นายสรัญ รังคสิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บมจ.ปตท. (PTT) กล่าวว่า ปตท.อยู่ระหว่างศึกษาปรับโครงสร้างธุรกิจปิโตรเคมีเพื่อให้ห่วงโซ่ (value chain) ธุรกิจมีความต่อเนื่อง และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันหลังราคาน้ำมันตกต่ำ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะโอนธุรกิจสายปิโตรเคมีราว 6-7 บริษัทให้กับบมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ภายในปี 60 โดยได้ว่าจ้างให้สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ทำการศึกษาเรื่องดังกล่าว
"บริษัทปิโตรเคมีลูก ๆ ที่เราถือตรงอาจจัดพอร์ตใหม่ให้ไปอยู่ใต้การดูแลของ PTTGC เพื่อให้ value chain ธุรกิจมีความต่อเนื่อง ปตท.ก็จะดูนโยบายเป็นหลัก ก็จะพยายามทำให้เร็วที่สุด ถ้าเป็นไปได้ปี 60 ก็น่าจะโอนได้เราตั้งเป้าให้เสร็จในปีหน้า"นายสรัญ กล่าว
นายสรัญ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุถึงมูลค่าของการโอนธุรกิจปิโตรเคมีให้กับ PTTGC ได้ เพราะบริษัทในสายงานมีทั้งขนาดใหญ่,ขนาดกลางและเล็ก โดยขนาดใหญ่เป็นบริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัด (HMC) ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกที่ปตท.ถือหุ้นอยู่ 40% นอกจากนั้นก็จะเป็นธุรกิจในด้านโลจิสติกส์ และการตลาดต่าง ๆ ซึ่งเบื้องต้นปตท.จะต้องทำความเข้าใจกับผู้ถือหุ้นรายอื่นในบริษัทเหล่านี้ ตลอดจนเจ้าหนี้ต่าง ๆ ด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการโอนธุรกิจสายปิโตรเคมีดังกล่าวให้กับ PTTGC ซึ่งจะเป็นเรือธง (Flagship) สายธุรกิจปิโตรเคมีของกลุ่มปตท. จะทำให้ปตท.มีรายได้จากการขายกิจการดังกล่าวแล้ว แต่ปตท.ก็ยังมีภาระทางภาษีในการโอนกิจการดังกล่าวให้กับภาครัฐด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ การดำเนินการปรับโครงสร้างธุรกิจในกลุ่มปตท.ครั้งนี้ เป็นการดำเนินการหลังจากที่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ปตท.ได้ประกาศปรับโครงสร้างในธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกไปแล้ว ส่วนของธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และเทรดดิ้ง ในปัจจุบันยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
นายสรัญ กล่าวด้วยว่า สำหรับขั้นตอนการปรับโครงสร้างธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกของกลุ่มปตท. โดยการโอนธุรกิจในกลุ่มให้กับบริษัท ปตท.ธุรกิจค้าปลีก จำกัด ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (PTTOR) หลังจากที่ได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ปตท. เตรียมที่จะนำเสนอเรื่องต่อกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ตามขั้นตอน โดยเบื้องต้นคาดว่าจะนำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นในราวเดือนเม.ย.60
หลังจากผู้ถือหุ้นอนุมัติแล้วคงต้องใช้เวลาอีกราว 1-2 เดือนในการโอนทรัพย์สิน และรอให้ PTTOR ปิดงบอย่างน้อย 1 ไตรมาส ซึ่งคาดว่าจะเป็นผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/60 ซึ่งจะประกาศในช่วงกลางเดือนพ.ย.60 หลังจากนั้นจึงจะสามารถยื่นแบบเสนอขายหุ้น (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ ซึ่งตามขั้นตอนก.ล.ต.น่าจะใช้เวลาอีกราว 6 เดือนเพื่อเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ได้
ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก นอกจากจะทำให้กลุ่มปตท.ได้รับประโยชน์จากความชัดเจนและความคล่องตัวในการขยายงานของธุรกิจ โดยเฉพาะในต่างประเทศ หลังจากที่ปตท.จะลดสัดส่วนการถือหุ้นใน PTTOR เหลือในช่วง 45-50% จากเดิม 100% เพื่อลดบทบาทของการเป็นรัฐวิสาหกิจลง ในส่วนของภาครัฐก็จะได้รับประโยชน์จากภาษีการโอนกิจการ ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าภาษีสูงถึงราว 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่มูลค่ารวมของธุรกิจก็จะมากขึ้นด้วย จากปกติปตท.มี P/E ที่ระดับ 8-9 เท่า แต่ P/E ของธุรกิจค้าปลีกโดยทั่วไปมีระดับสูงถึง 18-20 เท่า