นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยถึงรายชื่อ Thailand Sustainability Investment หรือ “หุ้นยั่งยืน" ในปีนี้ ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยมีจำนวนผู้ที่ผ่านเกณฑ์ 55 บริษัท จาก 51 บริษัทในปีที่ผ่านมา เป็นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ SET 49 บริษัท และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) 6 บริษัท โดย บจ. มีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 66% จาก 60% ในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการวัดจาก 3 มิติ คือ เศรษฐกิจ (รวมบรรษัทภิบาล) สิ่งแวดล้อม และสังคม โดยมิติด้าน “สังคม" มีความโดดเด่นในเรื่องพัฒนาการ ซึ่งมีคะแนนเพิ่มขึ้นถึง 7% จากปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ บจ.ในกลุ่มอุตสาหกรรม 5 กลุ่มจาก 8 กลุ่ม มีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มอุตสาหกรรมทรัพยากรเป็นกลุ่มที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด คือ 81% ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมการเงินเป็นกลุ่มที่มีผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนพัฒนาขึ้นโดดเด่นมากที่สุด โดยมีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 69% จาก 58% ในปีที่ผ่านมา ผลการประเมินความยั่งยืนในปีนี้ จึงช่วยสะท้อนให้เห็นว่า บจ.ให้ความสำคัญในการดำเนินงานโดยคำนึงถึงความสมดุลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, Governance: ESG) มากขึ้น สอดคล้องแผนงานสำคัญของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการพัฒนาคุณภาพ บจ.ให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ปัจจุบันแนวคิดเรื่องการลงทุนอย่างยั่งยืนได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนทั่วโลก ซึ่งผู้ลงทุนไม่ได้คำนึงเพียงแค่ผลตอบแทนทางการเงิน แต่ยังให้ความสำคัญในการดำเนินงานที่ครอบคลุมในทุกมิติของ ESG ด้วย โดยจากรายงานการศึกษาและการเก็บข้อมูลจากผู้จัดการกองทุนและผู้ลงทุนกว่า 3,000 คน จากองค์กรต่างๆ ใน 100 ประเทศทั่วโลก ของ MIT Sloan Management Review และThe Boston Consulting Group ในปี 2559 พบว่า 50% ของผู้ลงทุนปฏิเสธที่จะลงทุนในบริษัทที่ได้ผลประเมินการดำเนินงานด้าน ESG ไม่ดี และ 60% มองว่าบริษัทที่มีผลประเมินด้าน ESG ดีจะช่วยลดความเสี่ยงและลดต้นทุนของเงินทุน (Cost of Capital) ของบริษัทให้ต่ำลงได้ ซึ่งจะช่วยสร้างผลตอบแทนในระยะยาว
สำหรับเกณฑ์การคัดเลือก“หุ้นยั่งยืน"จะพิจารณาจากการตอบแบบประเมิน ซึ่ง บจ. ต้องมีคะแนนอย่างน้อยกึ่งหนึ่งในแต่ละมิติของทั้ง 3 มิติ คือ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม และมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยปีนี้มีการพิจารณาเพิ่มเติมเรื่องผลประกอบการ และการคัดกรองด้านการกำกับดูแลต่างๆ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน โดยมีคณะทำงานเพื่อการลงทุนอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านบรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม และหน่วยงานในตลาดทุนไทย เป็นผู้กลั่นกรองให้กระบวนการคัดเลือกมีความโปร่งใสในทุกขั้นตอน