ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ และแนวโน้ม BCH ที่ “A-/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 3, 2016 13:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) ที่ระดับ “A-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของบริษัทในธุรกิจรักษาพยาบาลในกลุ่มคนไข้ที่มีรายได้ระดับปานกลางและกลุ่มลูกค้าในโครงการประกันสังคม รวมทั้งฐานรายได้ที่หลากหลายของบริษัท อย่างไรก็ตาม การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นของบริษัทจากการขยายธุรกิจ ตลอดจนผลการดำเนินงานที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดของโรงพยาบาล World Medical Center (WMC) และการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจรักษาพยาบาล นอกจากนี้ บริษัทยังมีความเสี่ยงด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านสุขภาพของภาครัฐและความเสี่ยงจากการขยายธุรกิจในอนาคตด้วย

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในกลุ่มลูกค้ารายได้ระดับปานกลางและกลุ่มลูกค้าประกันสังคมเอาไว้ได้ ในขณะที่โรงพยาบาล WMC จะมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในอนาคตด้วย ในขณะเดียวกัน ยังคาดหวังว่าบริษัทจะดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างระมัดระวังสำหรับการลงทุนในอนาคต และจะรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้ไม่เกิน 50% เพื่อที่จะคงคุณภาพเครดิตของบริษัทเอาไว้

อันดับเครดิตมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทสามารถเพิ่มอัตราการทำกำไรและรักษาระดับอัตราการก่อหนี้ที่เหมาะสมได้เป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่องยาวนาน ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ผลการดำเนินงานของบริษัทลดลงอย่างมากจากระดับปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานและสภาพคล่องของบริษัทลดลงเป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่องยาวนาน นอกจากนี้ การลงทุนที่ใช้เงินกู้จำนวนมากและกระแสเงินสดที่รองรับการชำระหนี้ที่อ่อนแอต่อเนื่องก็เป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน

BCH ก่อตั้งในปี 2536 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2547 โดยมีตระกูลหาญพาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้นหลัก ในสัดส่วน 50% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท ณ เดือนพฤษภาคม 2559 ปัจจุบันบริษัทเป็นเจ้าของและบริหารกิจการโรงพยาบาลจำนวน 11 แห่งและคลินิกชุมชน 2 แห่ง บริษัทมีโรงพยาบาลที่เปิดดำเนินการภายใต้ชื่อ “โรงพยาบาลเกษมราษฎร์" 6 แห่ง ภายใต้แบรนด์ WMC 1 แห่ง และภายใต้แบรนด์ใหม่คือ “การุญเวช" อีก 4 แห่ง

โรงพยาบาลแต่ละแห่งของบริษัทมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่แตกต่างกัน โดย WMC เน้นรองรับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูงและกลุ่มลูกค้าต่างประเทศ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์เน้นรองรับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ระดับปานกลางและกลุ่มลูกค้าประกันสังคม และโรงพยาบาลการุญเวชเน้นรองรับกลุ่มลูกค้าในโครงการประกันสังคม บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากกลุ่มคนไข้เงินสดอยู่ที่ 65% ของรายได้รวม และจากกลุ่มคนไข้โครงการประกันสังคมอยู่ที่ 35% ของรายได้รวม

บริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำในกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการประกันสังคมของภาครัฐ โดยในระยะกว่า 5 ปีที่ผ่านมาบริษัทมีสัดส่วนจำนวนผู้ประกันตนในโครงการประกันสังคมในเขตกรุงเทพฯ อยู่ที่ประมาณ 10%-11% ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 สัดส่วนจำนวนผู้ประกันตนในโครงการประกันสังคมในเขตกรุงเทพฯ ยังคงแข็งแกร่งที่ 11% การมีฐานจำนวนผู้ประกันตนจำนวนมากช่วยให้บริษัทมีความได้เปรียบจากการประหยัดจากขนาดและยังช่วยคงระดับการใช้งานเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีต้นทุนสูงให้เต็มประสิทธิภาพด้วย

ในปี 2558 รายได้ของบริษัทเติบโตขึ้น 9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าเป็นระดับ 5,766 ล้านบาท โดยสาเหตุหลักมาจากการมีจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นและการปรับเพิ่มราคาค่าบริการ อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทลดลงจากเดิมที่ระดับ 25.3% ในปี 2557 มาอยู่ที่ระดับ 24.0% ในปี 2558 โดยสาเหตุหลักมาจากค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในกลุ่มลูกหนี้จากกองทุนประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น และผลการดำเนินงานของ WMC ที่ยังไม่เป็นไปตามคาด โดย WMC นั้นได้เปิดดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2556 ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในช่วงระยะเริ่มต้นของการดำเนินธุรกิจและยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อให้ถึงจุดคุ้มทุน ทั้งนี้WMC มีผลขาดทุนสุทธิ 232 ล้านบาท ในปี 2558 ซึ่งส่งผลให้อัตราการทำกำไรสุทธิของบริษัทลดลงจาก 9.8% ในปี 2557 มาอยู่ที่ระดับ 9.1% ในปี 2558

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 3,072 ล้านบาท เติบโตขึ้น 14% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทั้งนี้ อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 25.5% ในปี 2558 จาก 22.1% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากสาเหตุหลักคือผลประกอบการของ WMC ที่ดีขึ้นและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในกลุ่มลูกหนี้จากกองทุนประกันสังคมที่ลดลง

ทั้งนี้ WMC มีผลขาดทุนสุทธิ 96 ล้านบาท ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 ที่มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 136 ล้านบาท ส่งผลให้อัตราการทำกำไรสุทธิของบริษัทดีขึ้นจาก 7.2% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 มาอยู่ที่ระดับ 10.1% ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2559 ผู้บริหารของบริษัทคาดว่า WMC จะบรรลุจุดคุ้มทุนในปี 2560 อย่างไรก็ตาม ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้ง คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 25% ต่อปีในระยะ 3 ปีข้างหน้า

บริษัทมีภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาจากการขยายธุรกิจ โดยหนี้สินรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 2,075 ล้านบาทในปี 2555 เป็น 4,488 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นจาก 33.93% ในปี 2555 เป็น 47.01% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 บริษัทมีแผนลงทุนเพิ่มเติมราว 500-900 ล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า ซึ่งน้อยกว่าแผนลงทุนในปี 2555-2558 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 600-2,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะทำให้ภาระหนี้ของบริษัทค่อยๆปรับตัวดีขึ้นและสภาพคล่องของบริษัทก็จะปรับตัวดีขึ้นด้วยเช่นกัน

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทอยู่ที่ระดับ 8.84 เท่า ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมเท่ากับ 30.07% (ปรับให้เป็นตัวเลขเต็มปีโดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง 12 เดือน) เงินสดในมือของบริษัท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 อยู่ที่ประมาณ 435 ล้านบาท ทั้งนี้ เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทคาดว่าอยู่ที่ประมาณ 1,300-1,600 ล้านบาท ต่อปีและภาระหนี้สินโดยรวมของบริษัทที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 1,662 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ