หุ้น TYCN ราคาพุ่งขึ้น 11.84% มาอยู่ที่ 3.40 บาท เพิ่มขึ้น 0.36 บาท มูลค่าซื้อขาย 9.31 ล้านบาท เมื่อเวลา 12.16 น. โดยเปิดตลาดที่ 3.20 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 3.58 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 3.20 บาท
บมจ.ไทยคูน เวิลด์ไวด์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) หรือ TYCN และบริษัทย่อย ประกาศผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3/59 มีกำไรสุทธิ 40.45 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.07 บาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 97.81 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.16 บาท
พร้อมชี้แจงว่า กำไรเพิ่มขึ้นจำนวน 138 ล้านบาท คิดเป็น 141.35% หลังมีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 8.23% ในงวดไตรมาส 3/59 จากระดับ 2.05% ในไตรมาส 3/58 เนื่องจากต้นทุนการผลิตต่อหน่วยผลิตภัณฑ์เหล็กลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับรายได้งวดไตรมาส 3/59 ลดลง 373 ล้านบาท คิดเป็น 19.88% โดยรายได้จากการขายลดลง 370 ล้านบาท คิดเป็น 20.04% เปรียบเทียบกับไตรมาส 3/58 สาเหตุมาจากอุตสาหกรรมเหล็กยังคงอยู่ในภาวะถดถอย ความต้องการของตลาดเหล็กลดลง ทำให้ปริมาณการขายลดลง และราคาขายผลิตภัณฑ์เหล็กลดลง
รายได้อื่นลดลง 3 ล้านบาท คิดเป็น 10.14% เปรียบเทียบกับไตรมาส 3/58 สาเหตุหลักมาจากบริษัท ทีวาย สตีล จำกัด ได้เพิ่มทุนเป็น 400 ล้านบาท ในวันที่ 23 กันยายน 2558 แต่บริษัทไม่ได้มีส่วนร่วมในการเพิ่มทุน ทำให้สัดส่วนการถือหุ้น ในบริษัท ทีวาย สตีล จำกัด ลดลงจาก 35.73% เป็น 27.02% ดังนั้น ไตรมาส 3/58 จึงรับรู้กำไรเสมือนขายจริงจากการลด สัดส่วนเงินลงทุนในบริษัทร่วม 25 ล้านบาท ในปี 59 มีกำไรจากการจำหน่ายและตัดจำหน่ายอุปกรณ์และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น 22 ล้านบาท
ด้านค่าใช้จ่ายลดลงจำนวน 485 ล้านบาท คิดเป็น 25.37% โดยต้นทุนขายลดลง 454 ล้านบาท คิดเป็น 25.09% เปรียบเทียบกับไตรมาส 3/58 เนื่องมาจากต้นทุนการผลิตลดลง และปริมาณขายลดลง และมีการโอนกลับรายการหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น 6 ล้านบาท เปรียบเทียบกับไตรมาส 3/58 เนื่องจากโอนกลับรายการหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น, โอนกลับรายการปรับลดสินค้าคงเหลือเป็นมูลค่าสุทธิที่จะได้รับลดลง 10 ล้านบาท คิดเป็น 213.24% เปรียบเทียบกับไตรมาส 3/58 เนื่องจากต้นทุนสินค้าคงเหลือในช่วงปลายไตรมาส 3/59 ต่ำกว่ามูลค่าสุทธิที่จะได้รับ
อย่างไรก็ตามในงวดไตรมาส 3/59 มีขาดทุนจากการจำหน่ายและตัดจำหน่ายอุปกรณ์ลดลง 3 ล้านบาท เปรียบเทียบกับไตรมาส 3/58 สาเหตุมาจากบริษัทมีการจำหน่ายและตัดจำหน่ายอุปกรณ์ที่ไม่สามารถใช้งานได้ในไตรมาสที่ 3/58 และมีขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลง 13 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3/58 สาเหตุหลักเนื่องจากการประเมินขาดทุนของเงินบาทอ่อนค่า