นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ (FPI) กล่าวว่า บริษัทมั่นใจว่าแนวโน้มรายได้ปีนี้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% ตามเป้าหมายที่วางไว้ ขณะที่คาดว่ากำไรจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากต้นทุนต่อหน่วยลดลง จากการเพิ่มกำลังการผลิต และค่าเงินบาทที่อ่อนค่า
ตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา บริษัทขยายกำลังผลิต เพื่อรองรับออเดอร์ของลูกค้า โดยเพิ่มเครื่องฉีด 650 ตัน 1 เครื่อง ซึ่งได้มีการเพิ่มยอดกำลังผลิตสินค้ากลุ่มหน้ากระจังอีก 4.62% ในต้นเดือน ส.ค.ได้เพิ่มเครื่องฉีดอีก 2 เครื่อง ขนาด 1,000 ตัน และ 1,300 ตัน และได้เพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่มหน้ากระจังอีก 8.82% และกลุ่มกันชนอีก 12.5%
ขณะเดียวกัน บริษัทยังได้มีการขยายกำลังการผลิตของแผนกสีในเดือนกันยายนที่ผ่านมาเป็นไลน์อัตโนมัติ ซึ่งจะแล้วเสร็จปลาย พ.ย.59 ส่งผลให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 35% เพื่อรองรับงาน OEM ซึ่งคาดว่าจะรับมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง จากก่อนหน้ามีการใช้กำลังการผลิต 72.60% ซึ่งจะทำให้ต้นทุนขายต่อหน่วยปรับตัวลดลง ส่งผลให้กำไรขั้นต้นปรับตัวสูงขึ้น
สำหรับความคืบหน้าในการจัดตั้งบริษัทร่วมลงทุนกับพันธมิตรในประเทศอินเดีย ภายใต้ชื่อ ALP FPI PARTS PRIVATE LIMITED คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายเดือน เม.ย.60 ซึ่งมั่นใจว่าหลังจากเดินเครื่องผลิตจะช่วยผลักดันรายได้และกำไรของบริษัทเติบโตอย่างแข็งแกร่ง สอดคล้องแผนการดำเนินธุรกิจใน 5 ปี ข้างหน้า เดินหน้าขยายสาขาใน 5 ประเทศทั่วโลก โดยสนใจประเทศตุรกี อินเดีย อเมริกา ฮังการี และเม็กซิโก
ส่วนแผนการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดกำลังการผลิต 27.3 เมกะวัตต์ ร่วมกับ บมจ.อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF) และบริษัท วิชญ์ อุตสาหกรรม จำกัด (WIT) จำนวน 3 โครงการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการ สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/59 มีรายได้รวม 473.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.82% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 58.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.92% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่งวด 9 เดือนแรกของปีนี้ มีรายได้รวม 1453.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.51% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 195.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยมาจากยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นจากการขายงาน OEM ของรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า และยอดขายต่างประเทศในภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้นมาจากประเทศซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในภูมิภาคอเมริกาใต้ ในภูมิภาคออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เพิ่มขึ้นจากการขายงาน OEM ของรถยนต์ยี่ห้อ Suzuki ให้แก่ลูกค้า EGR
“สาเหตุที่ทำให้กำไรและยอดขายในไตรมาส 3/59 ปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มากนักเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากในช่วงเดือนกรกฎาคมเป็นช่วงเดือนรอมฎอน ทำให้ยอดขายในเดือนดังกล่าวไม่สูงมาก ถึงแม้ว่าจะได้รับอานิสงส์จากงาน OEM เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดยุโรป ที่มีอัตรากำไรขั้นต้นค่อนข้างสูง อีกทั้งยังได้รับปัจจัยบวกจากการอ่อนค่าของเงินบาทอีกด้วย เพราะรายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทอยู่ในรูปของเงินดอลลาร์ เมื่อแปลงกลับมาเป็นเงินบาทจึงทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการบริหารต้นทุนค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากการเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงงาน ซึ่งทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลง"นายสมพล กล่าว