ขณะที่ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนว่า ปตท.จะมองหาโอกาสพัฒนาโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในพื้นที่ใหม่ของเวียดนามอีกหรือไม่ ซึ่งจะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม ความจำเป็น และความมีเหตุมีผลด้วย
"ล่าสุดทาง IRPC ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ศึกษาโครงการนี้ ได้ไปหารือกับทางฝั่งราชการของเวียดนาม ซึ่งได้รับแจ้งว่าพื้นที่นั้นได้สร้างเป็นรีสอร์ท การจะเข้าไปทำอุตสาหกรรมในบริเวณใกล้เคียงคงจะไม่เหมาะ ตอนนี้ก็รอทางเวียดนามแจ้งกลับมาอย่างเป็นทางการว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าไม่ส่งเสริมก็ไม่ทำ เพราะวันนี้มีการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแล้ว การศึกษาไม่ได้ต้องลงทุนทุกโครงการ ต้องดูความเหมาะสม จำเป็น มีเหตุผลหรือไม่ ถ้าเกินตัวก็ไม่ทำ หรืออาจจะทำในไทยก็ได้"นายเทวินทร์ กล่าว
อนึ่ง ปตท.ได้ศึกษาโครงการลงทุนตั้งโรงกลั่นและปิโตรคอมเพล็กซ์ในเวียดนาม มูลค่า 1.8-2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งโครงการนี้ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลกลางของเวียดนามตั้งแต่ปลายปี 57 เดิมจะเป็นการร่วมทุนกับบริษัท ซาอุดิอารัมโก (Saudi Aramco) บริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดิอาระเบีย แต่ต่อมาทางซาอุดิอารัมโกได้ถอนตัวออกไป
จากนั้น กลุ่ม ปตท.ได้มอบหมายให้ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) ศึกษาโครงการดังกล่าวต่อไป ทั้งการหาพันธมิตรใหม่และแผนการลงทุน ต่อมา IRPC ได้ปรับลดขนาดการลงทุนเหลือ 1-1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยปรับลดขนาดโรงกลั่นน้ำมันลง เพื่อเน้นเป็นวัตถุดิบป้อนผลิตปิโตรเคมีเป็นหลัก หลังมาร์จิ้นธุรกิจโรงกลั่นยังไม่ดี
นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ IRPC กล่าววา ขณะนี้ทางกลุ่ม ปตท.อยู่ระหว่างรอหนังสือจากทางเวียดนามส่งกลับมาอย่างเป็นทางการว่าจะให้การส่งเสริมโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในจังหวัด Binh Dinh หรือไม่ แต่เบื้องต้นหากทางเวียดนามไม่ส่งเสริมแล้ว กลุ่มปตท.ก็มีแนวทางที่จะไปร่วมมือกับผู้ประกอบการรายอื่นที่ได้รับอนุญาตทำโครงการปิโตรเคมีในรูปแบบเดียวกันและมีผลการศึกษาโครงการแล้ว ซึ่งน่าจะทำให้เกิดโครงการได้รวดเร็วขึ้นกว่าการที่กลุ่ม ปตท.จะเริ่มศึกษาพื้นที่ใหม่ที่มีขั้นตอนยุ่งยากมากกว่า โดยคาดว่าจะสรุปได้ 2-3 เดือน
"แนวทางหนึ่งเราก็จะไปร่วมกับคนที่ study แล้ว เพราะในเวียดนามมีหลายโครงการที่ทำแบบนี้ เราก็อาจจะเข้าไปเป็น partner เข้าไปร่วมพัฒนา ซึ่งเร็วกว่าเราจะศึกษาพื้นที่ใหม่เองซึ่งมีขั้นตอนที่ยุ่งยากมากกว่า หลายโครงการที่อาจจะได้รับ work permit แล้วเราก็จะพูดคุยกัน เป็น location ที่มีการศึกษามาระยะหนึ่งแล้ว"นายสุกฤตย์ กล่าว
นายสุกฤตย์ กล่าวอีกว่า ส่วนการจะดำเนินโครงการดังกล่าวในไทยเห็นว่าอาจจะค่อนข้างยาก เพราะปัจจุบันไทยมีกำลังการกลั่นน้ำมันมากกว่าความต้องการใช้ ขณะที่บมจ.ไทยออยล์ (TOP) ยังมีแผนการขยายกำลังกลั่นในอนาคต แต่หากจะเป็นการขยายเฉพาะโครงการปิโตรเคมีในไทยน่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่า ซึ่งขณะนี้บริษัทก็ให้ความสนใจลงทุนในโครงการผลิตพาราไซลีน (PX) ด้วยเช่นกัน