้อมูล (โรดโชว์) ให้แก่นักลงทุนทั่วทุกภูมิภาคในช่วงที่ผ่านมา พบว่านักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันให้ความสนใจหุ้น COMAN เป็นอย่างมาก สะท้อนให้เห็นถึงความน่าสนใจลงทุนในธุรกิจของกลุ่มบริษัท และมองเห็นถึงศักยภาพการเติบโตต่อยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ในอนาคต เห็นได้จากเมื่อปลายปีที่แล้ว COMAN ได้เข้าลงทุนใน บริษัท เอ็มเอสแอล ซอฟต์แวร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาโปรแกรมในรูปแบบดิจิทัลโซลูชั่นเพื่อการบริหารจัดการข้อมูลสำหรับองค์กร โดยมีทรัพย์สินทางปัญญาทางด้าน Big Data Platform ซึ่งจะเป็นการต่อยอดการพัฒนาธุรกิจในยุคดิจิทัล มั่นใจว่าความต้องการใช้ซอฟต์แวร์ของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวกำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน
ด้านนายสมบูรณ์ ศุขีวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ COMAN กล่าวว่า เงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ จะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ ราว 10% โดยจะเป็นการรุกตลาดในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันมีการดำเนินการผ่านตัวแทนจำหน่าย (Dealer) แล้วกว่า 17 ประเทศ เช่น เวียดนาม,อินโดนีเซีย,มาเลเซีย,ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ซึ่งจะมีการเจาะตลาดมากขึ้นในประเทศดังกล่าว ส่งผลดีต่อสัดส่วนรายได้ที่น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมอยู่ที่ 15%
นอกจากนี้อีกราว 10% จะนำไปพัฒนาโปรแกรมและโซลูชั่นที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งเน้นสร้างนวัตกรรมไอทีด้านการท่องเที่ยว หรือที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น อาหาร,สนามกอล์ฟ เป็นต้น ส่วนที่เหลือกว่า 70% จะใช้เป็นการลงทุนในบริษัทย่อย บริษัท เอ็มเอสแอล ซอฟต์แวร์ (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ MSL โดยในอีก 2-3 ปีข้างหน้า บริษัทจะขยายขอบเขตการทำธุรกิจให้กว้างมากขึ้น และมีเป้าหมายที่จะทำการศึกษาโอกาสที่จะเข้าร่วมลงทุนกับบริษัทอื่น และการเข้าซื้อกิจการ (M&A) หรือการเป็นเจ้าของทรัพยสินทางปัญญาซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจด้านการท่องเที่ยว
สำหรับผลการดำเนินงานนั้น บริษัทมีสัดส่วนรายได้มาจากการขายซอฟต์แวร์ราว 30% ,การบริการหลังการขาย 30% และที่เหลือมาจากบริษัทย่อย โดยผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 56-58) มีรายได้จากการขายและบริการ 53.06 ล้านบาท , 63.90 ล้านบาท และ 101.14 ล้านบาท ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิ 9.41 ล้านบาท , 13.29 ล้านบาท และ 27.08 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่งวด 6 เดือนแรกปี 59 มีรายได้จากการขายและบริการ 57.66 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 15.65 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิที่ 26.99%
"จุดเด่นของบริษัทคือ เป็นผู้ผลิตและพัฒนาซอฟต์แวร์โรงแรมสัญชาติไทย และโปรแกรมของโคแมนชี่ถูกใช้ในโรงแรม 650 แห่ง 42 กลุ่มในเครือโรงแรม รวมจำนวนห้องพักราว 1 แสนห้อง ทั้งในประเทศไทย และอีก 17 ประเทศ ทั่วทวีปเอเชีย เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย เมียนมา สปป.ลาว จีน และ ญี่ปุ่น โดยที่โปรแกรมของโคแมนชี่มีฟังก์ชั่นครอบคลุมทุกแผนกตั้งแต่ต้อนรับจนถึงงานสนับสนุนสามารถตอบโจทย์ให้กับผู้ใช้ได้ทุกด้าน โดยราคาหุ้นที่เสนอขายในครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นราคาที่เหมาะสมและเหมาะแก่การลงทุนอย่างยิ่ง เชื่อว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน"นายสมบูรณ์ กล่าว