นายสีหศักดิ์ อารีราชการัณย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ลานนารีซอร์สเซส (LANNA) คาดว่ากำไรในช่วงครึ่งแรกปี 60 จะเติบโตก้าวกระโดดจากช่วงครึ่งแรกปีนี้ รับผลบวกจากราคาถ่านหินที่สูงขึ้นในช่วงนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการทำสัญญาขายถ่านหินล่วงหน้าสำหรับปีหน้า ขณะที่เตรียมจะขอรัฐบาลอินโดนีเซียเพื่อเพิ่มการผลิตถ่านหินจาก 2 เหมืองที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้การผลิตถ่านหินในปีหน้าเพิ่มขึ้นจากปีนี้ด้วย พร้อมเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินในอินโดนีเซีย ขนาด 200 เมกะวัตต์ (MW) มูลค่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ก่อนจะเริ่มผลิตและสร้างรายได้กลับคืนมาในปี 64
ทั้งนี้ ในปีหน้าบริษัทได้ขอรัฐบาลอินโดนีเซีย เพิ่มปริมาณการผลิตถ่านหินจากเหมืองในอินโดนีเซียเป็น 6 ล้านตัน จาก 4.8-5 ล้านตันในปีนี้ หลังจากราคาถ่านหินที่ลดลงทำให้รัฐบาลอินโดนีเซียได้พยายามควบคุมโควตาการผลิตก่อนหน้านี้ โดยบริษัทจะขอเพิ่มการผลิตของเหมือง LHI เป็น 3.5 ล้านตัน จาก 3.2 ล้านตันในปีนี้ และการผลิตจากเหมือง SGP เป็น 2.2-2.5 ล้านตัน จาก 1.5 ล้านตันในปีนี้
สำหรับธุรกิจเทรดดิ้งถ่านหินก็จะนำเข้ามาจากอินโดนีเซียมายังคลังสินค้าที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ราว 9 แสนตัน ใกล้เคียงกับปีนี้
"ปีนี้เหมือง SGP อยู่ในพื้นที่ป่า ผลิตได้น้อย เพราะอินโดนีเซียกำลังปิดป่า ซึ่งตอนนี้เราก็พยายามขอกระทรวงพลังงานอย่าตัดโควตา เพราะปี 60 เราจะพยายามกลับไปผลิตที่ 2.5 ล้านตัน ซึ่งเป็นกำลังการผลิตระดับปกติที่ 2.2-2.5 ล้านตัน/ปี ก็จะรู้ผลจากกระทรวงพลังงานราว 13 ธันวาคมนี้ จากปีนี้ที่ผลิตเพียง 1.5 ล้านตัน"นายสีหศักดิ์ กล่าว
นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า ด้านราคาถ่านหินตลาดโลกช่วงเดือนต.ค.-พ.ย.59 ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น จะไม่ส่งผลต่อการดำเนินงานและกำไรสุทธิของบริษัทในปีนี้มากนัก เนื่องจากบริษัทได้ทำสัญญาขายถ่านหินล่วงหน้าไว้บางส่วนแล้วในช่วงต้นปี 59 แต่จะส่งผลดีต่อผลประกอบการในปี 60 โดยเฉพาะในครึ่งแรกปี 60 จากราคาถ่านหินที่ปรับตัวสูงขึ้นเท่าตัว จากราคาขายเฉลี่ยปีนี้การขายถ่านหินของเหมือง LHI อยู่ที่ 29 เหรียญสหรัฐ/ตัน เหมือง SGP ที่ 36 เหรียญสหรัฐ/ตัน ก็คาดว่าจะทำให้กำไรเติบโตก้าวกระโดดในครึ่งแรกปี 60 ส่วนแนวโน้มครึ่งหลังปี 60 ไม่คิดว่าราคาถ่านหินจะยืนระดับสูงได้
"Performance เหมืองถ่านหินในไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ปี 60 น่าจะดีเพราะอัตรากำไรขั้นต้นน่าจะดีจากราคาขายถ่านหินที่สูงขึ้น ที่มองราคาถ่านน่าจะยังปรับขึ้นได้ เพราะตอนนี้เหมืองในอินโดฯปิดไปแล้ว และเหมืองเล็ก ๆ ที่ปิดก็ยังไม่กลับมา"นายสีหศักดิ์ กล่าว
นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า แนวโน้มราคาถ่านหินน่าจะเคลื่อนไหวอยู่บริเวณ 70-80 เหรียญสหรัฐ/ตัน หากพิจารณาถึงแนวโน้มไปถึงไตรมาส 4/60 เชื่อว่าไม่น่าจะได้เห็นระดับราคา 90-100 เหรียญสหรัฐ/ตัน โดยความต้องการใช้ถ่านหินตอนนี้ฟื้นตัวขึ้น จนทำให้ปริมาณสินค้าในช่วงเดือนธ.ค.ขาดแคลน ขณะที่ปริมาณการผลิตลดลงไปจากการที่เหมืองขนาดเล็กในอินโดนีเซียปิดการผลิต ส่วนเหมืองขนาดใหญ่ติดโควตาการผลิต หลังจากที่รัฐบาลอินโดนีเซียไม่ต้องการให้เพิ่มปริมาณการผลิตออกมามาก ประกอบกับปีนี้อินโดนีเซียไม่มีภาวะภัยแล้ง และมีฝนตกตลอดทำให้การผลิตถ่านหินทำได้ยาก อย่างไรก็ตามมองราคาถ่านหินน่าจะเริ่มปรับลงช่วงคริสมาสต์ แต่คงจะปรับลงไม่มากนัก
"ราคาตลาดที่ผ่านมาแตะ 100 เหรียญ/ตันไปแล้ว เพราะเป็นช่วงขาขึ้น มองว่าราคาน่าจะอยู่แถว 70-80 เหรียญ ถ้าดูแนวโน้มไปถึงไตรมาส 4/60 ไม่น่าจะสูงกว่านี้ ไม่คิดว่าจะได้เห็น 90-100 เหรียญ อย่างถ่านหินที่มีคุณภาพค่าความร้อนเฉลี่ย 5,000 กิโลแคลอรี่/กิโลกรัม เราขาย 37 เหรียญ/ตัน แต่ราคาตลาดขายอยู่ 69 เหรียญ ส่วนถ่าน 3,800 ขายอยู่ 22-23 เหรียญ ขณะที่ราคาตลาดอยู่ที่ 40 เหรียญ"นายสีหศักดิ์ กล่าว
นายสีหศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้าแผนการลงทุนใหม่ในธุรกิจไฟฟ้าจากถ่านหิน ในประเทศอินโดนีเซีย ขณะนี้ได้ข้อสรุปแล้วที่จะลงทุนขนาด 200 เมกะวัตต์ (MW) ด้วยเงินลงทุนราว 300 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเบื้องต้นบริษัทถือหุ้น 70-80% และพันธมิตรท้องถิ่นเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งอีก 20-30% ซึ่งในส่วนการถือหุ้นของบริษัทก็จะหาพันธมิตรไทยที่มีประสบการณ์เข้ามาร่วมลงทุนด้วย ซึ่งธุรกิจโรงไฟฟ้าคาดว่าจะเห็นการสร้างรายได้กลับเข้ามาในปี 64 หลังจากต้องใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี
"โรงไฟฟ้าถ่านหินเดินหน้าต่อ ซึ่งบริษัทได้จัดตั้งบริษัท ลานนาพาวเวอร์เจ็นเนอร์เรชั่น จำกัด เราตั้งออฟฟิศขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้ว location เราได้เปรียบ"นายสีหศักดิ์ กล่าว
นายสีหศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับธุรกิจเอทานอล ปีนี้คาดว่าราคาขายเฉลี่ยลดลงตามราคาน้ำมันดิบปรับลง โดยงวด 9 เดือนแรกปีนี้ ราคาขายเฉลี่ยที่ 22.46 บาท/ลิตร เทียบงวดเดียวกันปีก่อนที่อยู่ระดับ 25 บาท/ลิตร ส่วนแนวโน้มปี 60 บริษัทคาดว่าจะใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเอทานอลเพราะราคาถูก ขณะที่ราคาโมลาส ที่เป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล มีราคาแพงขึ้น โดยปัจจุบันราคาโมลาสอยู่ที่ 5,000 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจาก 4,400 บาท/ตันในปี 58 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต โดยปีหน้าหากใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบจะทำให้ต้นทุนถูกลง เพราะขณะนี้ราคามันสำปะหลังอยู่ที่ 1.10 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ราคาขายเอทานอลปีนี้เฉลี่ยที่ 22 บาท/ลิตร