นางปัทมา วงษ์ถ้วยทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โซลาร์ตรอน (SOLAR) กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ปี 60 จะสูงกว่าราว 1.5 พันล้านบาทในปีนี้ หลังจะรับรู้รายได้จากโครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ที่บริษัทเป็นผู้ดำเนินการรวม 9 เมกะวัตต์ (MW) และจ่ายไฟฟ้าภายในสิ้นปีนี้ รวมถึงมีรายได้จากธุรกิจจัดการพลังงาน (ESCO) ที่ดำเนินการให้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งจะเป็นรายได้ประจำเข้ามา นอกเหนือจากรายได้จากธุรกิจออกแบบติดตั้งก่อสร้างผลิตไฟฟ้า (EPC)และการจำหน่ายแผงโซลาร์เซลล์
ขณะที่ยังมีแผนจะเข้าร่วมเสนองานร่วมกับหน่วยงานรัฐ เพื่อของบประมาณรายจ่ายกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานประจำปีงบประมาณ 2560 ซึ่งมีวงเงินราว 1 หมื่นล้านบาท และต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งทำให้ตลาดภายในประเทศยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก
"มีรายได้ที่เป็นรายได้ fix จากโซลาร์ฟาร์มหรือของธรรมศาสตร์อยู่ระดับหนึ่ง และมา plus กับโปรเจคท์ต่าง ๆ ขณะที่ปี 59 เราไม่มีรายได้ fix เราเป็นการลงทุน แต่จะไปออกดอกผลในเดือนมกราคม...ตอนนี้รายได้ 9 เดือนเราก็ทำได้มากกว่าที่แล้ว ทั้งปีนี้ก็คงไม่พลาดเป้า"นางปัทมา กล่าว
อนึ่ง เมื่อปีที่แล้ว SOLAR มีผลขาดทุนสุทธิ 60 ล้านบาท และมีรายได้รวมราว 700 ล้านบาท ขณะที่ในงวด 9 เดือนแรกปีนี้สามารถทำกำไรสุทธิได้แล้ว 3.26 ล้านบาท และมีรายได้ 1.25 พันล้านบาท
นางปัทมา กล่าวว่า รายได้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปีนี้มาที่ราว 1.5 พันล้านบาทนั้น มาจากการเพิ่มขึ้นของธุรกิจผลิตโซลาร์เซลล์ และงาน EPC ที่มีสัดส่วนรายได้มากกว่า 50% โดยในปีนี้บริษัทได้รับงานติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟ) ให้กับเทสโก้ โลตัส ในไทยจำนวน 13 สาขา รวมราว 11 เมกะวัตต์ซึ่งจะเริ่มขนานไฟสาขาสุดท้ายในปลายเดือนพ.ย.นี้ และงานจัดซื้อระบบผลิตไฟฟ้าและสูบน้ำด้วยเซลล์แสงอาทิตย์แบบเคลื่อนที่ ให้กับกรมการพลังงานทหาร มูลค่า 240 ล้านบาท (PV Mobile)
นอกจากนี้ยังรับงาน ESCO ระบบผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟ ให้กลุ่มมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวม 15 MW ซึ่งขณะนี้ติดตั้งแล้ว 5 MW และจะทยอยติดตั้งให้แล้วเสร็จภายในปี 60
ขณะที่บริษัทยังอยู่ระหว่างการเข้าประมูลงานเพิ่มเติม โดยในส่วนงาน EPC นั้น บริษัทมีแผนจะเข้าประมูลงานติดตั้งโซลาร์รูฟของเทสโก้ โลตัส อีก 32 สาขา รวม 20 MW ซึ่งคาดว่าจะเปิดประมูลและรู้ผลในไตรมาส 1/60 และยังมองโอกาสที่เทสโก้ โลตัส จะขยายการติดตั้งโซลาร์รูฟเพิ่มเติมในสาขาที่เหลืออีกในระยะต่อไป รวมถึงยังได้เสนองานโซลาร์รูฟของร้านค้าวัสดุก่อสร้าง 11 สาขา ซึ่งจะรู้ผลในเดือนธ.ค.นี้ด้วย
นอกจากนี้การที่รัฐบาลมีงบประมาณรายจ่ายกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในวงเงินราว 1 หมื่นล้านบาท/ปี ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปีตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 นั้น ก็จะทำให้บริษัทมีโอกาสที่จะเสนองานโครงการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในงานโซลาร์เซลล์สำหรับสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่
ล่าสุด บริษัทได้เสนอโครงการไป 6 โครงการ มีมูลค่าราว 30 ล้านบาท/โครงการ คาดว่าจะรู้ผลในเดือนธ.ค.นี้ โดยเบื้องต้นทราบว่าได้ 3 โครงการ มูลค่ารวม 90 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการเสาไฟส่องสว่าง โครงการโซลาร์เซลล์สำหรับแบตเตอรี่ (power supply) ซึ่งจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 4/59 ต่อเนื่องถึงต้นปี 60
ส่วนงาน ESCO นอกเหนือจากความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว บริษัทยังได้เจรจาความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นต้น
ด้านการผลิตโซลาร์เซลล์ในปี 60 คาดว่าจะผลิตเต็มกำลังที่ 180 MW/ปี จากปัจจุบัน 60 MW/ปี หลังจากไลน์ 2 จะเปิดดำเนินการในเดือนธ.ค.นี้
ขณะที่บริษัทยังคงเดินหน้าประมูลงานโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ระยะ 2 ขนาดรวม 520 MW โดยเบื้องต้นเห็นว่ากลุ่มบริษัทมีศักยภาพดำเนินการได้อีก 240 MW จากปัจจุบันที่ได้โครงการในระยะแรกไปแล้ว 9 MW
ทั้งนี้ จากมูลค่างานในประเทศที่มีโอกาสมากขึ้นทำให้บริษัทจะลดสัดส่วนการส่งออกไปต่างประเทศลงจากเดิมที่มีปริมาณส่งออก 10-20% อย่างไรก็ตามบริษัทยังมองโอกาสในต่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนด้วยเช่นกัน เช่น งาน EPC เป็นต้น