ทริสฯ จัดอันดับเครดิตองค์กร"แบงก์ออมสิน"ที่ “AAA" ด้วยแนวโน้ม “Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 21, 2016 15:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคารออมสิน ที่ระดับ “AAA" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งต่อสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งและผลประกอบการทางการเงินที่ดีของธนาคาร รวมทั้งความเป็นไปได้ในระดับสูงที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนเมื่อธนาคารมีปัญหาทางการเงินตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารออมสิน พ.ศ. 2489 ว่าการคืนเงินต้น ดอกเบี้ยเงินฝาก และการจ่ายชำระหนี้อื่น ๆ ตามข้อผูกพันของธนาคารนั้นจะได้รับการค้ำประกันโดยรัฐบาลทั้งสิ้น

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ว่าธนาคารออมสินจะรักษาสถานภาพการเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจภายใต้ พ.ร.บ. จัดตั้งและจะยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่และต่อเนี่องจากรัฐบาลต่อไป

อันดับเครดิต และ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารอาจเปลี่ยนแปลงไปหากสถานะของธนาคารภายใต้ พ.ร.บ. จัดตั้งเปลี่ยนแปลงไป หรือหากทริสเรทติ้งมีมุมมองต่อระดับความสำคัญในเชิงนโยบายของธนาคารที่เกี่ยวกับทิศทางนโยบายของรัฐบาลเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ธนาคารออมสินมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นธนาคารของประชาชนและมีหน้าที่ในการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ในช่วงเวลามากกว่า 100 ปีหลังการก่อตั้งในปี 2456 ธนาคารมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งมาอย่างสม่ำเสมอโดยเน้นให้บริการด้านการเงินและธนาคารแก่กลุ่มลูกค้ารายย่อยเพื่อให้สอดคล้องและสนับสนุนนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาล

ปัจจุบันธนาคารอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เช่นเดียวกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่น ๆ โดยเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 ธปท. ได้ประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจตามกรอบแนวทางพื้นฐานของ Basel II โดยมีเป้าหมายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจมีความแข็งแกร่งด้านการบริหารความเสี่ยงและมีการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพภายใต้หลักธรรมภิบาลและความโปร่งใส ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยให้ธนาคารออมสินมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำหรับธนาคารออมสินคือการพยายามสร้างสมดุลระหว่างการบรรลุพันธกิจของธนาคารและการรักษาผลประกอบการทางการเงินที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธนาคารจะต้องให้บริการในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาลรวมทั้งการริเริ่มในการสนับสนุนภาคส่วนทางเศรษฐกิจบางกลุ่มเป็นการเฉพาะตามนโยบาย แม้ว่าโดยกิจกรรมเหล่านี้มิได้เป็นกิจกรรมที่สร้างผลกำไรให้แก่ธนาคารก็ตาม

ณ เดือนมิถุนายน 2559 ธนาคารออมสินให้บริการการเงินการธนาคารครอบคลุมทั่วประเทศโดยมีสาขา 1,045 แห่ง มีตู้เบิกถอนเงินสด 6,088 ตู้ มีซุ้มแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 1,066 แห่ง และมีพนักงาน 20,999 คน เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยแล้ว ธนาคารออมสินมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ในด้านของเงินฝาก เป็นอันดับ 4 ในด้านขนาดของสินเชื่อ และเป็นอันดับ 5 ในด้านขนาดสินทรัพย์ ฐานะทางธุรกิจของธนาคารจัดได้ว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยมีการกระจายตัวของฐานลูกค้ารายย่อยสูงมาก รวมทั้งมีเครือข่ายและการบริการที่ครอบคลุมทั่วถึง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 ยอดสินเชื่อรวมของธนาคารมีจำนวน 1.75 ล้านล้านบาท โดยประมาณ 75% เป็นสินเชื่อสำหรับลูกค้ารายย่อยและผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ส่วนอีก 25% เป็นสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการขนาดใหญ่

ธนาคารมีฐานลูกค้าเงินฝากที่แข็งแกร่งและมีบริการผลิตภัณฑ์เงินฝากที่น่าดึงดูดใจสำหรับผู้ฝากเงิน โครงสร้างเงินทุนของธนาคารแบ่งเป็นเงินฝากในสัดส่วน 88% เงินกู้ระหว่างธนาคาร 5% และส่วนของผู้ถือหุ้น 7% ฐานเงินฝากของธนาคารมีการกระจายตัวมากกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ ณ เดือนมิถุนายน 2559 ยอดเงินฝากรวมของธนาคารมีจำนวน 2.07 ล้านล้านบาท โดย 75% เป็นเงินฝากที่มียอดต่อบัญชีต่ำกว่า 25 ล้านบาท

สำหรับโครงสร้างรายได้นั้น ธนาคารยังคงพึ่งพิงรายได้ดอกเบี้ยเป็นสำคัญซึ่งคิดเป็นประมาณ 87% ของรายได้รวม ส่วนที่เหลือเป็นรายได้ค่าธรรมเนียมเพียง 5% และรายได้อื่น ๆ อีก 8% ทริสเรทติ้ง ไม่ได้คาดหวังว่าธนาคารจะสามารถเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในระยะเวลาอันใกล้เนื่องจากธนาคารไม่ได้มุ่งเน้นการมีผลตอบแทนทางรายได้สูงเหมือนธนาคารพาณิชย์ทั่ว ๆ ไป

ธนาคารออมสินมีสภาพคล่องทางการเงินในระดับที่สูง ในขณะที่มีความสามารถในการทำกำไรและการก่อหนี้อยู่ในระดับปานกลาง จุดแข็งจากการมีฐานเงินฝากรายย่อยมีผลทำให้ธนาคารมีสภาพคล่องที่ดี โดย ณ เดือนมิถุนายน 2559 สัดส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินรับฝากของธนาคารอยู่ในระดับ 84% เมื่อเทียบกับสัดส่วนเฉลี่ยที่ประมาณ 100% ของธนาคารพาณิชย์* ในฐานะเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ธนาคารไม่ได้ตั้งเป้าหมายในการมีผลตอบแทนสูงสุด ดังนั้น ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารจึงต่ำกว่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์* โดยปกติอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของธนาคารจะอยู่ในระดับประมาณ 1% ในช่วงปี 2554 ถึง 2558 ในขณะที่อัตราเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์* จะอยู่ในช่วง 1.3% ถึง 1.7%

ธนาคารมีเงินกองทุนในระดับที่เพียงพอ โดย ณ เดือนมิถุนายน 2559 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ของธนาคารอยู่ที่ระดับ 11.55% ซึ่งสูงกว่าระดับเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 8.5% ที่กำหนดโดย ธปท. แต่อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 16.8% ของธนาคารพาณิชย์

คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารอยู่ในระดับที่ดีกว่ามาตรฐานของธนาคารพาณิชย์ไทย โดยคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารถดถอยลงเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ อันเป็นผลมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของธนาคารเพิ่มขึ้นจากระดับต่ำกว่า 1% ในปี 2554 มาเป็น 2.6% ณ เดือนมิถุนายน 2559 แต่ยังเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 3.5% สำหรับธนาคารพาณิชย์* ในช่วงเวลาเดียวกัน การถดถอยลงของคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารเป็นประเด็นที่ยังกังวลในระยะสั้นเนื่องจากอัตราการก่อตัวของสินเชื่อด้อยคุณภาพยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2559

ปริมาณค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสำรองพึงกันตามเกณฑ์ของ ธปท. ณ เดือนมิถุนายน 2559 อยู่ในระดับ 114% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ย 166% ของธนาคารพาณิชย์* เกณฑ์การตั้งค่าเผื่อหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญตามกรอบแนวทางกำกับดูแลของ ธปท. คาดว่าจะมีผลทำให้ต้นทุนด้านเครดิตของธนาคารเพิ่มขึ้นและจะมีผลกดดันต่อความสามารถในการทำกำไรของธนาคารในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ