(เพิ่มเติม) AMA ปิดท้ายโรดโชว์ กทม.ลุ้นเข้า mai ทันปีนี้ขยายกองเรือ ตั้งเป้าปี 60 รักษาระดับอัตรากำไร

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 25, 2016 14:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางศรัณยา กระแสเศียร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซจแคปปิตอล จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ บมจ. อาม่า มารีน (AMA) เปิดเผยว่า ทีมผู้บริหารของ AMA ทีมที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหลักทรัพย์ ได้เดินสายนำเสนอข้อมูลแก่นักลงทุน และแนะนำรายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ของ AMA ให้แก่นักลงทุนในกรุงเทพมหานคร โดยคาดหวังจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ได้ทันภายในปีนี้

AMA มีทุนจดทะเบียนเท่ากับ 215.80 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 431.60 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท โดยทุนเรียกชำระแล้วเท่ากับ 161.80 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 323.60 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท โดยที่จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 108.00 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท หรือ คิดเป็น 25.02% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้

วัตถุประสงค์ในการระดมทุนเพื่อลงทุนขยายกองเรือบรรทุกน้ำมันและสารเคมี รวมถึงขยายกองรถบรรทุกน้ำมัน และสารเคมี เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งสินค้าเหลวทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ

นายพิศาล รัชกิจประการ กรรมการผู้จัดการ AMA กล่าวว่า บริษัทดำเนินธุรกิจด้านโลจิสติกส์ (Logistic) ให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือ และรถ ทั้งใน และต่างประเทศ โดยในธุรกิจขนส่งสินค้าทางเรือ บริษัทเน้นการให้บริการขนส่งสินค้าเหลว (Liquid Product) ได้แก่ ผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช (Vegetable Oil Product) เป็นหลัก เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว น้ำมันถั่วเหลือง โดยใช้เรือบรรทุกน้ำมันและสารเคมี (Oil and Chemical Tanker) ที่มีน้ำหนักบรรทุกประมาณ 3,000 ถึง 13,000 เมตริกตัน เส้นทางให้บริการหลักในการขนส่งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออก

ส่วนในธุรกิจขนส่งทางรถ บริษัทให้บริการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและB100 โดยใช้รถบรรทุกน้ำมันที่มีปริมาณบรรทุก 45,000 ลิตร เส้นทางให้บริการหลักในการขนส่งอยู่ภายในประเทศ โดย ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2559 บริษัทมีเรือบรรทุกน้ำมันและสารเคมี จำนวน 8 ลำ มีน้ำหนักบรรทุกรวมทั้งสิ้น 46,661 เมตริกตัน และมีรถบรรทุกน้ำมัน จำนวน 95 คัน มีปริมาณการบรรทุกรวมทั้งสิ้น 4.28 ล้านลิตร

ทั้งนี้ผลการดำเนินงาน 3 ปีย้อนหลัง ในปี 56 บริษัทมีรายได้รวมเท่ากับ 426.57 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 20.39 ล้านบาท ในปี 57 มีรายได้รวมเท่ากับ 510.46 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 85.40 ล้านบาท ในปี 58 มีรายได้รวมเท่ากับ 643.18 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 130.12 ล้านบาท

ขณะที่ผลการดำเนินงานใน 9 เดือนแรกปี 59 บริษัทมีรายได้รวมเท่ากับ 677.96 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 100.52 ล้านบาท

นายพิศาล เปิดเผยว่า บริษัทฯตั้งเป้าปี 60 รักษาอัตรากำไรสุทธิอยูที่ 15-20% หลังจาก 9 เดือนปี 59 อยู่ที่ 14.8% ซึ่งปรับตัวลดลงจากช่วงปกติที่อยู่ใกล้เคียง 20% ซึ่งเป็นผลมาจากปีนี้บริษัทฯลงทุนรองรับการขยายตัวในปี 60 ไม่ว่าจะเป็นเพิ่มพื้นที่ออฟฟิศ และเพิ่มทีมผู้บริหาร ในขณะเดียวกันยังมีค่าใช้จ่ายในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ส่วนอัตรากำไรขั้นต้นบริษัทฯยังคงบริหารจัดการได้ค่อนข้างดี โดยยังรักษาให้อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 30% โดยในช่วง 9 เดือนแรกที่ผ่านมา บริษัทฯมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 30.3%

"9เดือนแรกของปีนี้เราเห็นอัตรากำไรสุทธิลงมาอยู่ที่ 14.8% ซึ่งเป็นผลจากค่าใช้จ่ายต่างๆที่เพิ่มขึ้น เพื่อที่จะรองรับการเติบโตในปีหน้า ซึ่งหลังจากปีนี้รายจ่ายเหล่านี้คงจะไม่มีอีก ซึ่งการเติบโตที่เพิ่มขึ้นก็จะช่วยให้บริษัทฯมีอัตรากำไรสุทธิกลับมาอยู่ในระดับปกติที่ช่วงใกล้เคียงกับ 20% ขณะที่รายได้ปี 60 เราก็เชื่อว่าจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปีนี้ โดยในช่วง 3 ปี (56-85) ย้อนหลังรายได้ของบริษัทฯมีการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 23% ขณะที่ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมารายได้เติบโตแล้ว 50% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสัดส่วนรายได้มาจากเรือ 79% และจากรถ 21%"นายพิศาล กล่าว

หลังจากบริษัทระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์แล้ว บริษัทมีแผนจะเพิ่มเรือใหม่อีก 2 ลำ ขนาด 13,000 เดทเวทตันต่อลำ ช่วงไตรมาส 1/60 มูลค่าราว 22-24 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยปัจจุบันบริษัทฯมีกองเรือทั้งหมด 8 ลำ ขนาดบรรทุกรวมอยู่ที่ 46,661 เดทเวทตัน พร้อมกันนี้ยังเตรียมขยายกองรถบรรทุกอีก 80-100 คัน ในปี 60-61 จาก ณ สิ้นปี 59 จะอยู่ที่ราว 100 คัน

จุดเด่นของบริษัทคือเป็นผู้นำธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันปาล์มในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีความสามารถในการให้บริการเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มคู่แข่งในประเทศไทย และเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่ธุรกิจขนส่งทางรถเองบริษัทฯมีพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง การเติบโตของพันธมิตรของบริษัทฯ ยังเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตของธุรกิจขนส่งทางรถของบริษัทฯ ซึ่งบริษัทฯมีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ การบริหารการขนส่งแบบ Backhaul ช่วยให้บริษัทฯบริหารการเดินรถได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการวิ่งรถกลับเที่ยวเหล่า สามารถสร้างรายได้และกำไรเพิ่มเติมให้กับบริษัทฯ

"เรายังคงการเติบโตตามการเติบโตของพันธมิตรที่เป็นลูกค้าของเรา ซึ่งมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งลูกค้าทางเรือ และลูกค้าทางรถ ซึ่งหลังจากนี้เราก็จะมีการขยายทั้งเรือ และรถ เพื่อที่จะรองรับการเติบโตของลูกค้าเรา นอกจากนี้เรายังคงมองหาและศึกษาธุรกิจด้านโลจิสติกส์ใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะเข้ามาเสริมความเข้มแข็งของบริษัทฯ"นายพิศาล กล่าว

นางสาวพัชพร สรรคบุรานุรักษ์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหลักทรัพย์ AMA กล่าวว่า นักลงทุนในจังหวัดกรุงเทพมหานคร มีกระแสตอบรับที่ดี โดยให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังการนำเสนอข้อมูลในครั้งนี้กว่า 150 คน เนื่องจากทีมงานผู้บริหารของ AMA ที่มีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ ในการเป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าเหลวทางเรือ และให้บริการขนส่งสินค้าเหลวทางรถ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีโอกาสขยายตัวตามความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

“นักลงทุนกรุงเทพมหานคร ให้การตอบรับที่ดีกับ AMA เนื่องจากเป็นบริษัทฯที่มีศักยภาพในการเติบโตในอนาคต ซึ่งหลังจากนักลงทุนได้เห็นถึงลักษณะของการประกอบธุรกิจ และจุดเด่นของ AMA รวมถึงความสามารถในการดำเนินธุรกิจ และวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ทำให้เชื่อว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีในการเปิดจองซื้อหุ้นต่อไป" นางสาวพัชพรกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ