โบรกเกอร์แนะ"ซื้อ"หุ้นบมจ.ช.การช่าง (CK) จากแรงหนุนของงานภาคก่อสร้างมากที่สุดในกลุ่ม หลังรัฐบาลทยอยประมูลงานโครงการขนาดใหญ่ต่อเนื่อง ขณะที่ CK ซึ่งเป็นผู้ชำนาญงานก่อสร้างมีโอกาสได้รับงานโดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้า ตลอดจนงานโครงการของบริษัทลูกทั้ง BEM ,CKP รวมถึง TTW ซึ่งจะช่วยผลักดันการเติบโตของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต
ด้านราคาหุ้น ณ ปัจจุบันยังไม่แพง โดยมี P/E ปี 59 เป็น 20.6 เท่า
ทั้งนี้ ราคาหุ้น CK ช่วงบ่ายอยู่ที่ 31 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง ขณะทีดัชนีหุ้นไทยลดลง 1.03%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ ซื้อ 40.00 เอเชีย เวลท์ ซื้อ 39.50 ทิสโก้ ซื้อ 40.00 กสิกรไทย ซื้อ 37.00 ฟิลลิป (ประเทศไทย) ซื้อ 35.00
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุว่า CK มีโอกาสสูงที่จะได้รับงานจำนวนมาก จากการเปิดประมูลงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศ (รฟม.) ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา CK สามารถชนะการประมูลและได้รับงานจาก รฟม.มาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีส้ม สีชมพู และสีเหลือง เป็นต้น อีกทั้งยังมีโอกาสได้งานเครื่องกลและวางระบบ (M&E) สำหรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท จากบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ด้วย
ทั้งนี้ CK ยังซื้อที่ดินเพื่อไว้เตรียมการรองรับงานก่อสร้างในอนาคตถึง 5 ปี เช่น การติดตั้งเครื่องจักร เตรียมวัสดุก่อสร้าง ไซท์คนงาน และฝ่ายสนับสนุนต่าง ๆ ขนาดพื้นที่ 2.68 แสนตารางเมตร ที่จังหวัดสมุทรปราการ ที่ราคา 630 ล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าน้อยกว่ามูลค่ายุติธรรมอยู่ 10% โดย CK จะใช้เงินสดภายในบริษัทเพื่อลงทุนดังกล่าว
CK จัดให้เป็น Top Pick ในกลุ่มรับเหมาก่อสร้างจากประเด็นการเป็นผู้ชำนาญงานก่อสร้าง มีโอกาสสูงที่จะได้งานขนาดใหญ่อีกเป็นจำนวนมาก อีกทั้งโครงสร้างของกลุ่มก็เอื้อให้บริษัทได้รับประโยชน์มากขึ้นในอนาคต เช่น BEM เป็นงานทางด่วน และงานรถไฟฟ้า ส่วน บมจ.ซีเค พาวเวอร์ (CKP) จะเป็นงานก่อสร้างเขื่อน เป็นต้น
สำหรับการประเมินราคาหุ้นขณะนี้พบว่ายังไม่แพง P/E ปี 59 เป็น 20.6 เท่า
ด้านนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเชีย เวลท์ ระบุว่า CK มีปัจจัยขับเคลื่อนจากงานภาคการก่อสร้างที่สดใส โดยเฉพาะงานจากภาครัฐที่จะมีต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีนี้จนถึงปี 60 โดย CK ยังรอการอนุมัติก่อสร้างระบบรางส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินของ BEM ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณงานในมือ (backlog) ให้แก่ CK ประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท และการประกาศผู้ชนะการประมูลรอบสุดท้ายสำหรับเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) ซึ่งมีมูลค่าโครงการ 1.9 แสนล้านบาท โดยเฉพาะสายสีส้มที่มีมูลค่าโครงการ 7.6 หมื่นล้านบาท และผลการประมูลเส้นทางรถไฟทางคู่ 3 เส้นทางใหม่มูลค่า 5.5 หมื่นล้านบาท
สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/59 ของ CK คาดว่าจะกลับสู่ภาวะปกติ หรือมีรายได้อยู่ที่ 8-9 พันล้านบาทต่อไตรมาส จากการรับรู้รายได้ในโครงการก่อสร้างเขื่อนพลังน้ำไซยะบุรี, โครงการรถไฟทางคู่ จิระ-ขอนแก่น, สัญญาก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายสีเขียว สัญญา 1, โครงการ BlC2 ให้กับ CKP และการก่อสร้างโรงงานบำบัดน้ำเพื่อผลิตน้ำประปาแห่งที่ 2 และยังมีรายได้อื่นจำนวน 232 ล้านบาท จากเงินปันผลของ บมจ.ทีทีดับบลิว (TTW) ส่วนแบ่งของผู้ถือหุ้นคาดว่าจะเท่ากับ 174 ล้านบาท ในไตรมาส 3/59
อัตรากำไรขั้นต้นของ CK คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 8.1% จาก 6.1% ในไตรมาส 2/59 และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารคาดว่าจะอยู่ที่ 4.9% เพิ่มขึ้นจาก 1.6% ในไตรมาส 2/59 ปัจจุบัน บริษัทมี backlog อยู่ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่า CK จะมีกำไรสุทธิไตรมาส 3/59 ที่ 365 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่ารายได้จะลดลงเล็กน้อย เนื่องจากมีต้นทุนทางการเงินที่ลดลงและมีส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทในเครือที่เพิ่มขึ้น
บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห่ว่า CK มีโอกาสได้งานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม 3 สัญญา จากทั้งหมด 6 สัญญาหลังรัฐบาลได้เริ่มประมูลสายสีส้ม (ตะวันออก) เมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีโครงการภาครัฐอื่น ๆ ที่จะเริ่มประมูลภายในสิ้นปีนี้ และมีโครงการของบริษัทลูกเช่น BEM, TTW, CKP และโรงไฟฟ้าในลาวและเมียนมา ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณงานในมือที่สูงสามารถรองรับรายได้ในอีก 3 ปีข้างหน้า
ปัจจุบันบริษัทมีงานในมืออยู่ราว 7 หมื่นล้านบาท สามารถรองรับการรับรู้รายได้ไปอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งยังไม่รวมรายได้งานวางระบบสายสีน้ำเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท จะทำให้งานในมือเพิ่มขึ้นเป็น 9.5 หมื่นล้านบาท
สำหรับการประเมินผลประกอบการไตรมาส 3/59 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 51% แต่จะลดลง 58% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยผลประกอบการที่เพิ่มขึ้นมาจากดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลงจากโครงการไซยะบุรีที่เริ่มเสร็จ อย่างไรก็ตามส่วนแบ่งกำไรจาก BEM จะลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากฐานที่สูงจากการรับงานพิเศษของโครงการไซยะบุรีมูลค่า 1 หมื่นล้านบาท