ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ และแนวโน้ม BDMS ที่ "AA-/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 4, 2016 11:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ที่ระดับ “AA-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำธุรกิจของบริษัทในฐานะผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศ รวมถึงเครือข่ายโรงพยาบาลที่กว้างขวางและแข็งแกร่งของบริษัท ชื่อเสียงของโรงพยาบาลในเครือข่ายที่เป็นที่ยอมรับและรู้จักเป็นอย่างดี ตลอดจนคณะผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่มีความสามารถและมากประสบการณ์ การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงผลการดำเนินงานที่ดีของบริษัทและความเสี่ยงทางด้านการเงินที่อยู่ในระดับปานกลางด้วย

อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจให้บริการด้านสุขภาพทั้งจากผู้ประกอบการภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งจากการใช้เงินลงทุนจำนวนมากเพื่อขยายกิจการของบริษัท

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" ของบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถคงความเป็นผู้นำในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนทั้งในประเทศและในภูมิภาค อีกทั้งยังคงผลประกอบการที่เข้มแข็งเอาไว้ได้เช่นเดิม

อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับแรงกดดันให้ต้องปรับลดลงหากบริษัทมีการลงทุนโดยการก่อหนี้เชิงรุกจนทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนสูงกว่า 45% หรืออัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ต่ำกว่า 30% เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง นอกจากนี้ หากการทำกำไรของบริษัทถดถอยลงเป็นระยะเวลานานก็อาจส่งผลกดดันต่ออันดับเครดิตได้ ในขณะที่โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทสามารถเกิดขึ้นได้หากสถานะทางการเงินของบริษัทปรับดียิ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากปัจจุบันอันจะส่งผลให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่า 50% เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง

บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการเป็นผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยบริษัทเน้นการรักษาในระดับตติยภูมิและได้ขยายฐานการรักษาไปยังระดับทุติยภูมิในพื้นที่ภูมิภาคบางส่วนมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันบริษัทมีเครือข่ายโรงพยาบาลทั้งหมด 43 แห่ง ตราสัญลักษณ์โรงพยาบาลหลักของบริษัทจำนวน 5 ตราเป็นที่รู้จักอย่างดีในกลุ่มคนไทย คือ โรงพยาบาลกรุงเทพ (20 แห่ง) โรงพยาบาลสมิติเวช (5 แห่ง) โรงพยาบาลบีเอ็นเอช (1 แห่ง) โรงพยาบาลพญาไท (5 แห่ง) และโรงพยาบาลเปาโล (4 แห่ง) ส่วนโรงพยาบาล 2 แห่งในประเทศกัมพูชาดำเนินงานภายใต้ชื่อ Royal International Hospital นอกจากนี้ บริษัทยังมีโรงพยาบาลอีก 6 แห่งที่ดำเนินงานภายใต้ตราสัญลักษณ์โรงพยาบาลท้องถิ่นด้วย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 บริษัทมีความสามารถในการให้บริการผู้ป่วยในทั้งสิ้น 5,805 เตียง โดยฐานลูกค้าของบริษัทครอบคลุมกลุ่มคนไข้ที่มีรายได้ระดับปานกลางถึงระดับสูงในทำเลที่หลากหลาย

สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทสะท้อนความสามารถในการให้บริการทางการแพทย์ที่ครอบคลุมฐานลูกค้าที่กว้างขวางในทำเลที่ตั้งที่หลากหลาย รวมทั้งตราสัญลักษณ์โรงพยาบาลที่เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี โดยความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทมาจากการมีเครือข่ายระบบส่งต่อผู้ป่วยที่แข็งแกร่งและเป็นแหล่งรวมบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับประโยชน์จากการประหยัดจากขนาดจากการใช้บริการห้องปฏิบัติการ ตลอดจนการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือทางการแพทย์หลักร่วมกันในกลุ่มอีกด้วย

บริษัทมีรายได้จากธุรกิจโรงพยาบาลจำนวน 60,262 ล้านบาทในปี 2558 และ 31,269 ล้านบาทสำหรับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 เพิ่มขึ้น 11% และ 8% ตามลำดับจากช่วงเดียวกันของปีก่อน อันเป็นผลมาจากการเติบโตของจำนวนคนไข้ ตลอดจนระดับความรุนแรงของโรคและค่าบริการที่สูงขึ้น รวมถึงการรวมรายได้จากกิจการโรงพยาบาลที่ควบรวมเข้ามา โดยรายได้จากโรงพยาบาลที่มีอยู่เดิมของบริษัทเติบโตในอัตราประมาณ 6% ต่อปีในปี 2558 และสำหรับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 รายได้จากผู้ป่วยประมาณ 54% มาจากผู้ป่วยในและที่เหลือมาจากผู้ป่วยนอก อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) อยู่ที่ 21.1% ในปี 2558 และ 20.8% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 ซึ่งปรับลงเล็กน้อยจากจำนวนที่ลดลงของผู้ป่วยจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกกลาง และผู้ป่วยต่างชาติที่ใช้บริการในโรงพยาบาลของบริษัทในภาคใต้ของประเทศ

บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการด้านสุขภาพรายสำคัญในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกโดยได้ทำการก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่และซื้อกิจการโรงพยาบาลอื่น ๆ ทั้งนี้ บริษัทวางแผนจะมีโรงพยาบาลในเครือรวม 50 แห่งภายใน 2-3 ปีข้างหน้า ปัจจุบันบริษัทกำลังก่อสร้างโรงพยาบาลใหม่อีก 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลกรุงเทพสุราษฎร์ธานีและโรงพยาบาลกรุงเทพเชียงราย ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2560 และปี 2561 ตามลำดับ โดยจะมีจำนวนเตียงเพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้น 230 เตียง และใช้เงินลงทุนประมาณ 1,700 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีที่ดินในจังหวัดกระบี่และบริเวณเขาใหญ่ที่พร้อมสำหรับใช้ในการก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ด้วย

ในขณะเดียวกัน บริษัทก็กำลังปรับปรุงโรงพยาบาลหลัก 9 แห่งในหลายภูมิภาคของประเทศไทยและในประเทศกัมพูชาเพื่อให้เป็น Centers of Excellence ซึ่งจะเพิ่มการรักษาโรคขั้นสูงที่ซับซ้อนเพื่อรองรับผู้ป่วยทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นโดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนเกือบ 3,000 ล้านบาทในช่วงระยะเวลา 5 ปี นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการขยายโรงพยาบาลกรุงเทพสำนักงานใหญ่ (Phoenix Project) ซึ่งจะให้บริการทางการแพทย์เฉพาะทาง เช่น ศูนย์ประสาทวิทยา ศูนย์กระดูกสันหลัง และศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพด้วย โดยโครงการนี้ใช้เงินลงทุนประมาณ 4,200 ล้านบาท และจะสามารถรองรับผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นได้อีก 220 เตียงเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2561

ในเดือนกันยายน 2559 บริษัทได้ซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในบริเวณโครงการปาร์คนายเลิศด้วยมูลค่าลงทุน 10,800 ล้านบาทเพื่อปรับปรุงและพัฒนาให้เป็นโครงการศูนย์สุขภาพครบวงจรภายใต้ชื่อ “BDMS Wellness Clinic" โดยมีงบประมาณปรับปรุงและค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมประมาณ 2,000 ล้านบาท โครงการดังกล่าวจะเพิ่มโอกาสในการรองรับความต้องการในด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและการฟื้นฟูสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่าโครงการนี้จะเปิดดำเนินการได้ในปี 2560

และเมื่อไม่นานมานี้บริษัทได้ประกาศซื้อและรับโอนกิจการทั้งหมดของ บริษัท เมโยโพลีคลีนิค จำกัด (เมโย) ผ่านบริษัทย่อย คือ บริษัท เปาโลเมดิค จำกัด ซึ่งใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,395 ล้านบาทโดยจะใช้แหล่งเงินทุนจากเงินสดและ/หรือจากการกู้ยืม เมโยบริหารโรงพยาบาลเอกชนภายใต้ชื่อ “โรงพยาบาลเมโย" ซึ่งเป็นโรงพยาบาลระดับทุตยภูมิ มีจำนวนเตียงจดทะเบียน 162 เตียง และเน้นกลุ่มผู้ป่วยรายได้ระดับปานกลางเป็นหลัก คาดว่าธุรกรรมดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2560 การขยายธุรกิจของบริษัทจะทำให้ความสามารถในการรองรับผู้ป่วยเพิ่มขึ้นโดยจะมีจำนวนเตียงผู้ป่วยในประมาณ 7,000 เตียงภายในปี 2561 เครือข่ายโรงพยาบาลที่แข็งแกร่งของบริษัทจะช่วยเสริมสร้างสถานะทางการแข่งขันของบริษัท ตลอดจนช่วยขยายฐานลูกค้า และช่วยให้บริษัทสามารถแข่งขันอย่างมีประสิทธิผลในอุตสาหกรรมการให้บริการด้านสุขภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศได้เป็นอย่างดี

สถานะความเสี่ยงทางการเงินของบริษัทอยู่ในระดับปานกลางซึ่งสะท้อนผลการดำเนินงานที่ดีของบริษัท ตลอดจนกระแสเงินสดที่เพิ่มขึ้น สภาพคล่องที่เพียงพอ และการใช้หนี้สินในระดับปานกลาง เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทปรับดีขึ้นจาก 10,832 ล้านบาทในปี 2557 มาอยู่ที่ 12,076 ล้านบาทในปี 2558 และ 6,216 ล้านบาทสำหรับช่วงครึ่งแรกของปี 2559 บริษัทมีสภาพคล่องที่เพียงพอโดยวัดจากอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมที่ระดับ 40% ในปี 2558 และในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 ภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 29,998 ล้านบาทในปี 2558 เป็น 31,190 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 จากการขยายเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม บริษัทสามารถรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 40% ได้ในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาและอยู่ที่ 35.6% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 เนื่องจากบริษัทมีฐานทุนขนาดใหญ่และมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง

ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงผลการดำเนินงานที่ดีเอาไว้ได้ โดยรายได้ของบริษัทจะเติบโตในอัตรา 8%-10% ต่อปีซึ่งปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจจะมาจากการเติบโตของจำนวนผู้ป่วยและโรงพยาบาลแห่งใหม่ในเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทอาจได้รับแรงกดดันจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานคงที่ ตลอดจนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของโรงพยาบาลแห่งใหม่ และการที่ Wellness Clinic อาจต้องใช้เวลาในการสร้างรายได้และทำกำไรตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพสักระยะหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม คาดว่าบริษัทจะบริหารค่าใช้จ่ายและลดต้นทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อคงอัตรากำไรจากการดำเนินงานไว้ ทริสเรทติ้งคาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ในช่วง 12,000-15,000 ล้านบาทต่อปี และคาดว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนโดยรวมประมาณ 41,000 ล้านบาทในช่วงปี 3 ปีข้างหน้า โดยจะใช้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานบางส่วนเป็นเงินลงทุน แม้บริษัทจะมีการลงทุนขนาดใหญ่ แต่ก็คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทน่าจะอยู่ในระดับไม่เกิน 45% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ