ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 23,000 ล้านบาทของ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ที่ระดับ “BBB+" พร้อมทั้งยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “BBB+" โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่" ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ไปชำระหนี้เงินกู้ยืมและใช้ในการลงทุนตามแผน รวมทั้งใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทด้วย
อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในลำดับที่ 3 ของประเทศด้วยสถานะทางธุรกิจที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการที่บริษัทเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจหลักภายใต้กลุ่ม บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) (ได้รับอันดับเครดิต “BBB+/Stable") โดยบริษัทได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านการดำเนินงานและความช่วยเหลือทางด้านการเงิน อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนลงจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และฐานะการเงินที่อ่อนตัวลงจากการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ในราคาสูงและการลงทุนจำนวนมากเพื่อขยายโครงข่าย 4G ทั่วประเทศ
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะการเป็นผู้นำในการให้บริการด้านข้อมูลเอาไว้ได้และมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง อีกทั้งจะยังคงสถานะการเป็นธุรกิจหลักของ TRUE ต่อไป การเปลี่ยนแปลงใดใดที่จะเกิดกับอันดับเครดิตของบริษัททรู คอร์ปอเรชั่นจะส่งผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทตามไปด้วย
ทั้งนี้ โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทจะเกิดขึ้นได้หากบริษัทสามารถเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดได้อย่างมีนัยสำคัญและมีความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้นโดยไม่ทำให้ฐานะการเงินของบริษัทแย่ลง ความเสี่ยงที่บริษัทจะถูกปรับลดอันดับเครดิตจะเกิดขึ้นได้หากบริษัทไม่สามารถสร้างรายได้จากการลงทุนซึ่งจะทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนตัวลงจากที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์เอาไว้อย่างมาก
ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับข้อพิพาทด้านกฎหมายต่าง ๆ ที่มีมาในอดีต เช่น ค่าธรรมเนียมเพื่อใช้โครงข่าย (Access Charge) หรือการประเมินภาษีสรรพสามิต และอื่น ๆ ยังคงดำรงอยู่และจะยังไม่มีผลสิ้นสุดในเร็ววันนี้ โอกาสที่จะเห็นผลสิ้นสุดทางกฎหมายของข้อพิพาทที่ออกมาในทางลบในระยะอันใกล้นี้ยังไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลดลงหากผลทางกฎหมายส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ
บริษัททรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น ก่อตั้งในปี 2553 โดยมี TRUE เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด TRUE ประกอบธุรกิจโทรคมนาคมแบบผสมผสานโดยให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband) โทรศัพท์เคลื่อนที่ และโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก อันดับเครดิตของบริษัทมีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตของ TRUE เป็นอย่างมากเมื่อพิจารณาถึงความสำคัญในเชิงกลยุทธ์และสัดส่วนผลการดำเนินงานของบริษัทที่มีต่อกลุ่ม TRUE กล่าวคือ บริษัทสร้างรายได้ในครึ่งแรกของปี 2559 คิดเป็นสัดส่วน 73% ของรายได้รวมของ TRUE และสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) คิดเป็นสัดส่วน 81% ของ EBITDA รวมของ TRUE
นอกจากนี้ TRUE ยังเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ในการดำเนินงานของบริษัททั้งในเรื่องการแต่งตั้งกรรมการและผู้บริหารระดับสูง ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินในรูปแบบการเพิ่มทุนมูลค่ารวมประมาณ 8.5 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 2554-2557 ในเดือนมิถุนายน 2559 TRUE ได้เพิ่มทุนจำนวน 6 หมื่นล้านบาทให้แก่บริษัทเพื่อสนับสนุนการประมูลคลื่นความถี่ 1800 และ 900 เมกะเฮิร์ทซ์ที่ผ่านมา ความช่วยเหลือจาก TRUE ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่บริษัทและเป็นปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัท
บริษัทให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิร์ทซ์ (Megahertz -- MHz) ภายใต้สัญญาขายส่งบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (กสท.) และให้บริการบนคลื่นความถี่ภายใต้ใบอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งรวมถึงคลื่น 2.1 กิกกะเฮิร์ทซ์ เพื่อรองรับความต้องการบริการด้านข้อมูลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว บริษัทได้ประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ทซ์ภายใต้ใบอนุญาต 18 ปีและคลื่น 900 เมกะเฮิร์ทซ์ภายใต้ใบอนุญาต 15 ปี เนื่องจากบริษัทมีจำนวนคลื่นความถี่สำหรับให้บริการมากที่สุด ทำให้บริษัทมีความได้เปรียบในการบริหารจัดการคลื่นความถี่ทั้งหมดเพื่อตอบสนองความต้องการบริการด้านข้อมูลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว
สถานะในการแข่งขันของบริษัทดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากกลยุทธ์การเป็นผู้ให้บริการผ่านโครงข่ายโทรศัพท์ 3G และ 4G LTE (Long Term Evolution) เป็นรายแรกเมื่อปี 2554 และเมื่อปี 2556 เพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานด้านข้อมูลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา รายได้ของบริษัทจากการให้บริการซึ่งไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม (Interconnection Charge -- IC) เติบโตในอัตราที่ดีกว่าอุตสาหกรรมโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการบริการด้านข้อมูลที่เพิ่มขึ้นมาก บริษัทมีรายได้บริการซึ่งไม่รวมค่า IC เติบโตเฉลี่ย 14% ต่อปี เทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่อัตรา 7% ต่อปี
ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 22.8% ของรายได้รวมจากการให้บริการของอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทย บริษัทมุ่งเน้นการขยายโครงข่ายสำหรับการใช้บริการโทรศัพท์ 4G ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญที่สุดในการดึงดูดผู้ใช้บริการ โดยบริษัทตั้งเป้าที่จะมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 33% ของรายได้รวมจากการให้บริการภายในสิ้นปี 2561
ฐานะทางธุรกิจของบริษัทขึ้นอยู่กับความสามารถในการเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม เป้าหมายการเติบโตทางธุรกิจของบริษัทมีความเสี่ยงจากการแข่งขันที่รุนแรง ผู้ประกอบการจะใช้การแข่งขันด้านราคาและการตลาดที่รุนแรงขึ้นเพื่อดึงดูดผู้ใช้บริการและรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดของตนเอาไว้ ทั้งนี้ ความรุนแรงของการแข่งขันจะเป็นปัจจัยกดดันความสามารถในการทำกำไรและเป็นข้อจำกัดต่อคุณภาพเครดิตของบริษัทในอนาคต
ในขณะที่คลื่นความถี่ที่บริษัทประมูลมาได้จะช่วยเสริมสร้างโอกาสในการเติบโตให้แก่บริษัทและให้ความมั่นใจว่าบริษัทจะมีคลื่นความถี่ที่เพียงพอสำหรับให้บริการในอีกหลายปีข้างหน้า แต่ต้นทุนค่าใบอนุญาตที่สูงก็ส่งผลในด้านลบต่อฐานะการเงินของบริษัทเช่นกันโดยจะทำให้ภาระหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับสูงในระยะกลาง บริษัทประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ในราคารวมประมาณ 1.16 แสนล้านบาท ซึ่งส่งผลให้ภาระหนี้ของบริษัท (รวมหนี้สินจากการเช่าดำเนินงานและค่าใบอนุญาตค้างจ่าย) เพิ่มขึ้นจากประมาณ 3.06 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2557 เป็น 1.63 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะลงทุนขยายโครงข่ายโดยรวมอีกประมาณ 5.16 หมื่นล้านบาทจนถึงปี 2564 ด้วย
ทั้งนี้ เงินที่ได้รับจากการเพิ่มทุนจาก TRUE จำนวน 6 หมื่นล้านบาทนั้น บริษัทจะนำไปใช้คืนหนี้เงินกู้ประมาณ 4 หมื่นล้านบาทและส่วนที่เหลือจะใช้สำหรับการขยายโครงข่ายต่อไป โครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นหลังการเพิ่มทุน ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทลดลงจากระดับ 79.13% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 มาอยู่ที่ 60.64% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 และมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ 7.46% (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) สำหรับครึ่งแรกของปี 2559
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถสร้างรายได้จากการลงทุนโดยไม่ทำให้ฐานะการเงินของบริษัทแย่ลงอย่างมีนัยสำคัญ ภายใต้สมมติฐานของ ทริสเรทติ้ง คาดว่ารายได้จากการให้บริการของบริษัทจะเติบโตโดยเฉลี่ย 10%-20% ต่อปีในช่วงปี 2559-2561 และรายได้ของบริษัทจะอยู่ในระดับ 9.4-10.7 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม รายได้ที่เติบโตดังกล่าวจะต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายด้านการตลาดที่สูง และจะยังเป็นปัจจัยกดดันความสามารถในการทำกำไรของบริษัท อัตราส่วนกำไรของบริษัท (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 12%-18% ต่อปี โดยบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่ระดับ 8-17 พันล้านบาทต่อปี ในปี 2559-2561 และมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมที่ระดับ 7%-17% ในช่วงปี 2559-2561
บริษัทจะมีสภาพคล่องที่ยอมรับได้ในระยะ 12-15 เดือนข้างหน้า โดยพิจารณาจากความต้องการใช้และแหล่งที่มาของเงินทุน บริษัทมีหนี้สินที่จะครบกำหนดชำระรวมประมาณ 3.94 หมื่นล้านบาท ในช่วงระหว่างเดือนกันยายน 2559 ถึงธันวาคม 2560 ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนอีกประมาณ 2.2-2.8 หมื่นล้านบาทในช่วงระยะเวลาดังกล่าว แหล่งสภาพคล่องของบริษัทจะมาจากเงินทุนจากการดำเนินงานที่ระดับไม่น้อยกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท รวมถึงหุ้นกู้ที่ออกในครั้งนี้รวม 2.3 หมื่นล้านบาท ทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะมีเงินสดและเทียบเท่าเงินสดประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2559 อย่างไรก็ตาม ถ้าค่าใช้จ่ายในการลงทุนของบริษัทสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ บริษัทอาจต้องก่อหนี้เพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่อง หากอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ในระดับสูงกว่า 65% อย่างต่อเนื่อง จะมีกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิตของบริษัท