โบรกเกอร์ประสานเสียง แนะ"ซื้อ"หุ้นบมจ.ปตท.(PTT) หลังมองบวกกรณีที่จะแยกธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก ออกมาอยู่ภายใต้ชื่อบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (PTTOR) ก่อนส่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในช่วงครึ่งแรกของปี 61 ลดสัดส่วนการถือหุ้นเหลือในช่วง 45-50% จากเดิม 100% ซึ่งนอกเหนือจากจะช่วยลดกระแสต่อต้านจากภาคประชาชนจากการดำเนินธุรกิจที่แปรสภาพเป็นเอกชน ยังจะสามารถต่อยอดการเติบโตของธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน (Non-Oil) ที่มีมาร์จิ้นสูง ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าของ PTT และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของพอร์ตธุรกิจ
ขณะที่มองว่าการนำ PTTOR เข้าตลาดหุ้นจะช่วยสร้าง upside ให้กับ PTT ราว 20-50 บาท/หุ้น แต่การดำเนินการคงต้องใช้ระยะเวลาอีกนาน ทำให้ตลาดอาจจะไม่รวมปัจจัยนี้เข้าไปในระยะสั้น
อย่างไรก็ตาม ด้วยธุรกิจหลักที่ยังมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่องทั้งธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมี ตลอดจนยังมีโอกาสบันทึกกำไรพิเศษจากการขายสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจปิโตรเคมีให้กับ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ในปี 60 ก็จะเป็น upside ต่อกำไรของ PTT ในปีหน้าด้วย
ราคาหุ้น PTT อยู่ที่ 348 บาท เมื่อเวลา 15.06 น.ลดลง 1.00 บาท (-0.29%) จากราคาปิดวานนี้
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ซื้อ 402 เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ ซื้อ 395 ดีบีเอส (ประเทศไทย) ซื้อ 370 เอเซีย พลัส ซื้อ 400 โกลเบล็ก ซื้อ 371 แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซื้อ 420 เคทีบี (ประเทศไทย) ซื้อ 430 กสิกรไทย ซื้อ 371
นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า การปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งนี้ PTT จะโอนสินทรัพย์ซึ่งมีมูลค่าสุทธิ 2.93 หมื่นล้านบาทให้กับ PTTOR ซึ่งประกอบด้วยสถานีบริการน้ำมันในไทยและต่างประเทศ ,ยอดขายน้ำมันและปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ ,ธุรกิจอื่นนอกเหนือจากน้ำมันในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ คาเฟ่ อเมซอน ร้านจิฟฟี่ ร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น รวมถึงเช่าและแฟรนไชส์แบรนด์ ,ธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นและศูนย์บริการ และท่อส่งน้ำมัน
ผลกำไรที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจค้าปลีกเป็นปัจจัยที่จะขับเคลื่อนการเติบโตของกลุ่ม PTT ต่อไป โดยธุรกิจค้าปลีกทั้งร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน ,จิฟฟี่ ,เซเว่น-อีเลฟเว่น รวมถึงกำไรจากการให้เช่าพื้นที่ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ทำกำไรสุทธิสูงกว่า 1.36 หมื่นล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้
ขณะที่คาดว่าการจดทะเบียนเข้าตลาดหุ้นของ PTTOR จะอยู่ในช่วงภายในปี 60 หรือครึ่งแรกปี 61 จะช่วยปลดล็อคมูลค่าเพิ่มเติม หรืออาจจะสูงถึง 2.25 แสนล้านบาท อิง P/E ที่ 12.5 เท่า เทียบเท่าว่า PTT จะสามารถระดมเงินสดจากการขายหุ้น 50% ใน PTTOR รวม 1.12 แสนล้านบาท หรือ 39.4 บาท/หุ้น
"การแยกหน่วยธุรกิจและจดทะเบียน PTTOR จะเป็นการสร้าง value เพิ่มให้กับธุรกิจของ PTT และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของพอร์ตธุรกิจ เนื่องจากธุรกิจก๊าซฯของ PTT มีลักษณะเป็นสาธารณูปโภค ประกอบด้วย LNG Terminal และค่าผ่านท่อ ซึ่งเรามองว่าจะทำให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น เพราะนอกจากจะช่วยให้ผลกำไรเติบโตแล้ว ยังช่วยให้กำไรมีเสถียรภาพมากขึ้นด้วยส่วนแบ่งกำไรที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจ LNG Terminal และท่อส่งก๊าซฯ"นายกิตติชาญ กล่าว
นายกิติชาญ กล่าวอีกว่า ภายใต้สมมติฐานที่ PTT ขายหุ้น 50% ใน PTTOR ก็คาดว่าจะทำให้มูลค่าหุ้น PTT เพิ่มขึ้นอีก 20-50 บาท/หุ้น อิง P/E ล่วงหน้า 20 เท่า เพิ่มขึ้นจาก 12.5 เท่า แต่ยังมีส่วนลดเมื่อเทียบกับ P/E เฉลี่ยล่วงหน้า 20-30 เท่าที่ใช้ในการประเมินมูลค่าการจดทะเบียนบริษัทที่ประกอบธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน และธุรกิจให้เช่าพื้นที่
ขณะที่ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า มีมุมมองเชิงบวกจากการปรับโครงสร้างธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก โดยเตรียมนำ PTTOR เข้าตลาดหุ้นผ่านกระบวนการเสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดกระแสต่อต้านจากภาคประชาชนจากการดำเนินธุรกิจของ PTTOR ที่จะแปรสภาพเป็นบริษัทเอกชน สามารถต่อยอดการเติบโตไปในธุรกิจ Non-Oil ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้สะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ยังอาจนำไปสู่การปลดล็อคมูลค่าที่ซ่อนอยู่ใน PTT เนื่องจากธุรกิจการตลาดน้ำมันและ Non-Oil มีลักษณะที่ใกล้เคียงกับธุรกิจค้าปลีกที่ซื้อขาย Premium จากกลุ่มพลังงาน
ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างครั้งนี้จะต้องได้รับอนุมัติจากหน่วยงานภาครัฐและผู้ถือหุ้น ซึ่งต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ทำให้คาดว่า PTT จะดำเนินการกระบวนการเพื่อนำ PTTOR เข้าตลาดหุ้นได้อย่างเร็วในช่วงครึ่งหลังปี 60 ขณะที่การโอนสินทรัพย์ให้กับ PTTOR จะอยู่บนพื้นฐานของราคาตลาด
นอกจากนั้น หากมีการนำหุ้นเดิมเสนอขายพร้อม IPO อาจทำให้ PTT มีการบันทึกกำไรพิเศษ ซึ่งประเมินเบื้องต้นโดยใช้ค่าต่ำของกรอบล่าง Valuation 2 วิธี ได้แก่ P/E 15 เท่า และ EV/EBITDA 12 เท่า จะมี upside จากราคาเป้าหมายปัจจุบันประมาณ 30 บาท หรือ 8% จากราคาเป้าหมายปี 60 ที่ระดับ 395 บาท
ในด้านผลประกอบการปกติของ PTT ในไตรมาส 4/59 คาดว่าจะทรงตัวจากไตรมาสก่อน แม้ผลประกอบการของบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) มีแนวโน้มลดลง กดดันจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้าย และราคาก๊าซฯที่ปรับลดลง แต่ PTT ได้ประโยชน์ต้นทุนก๊าซฯที่ลดลง นอกจากนั้น ส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจกลั่นและปิโตรเคมีคาดว่าปรับเพิ่มขึ้นตามค่าการกลั่นและการเดินเครื่องเต็มที่ของโรงงานโอเลฟินส์ของบมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC)
โดยยังคงมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มกำไรจากการดำเนินงานของ PTT ที่ได้ปัจจัยบวกจากต้นทุนก๊าซฯ ทยอยปรับลดลง ขณะที่ราคาน้ำมันมีแนวโน้มฟื้นตัวในปี 60 จากภาวะตลาดที่สมดุลมากขึ้น
บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์โดยมองว่าการปรับโครงสร้างครั้งนี้เป็นบวกกับ PTT ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นในการขยายธุรกิจค้าปลีกน้ำมันและธุรกิจอื่น ๆ ได้มากขึ้น และ PTT ก็ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน PTTOR ขณะที่สินทรัพย์ของ PTTOR คิดเป็นประมาณ 4% ของกลุ่ม PTT โดย ณ สิ้นเดือน ก.ย.59 มีสินทรัพย์ 8.64 หมื่นล้านบาท หรือราว 4% ของสินทรัพย์ทั้งหมด ส่วนรายได้และกำไรคิดเป็น 28% และ 18% ของ PTT ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการปรับโครงสร้างต้องใช้เวลา ซึ่งคาดว่าอย่างน้อย 9 เดือนจึงจะดำเนินการแล้วเสร็จ ดังนั้น การนำ PTTOR เข้าจดทะเบียนในตลาดฯน่าจะเป็นช่วงไตรมาส 1/61 และการโอนสินทรัพย์เข้า PTTOR จะเป็นการซื้อขายตามราคาตลาด ซึ่ง PTT จะมีกำไร แต่ก็ต้องจ่ายภาษีรายได้บนกำไรจากการขายสินทรัพย์ ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าเป็นเท่าใด จึงยังไม่ได้สะท้อนไว้ในประมาณการ
ส่วน บทวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย ระบุว่า PTT จะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดจากสภาวะที่ราคาต้นทุนก๊าซปฯรับลงแต่ราคาขายผลิตภัณฑ์สูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ ซึ่งสภาวะแวดล้อมนี้คาดว่าจะอยู่ต่อไปจนถึงไตรมาส 2/60 เป็นอย่างน้อย นอกจากนี้คาดว่า PTT จะบันทึกกำไรพิเศษจากการขายสินทรัพย์ที่เกี่ยวของกับปิโตรเคมีให้ PTTGC ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในครึ่งแรกปีหน้า ซึ่งจะสร้าง upside ต่อประมาณการกำไรขึ้นไปอีก