(เพิ่มเติม) ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่ง AMA ขาย IPO 108 ล้านหุ้นเข้า mai ระดมทุนขยายระวางเรือเท่าตัว

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 15, 2016 15:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางศรัณยา กระแสเศียร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซจแคปปิตอล จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ บมจ.อาม่า มารีน (AMA) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เริ่มนับหนึ่งไฟลิ่งของ บมจ.อาม่า มารีน ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย.59 เพื่อเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 108 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท หรือ คิดเป็น 25.02% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (maiX

บริษัทมีวัตถุประสงค์ในการระดมทุนเพื่อลงทุนขยายกองเรือบรรทุกน้ำมันและสารเคมี รวมถึงขยายกองรถบรรทุกน้ำมัน และสารเคมี เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งสินค้าเหลวทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ

AMA มีทุนจดทะเบียนเท่ากับ 215.80 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 431.60 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท โดยทุนเรียกชำระแล้วเท่ากับ 161.80 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 323.60 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท

“ในการระดมทุนครั้งนี้เพื่อจะนำเงินไปใช้ในการขยายธุรกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งสินค้าเหลวให้กับบริษัท เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น ตามตัวเลขการนำเข้าน้ำมันพืชที่เพิ่มสูงขึ้นของประเทศผู้นำเข้าน้ำมันพืชอันดับต้น ๆ ของโลกไม่ว่าจะเป็นจีน หรืออินเดีย เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่สำคัญสำหรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต" นางศรัณยากล่าว

หลังจากนี้บริษัทฯอยู่ในระหว่างวางแผนสำหรับการเดินสายนำเสนอข้อมูลบริษัทแก่นักลงทุน (โรดโชว์) ทุกภาคทั่วประเทศ โดยเชื่อว่า AMA จะได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ด้วยองค์ประกอบของบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ ในการเป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าเหลวทางเรือระหว่างประเทศ และขนส่งสินค้าเหลวทางรถภายในประเทศ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีโอกาสขยายตัวตามความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต และที่สำคัญทีมผู้บริหารล้วนแล้วแต่มีความสามารถ มีวิสัยทัศน์และมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาธุรกิจ ซึ่งคาดหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้ AMA มีความน่าสนใจต่อนักลงทุนเพิ่มมากยิ่งขึ้น

นายพิศาล รัชกิจประการ กรรมการผู้จัดการ AMA กล่าวว่า บริษัทประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าเหลวทางเรือ และให้บริการขนส่งสินค้าเหลวทางรถ กล่าวว่า บริษัทดำเนินธุรกิจด้านโลจิสติกส์ (Logistic) ให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือ และรถ ทั้งใน และต่างประเทศ

ในธุรกิจขนส่งสินค้าทางเรือ บริษัทเน้นการให้บริการขนส่งสินค้าเหลว (Liquid Product) ได้แก่ ผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช (Vegetable Oil Product) เป็นหลัก เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว น้ำมันถั่วเหลือง โดยใช้เรือบรรทุกน้ำมันและสารเคมี (Oil and Chemical Tanker) ที่มีน้ำหนักบรรทุกประมาณ 3,000 ถึง 13,000 เมตริกตัน เส้นทางให้บริการหลักในการขนส่งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออก

ส่วนธุรกิจขนส่งทางรถ บริษัทให้บริการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและB100 โดยใช้รถบรรทุกน้ำมันที่มีปริมาณบรรทุก 45,000 ลิตร เส้นทางให้บริการหลักในการขนส่งอยู่ภายในประเทศ

ณ วันที่ 31 ต.ค.59 บริษัทมีเรือบรรทุกน้ำมันและสารเคมี จำนวน 8 ลำ มีน้ำหนักบรรทุกรวมทั้งสิ้น 46,661 เมตริกตัน และมีรถบรรทุกน้ำมัน จำนวน 95 คัน มีปริมาณการบรรทุกรวมทั้งสิ้น 4.28 ล้านลิตร

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนในการใช้เงินจากการเสนอขายหุ้น IPO เพื่อเป็นเงินทุนจัดซื้อเรือ 3 ลำ มูลค่าเงินลงทนประมาณ 28-33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งได้รับมอบไปแล้ว 1 ลำในช่วงเดือน ต.ค.59 น้ำหนักบรรทุก 12,000-14,000 เมตริกตัน และในปี 60 จะได้รับมอบอีก 2 ลำ น้ำหนักบรรทุกรวมประมาณ 15,000-19,000 เมตริกตัน ซึ่งจะทำให้บริษัทมีน้ำหนักบรรทุกของกองเรือทั้งหมดเพิ่มเข้ามาราว 3 หมื่นเมกตริกตัน จากเดิม 7 ลำน้ำหนักบรรทุกอยู่ที่ 33,641 เมกตริกตัน ขณะที่เรือซื้อเข้ามาใหม่มีอายุเฉลี่ยต่ำลงมาเหลือเพียง 8 ปี

พร้อมกันนั้น บริษัทยังมีแผนจัดซื้อรถบรรทุกเพิ่มเป็น 180 คันภายในปี 61 มูลค่ารวมประมาณ 440-550 ล้านบาท คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 44-55 ล้านบาทร่วมกับการใช้สินเชื่อเช่าซื้อ รวมทั้งมีแผนนำเงินอีกส่วนหนึ่งไปใช้ในการขยายธุรกิจให้บริการด้านโลจิสติกส์ อาทิ การสร้างแทงค์ฟาร์ม หรือการสร้างท่าเรือ แต่ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนในขณะนี้

“เรามีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในธุรกิจขนส่งสินค้าเหลวทั้งทางรถและทางเรือ ซึ่งเรามีแผนที่จะขยายเส้นทางการขนส่งไปยังภูมิภาคเอเชียใต้ เพื่อครอบคลุมประเทศที่มีความต้องการบริโภคน้ำมันปาล์มสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ได้แก่ ประเทศจีน ประเทศอินเดีย และประเทศปากีสถาน เป็นต้น" นายพิศาล กล่าว

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงาน 3 ปีย้อนหลัง ในปี 56 บริษัทมีรายได้รวมเท่ากับ 426.57 ล้านบาทและมีกำไรสุทธิ 20.39 ล้านบาท ในปี 57 มีรายได้รวมเท่ากับ 510.46 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 85.40 ล้านบาท ในปี 58 มีรายได้รวมเท่ากับ 643.18 ล้านบาทและมีกำไรสุทธิ 130.12 ล้านบาท

ขณะที่ผลการดำเนินงานใน 9 เดือนแรกปี 59 บริษัทมีรายได้รวมเท่ากับ 677.96 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 100.52 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ