นายพงศ์กานต์ หงสกุล กรรมการผู้จัดการ บมจ.เอ็นอีพี อสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรม (NEP) กล่าวว่า บริษัทฯตั้งเป้ากำไรสุทธิปี 63 จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด และรายได้น่าจะเติบโตอยู่ที่ระดับ 792 ล้านบาท จากการปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ รวมถึงการรุกธุรกิจบรรจุภัณฑ์ใหม่ ที่เรียกว่าเป็นบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน หรือ บรรจุภัณฑ์กราเวียร์ (Flexible Packaging) ซึ่งเป็นสินค้าที่มีมาร์จิ้นสูง หรือประมาณ 10% โดยสัดส่วนรายได้ในปี 63 จะประกอบด้วย บรรจุภัณฑ์กระสอบพลาสติกสาน 43% ,อสังหาริมทรัพย์ 3% และบรรจุภัณฑ์ Flexible Packaging 54% จากเดิมมีเพียงรายได้จากอสังหาริมทรัพย์ 5% และบรรจุภัณฑ์กระสอบพลาสติกสาน 95%
ทั้งนี้การขยายธุรกิจดังกล่าวเป็นการขยายธุรกิจให้มีความครอบคลุมมากขึ้นจากเดิมที่ทำบรรจุภัณฑ์กระสอบ โดยบรรจุภัณฑ์ใหม่สามารถเจาะกลุ่มลูกค้าทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค ซึ่งเป็นประเภทแมสโปรดักซ์ จึงทำให้บริษัทฯสามารถกระจายความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามปัจจุบันก็มีการเจรจากับลูกค้าจำนวนหลายราย ส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าเดิมที่ใช้บริการบรรจุภัณฑ์กระสอบ แต่ก็มีความต้องการบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ ที่ใช้บรรจุภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป อีกทั้งบริษัทฯยังมีการขยายไปสู่ลูกค้าใหม่ ๆ เช่น สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ซองน้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม ซองขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ โดยกลุ่มลุกค้าใหม่ NEP ถือว่ามีข้อได้เปรียบเนื่องจากแถบภาคอีสานนั้น มีผู้ผลิตสินค้ากลุ่มข้าว น้ำตาล และแป้ง เป็นจำนวนมาก ซึ่งยังต้องการสินค้าในพื้นที่ เพื่อรองรับเรื่องเวลาและค่าขนส่งที่ลดลง รวมถึงการติดต่อลูกค้าในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนครด้วย
นอกจากนี้ในปี 60 บริษัทฯคาดรายได้น่าจะเติบโตไม่น้อยกว่า 50% จากปีนี้ที่คาดจะทำได้ 310 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับปี 58 ที่อยู่ที่ 355.69 ล้านบาท เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก แต่น่าจะมีผลขาดทุนลดลง จาก 9 เดือนที่ผ่านมามีผลขาดทุนสุทธิที่ 52.22 ล้านบาท จากการปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยการตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น เครื่องจักรเก่าที่ไม่สามารถใช้งานได้ตามเดิม
สำหรับแผนการดำเนินงานในปีหน้า บริษัทฯวางงลงทุนรวม 90 ล้านบาท จะใช้ในการปรับปรุงพื้นที่อาคารเดิม จำนวน 6 ล้านบาท และลงทุนเครื่องจักรใหม่เพื่อเพิ่มสายการผลิต ผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์กราเวียร์ แบ่งเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกจะใช้เงินลงทุนราว 44 ล้านบาท เริ่มติดตั้งในช่วงไตรมาส 1/60 และคาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพณิชย์ (COD) พร้อมรับรู้รายได้ตั้งแต่เดือนก.พ.60 ขณะที่เฟส 2 จะใช้เงินลงทุนราว 40 ล้านบาท เริ่มติดตั้งในช่วงไตรมาส 4/60 และเริ่ม COD เพื่อรับรู้รายได้ในไตรมาส 2/61 เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลให้กำลังการผลิตเพิ่มเป็น 2 เท่าตัว จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 170 ตัน/วัน และน่าจะทำให้บริษัทฯมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
พร้อมกันนี้หลังจากเดินเครื่องกำลังการผลิตได้ครบทั้ง 2 เฟส ซึ่งเฟสแรกน่าจะถึงจุดคุ้มทุน (Break event)ได้ปลายปี 60 และบริษัทฯคาดว่าจะสามารถพลิกกลับมามีกำไรสุทธิได้ในปี 61 และหลังจากมีกำไรสุทธิก็จะมีการพิจารณาแนวทางการล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่ราว 900 ล้านบาท รวมถึงพิจารณาการจ่ายปันผลแก่ผู้ถือหุ้นต่อไป
"บริษัทฯได้มีการปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ จากการตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป และมีการลงทุนเครื่องจักรใหม่เพื่อเพิ่มสายการผลิต ของผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ใหม่ ซึ่งผลิตภัณฑฺ์ดังกล่าวถือว่ามีมาร์จิ้นสูง และน่าจะทำให้เราสามารถพลิกกลับมามีกำไรสุทธิได้ หากมีการเดินเครื่องกำลังการผลิตได้เต็มทั้ง 2 เฟส ขณะที่ก็มีการวางเป้าหมายรายได้ 5 ปีจากนี้ จะเติบโตแตะ 792 ล้านบาท จากปีนี้คาด 310 ล้านบาท"นายพงศ์กานต์ กล่าว