นายรัมย์ เหราบัตย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) กล่าวว่า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในโครงการเมาท์ เอเมอรัลด์ ที่ประเทศออสเตรเลีย ขนาด 180 เมกะวัตต์ (MW) จะเริ่มเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2561 หลังจากล่าสุดบรรลุข้อตกลงทางการเงิน (Financial close) วงเงินกู้รวม 258.3 ล้านเหรียญออสเตรเลีย หรือประมาณ 7,120 ล้านบาท กับสถาบันการเงินต่างประเทศขนาดใหญ่ 4 แห่งแล้ว ซึ่งว่าจะสามารถผลักดันให้โครงการอื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างศึกษาและพัฒนาตามแผนธุรกิจของกลุ่มบริษัทในออสเตรเลียบรรลุผลสำเร็จได้เช่นกัน
สำหรับโครงการดังกล่าวดำเนินการโดยบริษัท ราช-ออสเตรเลีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (RAC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้น 80% โดนโครงการเมาท์ เอเมอรัลด์ นับเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาดใหญ่ที่สุดของรัฐควีนส์แลนด์มีมูลค่าโครงการประมาณ 400 ล้านเหรียญออสเตรเลีย โครงการนี้จะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี โดยจะติดตั้งกังหันลมจำนวน 53 เครื่อง และกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในเดือนกันยายน ปี 2561 โดยมี Ergon Energy Queensland รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าของรัฐควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะเวลา 13 ปี นับตั้งแต่กันยายน 2561 - 31 ธันวาคม 2573
"รัฐบาลออสเตรเลียมีเป้าหมายและทิศทางชัดเจนในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ RAC สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่กิจการในอนาคตได้ ความสำเร็จของโครงการนี้สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้มีส่วนได้เสียที่มีต่อ RAC และยังเป็นฐานให้ RATCH ขยายธุรกิจในออสเตรเลียอย่างจริงจังในระยะยาว บริษัทเชื่อมั่นว่าโครงการอื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนาตามแผนธุรกิจของ RAC จะสามารถผลักดันให้บรรลุผลสำเร็จเช่นเดียวกับโครงการเมาท์ เอเมอรัลด์ ต่อไป"นายรัมย์ กล่าว
นายรัมย์ กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (1 พ.ย.) RAC ได้บรรลุข้อตกลงทางการเงินดังกล่าวกับสถาบันการเงินขนาดใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ Australia and New Zealand Bank (ANZ), National Australia Bank (NAB), The Bank of Tokyo Mitsubishi (BTMU) และ Societie Generale (SG) นอกจากนี้ RAC ยังได้บรรลุข้อตกลงในสัญญารับเหมาวิศวกรรม จัดหาอุปกรณ์ และก่อสร้าง สัญญาเชื่อมต่อระบบไฟฟ้า สัญญาเดินเครื่องและบำรุงรักษาและสัญญาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้โครงการพลังงานลมเมาท์ เอเมอรัลด์ สามารถเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนพฤศจิกายน 2559
โครงการพลังงานลมเมาท์ เอเมอรัลด์ ดำเนินการตามแผนธุรกิจของ RAC ที่มุ่งเน้นการพัฒนาและลงทุนโครงการพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานลม เพื่อตอบสนองเป้าหมายของ RATCH ที่ต้องการขยายกำลังผลิตพลังงานทดแทนให้ได้ 20% ของกำลังผลิตรวม 10,000 เมกะวัตต์ ในปี 2566
RAC ลงทุนในหุ้นทั้งหมดของโครงการพลังงานลมเมาท์ เอเมอรัลด์ ซึ่งส่งผลให้กำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นของ RAC เพิ่มขึ้นอีก 144 เมกะวัตต์ รวมเป็น 654 เมกะวัตต์ โดยมีกำลังผลิตจากพลังงานลมรวม 198 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ RAC ยังถือหุ้นในโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติอีก 3 แห่ง กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนรวม 456 เมกะวัตต์ ความสำเร็จของโครงการเมาท์ เอเมอรัลด์ครั้งนี้ยังส่งผลให้กำลังผลิตรวมของ RATCH เติบโตเป็น 6,980 เมกะวัตต์ มาจากกำลังผลิตพลังงานทดแทนรวม 894 เมกะวัตต์ คิดเป็น 13% ของกำลังผลิตรวม