ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) แถลงแผนธุรกิจปี 60 โดยตั้งเป้าสินเชื่อขยายตัว 4-6% ภายใต้คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ไทยในปีหน้าจะขยายตัว 3.3% ขณะที่ตั้งเป้าควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ก่อนการตั้งสำรอง (Gross NPL) ให้มีสัดส่วนไม่เกิน 3.3-3.4% ของสินเชื่อรวม พร้อมหาแนวทางการเปิดสาขาในเมียนมา เวียดนาม และอินโดนีเซีย ภายในปี 61
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ KBANK เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อปี 60 เติบโต 4-6% ภายใต้คาดการณ์ GDP ขยายตัวได้ 3.3% จากปัจจัยหนุนจากการใช้จ่ายและการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัว 8.5% ส่วนการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวได้ 2.8% ส่วนตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะยังเติบโตได้ 4.8% ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ดีแม้ว่าจะชะลอตัวลงจากปีนี้
ขณะที่การส่งออกไทยในปีหน้าคาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ 0.8% แต่ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจต่างประเทศ เช่น ผลกระทบจาก Brexit , ความเปราะบางในยุโรป, การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่จะกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย และทำให้ค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่า, เศรษฐกิจจีนที่อาจยังคงชะลอตัว ส่วนปัจจัยในประเทศมาจากปัญหาสะสมของหนี้ครัวเรือนที่จำกัดอำนาจการซื้อของภาคครัวเรือน ทำให้การใช้จ่ายภาคเอกชนฟื้นตัวในกรอบจำกัด คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนปีหน้าจะเติบโต 2.2% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.8%
นางสาวขัตติยา กล่าวอีกว่า ในด้านการควบคุมคุณภาพหนี้ ธนาคารมีเป้าหมายจะควบคุมอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวม (Gross NPL Ratio) ในปี 60 อยู่ที่ 3.3-3.4%
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดทิศทางของ 4 สายงานธุรกิจ เพื่อสร้างประสบการณ์บริการที่เป็นเลิศทั้งลูกค้าและธุรกิจ โดยแบ่งเป็น 4 สายงานธุรกิจ โดยทิศทางธุรกิจกลุ่มลูกค้าบุคคล ธนาคารจะมุ่งเป็นธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อยที่ได้มาตรฐานระดับโลกและยกระดับคุณภาพการเป็นที่ปรึกษาและการบริการผ่านสาขาเทียบเท่ามาตรฐานโลก โดยมุ่งเน้นพัฒนาช่องทางธนาคารบนโทรศัพท์มือถือเพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้า จากปี 59 ที่มีฐานลูกค้าแอพพลิเคชั่นโมบายแบงกิ้งประมาณ 5 ล้านราย เป้าหมายปี 60 ต้องการเพิ่มฐานลูกค้าดังกล่าวเป็น 7.1 ล้านราย พร้อมตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 5-7% และมีฐานลูกค้าบุคคลเพิ่มเป็น 14.1 ล้านราย หรือคิดเป็นการเติบโต 5-6%
ส่วนทิศทางธุรกิจกลุ่มธุรกิจลูกค้าผู้ประกอบการ (SME) โดยธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 4-6% โดยเน้นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตของประเทศเพื่อนบ้านและการค้าชายแดน เช่น ก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง ฮาร์ดแวร์ โดยธนาคารตั้งเป้าหมายที่จะรักษาความเป็นผู้นำและการเป็นธนาคารหลักของกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี
ทิศทางธุรกิจกลุ่มลูกค้าบรรษัท ธนาคารตั้งเป้าการเติบโตสินเชื่อที่ 4-6% โดยมุ่งเน้นการเป็นผู้นำในการให้บริการด้านการระดมทุนที่หลากหลาย ทั้งการออกตราสาร กอง REIT การควบรวมกิจการ (M&A) เพื่อให้ลูกค้าได้ต้นทุนที่ดีที่สุด
และ ทิศทางธุรกิจข้ามประเทศ มุ่งสู่การเป็นธนาคารเพื่อการรับชำระเงินและการลงทุนแห่งภูมิภาค ด้วยการวางโครงสร้างพื้นฐานรองรับการโอนเงินและชำระเงินข้ามประเทศ สกุลเงินท้องถิ่นในภูมิภาคอาเซียน เพื่อสนับสนุนลูกค้าธุรกิจที่ต้องการเข้าไปลงทุนใน CLMVI การจัดตั้งศูนย์ธุรกิจการค้าชายแดนเพื่อสนับสนุนการทำการค้าชายแดน สนับสนุนการระดมทุนเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งโรงไฟฟ้า ถนน และท่าเรือ ในกลุ่มประเทศ CLMV รวมทั้งการควบรวมกิจการ โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทไทยและญี่ปุ่น
ทั้งนี้ ในปี 60 ธนาคารยังเดินหน้าขยายเครือข่ายในต่างประเทศ เช่น การยกระดับเป็นธนาคารท้องถิ่นในประเทศจีน การเพิ่มสาขาแห่งที่ 2 ของธนาคารท้องถิ่นในสปป.ลาว การเพิ่มปริมาณธุรกิจของสาขากรุงพนมเปญ และหาแนวทางเปิดสาขาในเวียดนาม อินโดนีเซีย และเมียนมา ภายในปี 61 "ธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีในปีหน้าคือธุรกิจก่อสร้าง จากบรรยากาศการลงทุนที่ค่อยๆฟื้นตัวและโครงการของรัฐ ธุรกิจยานยนต์ และจากการที่รถคันแรกทยอยสิ้นสุดลงจะเป็นผลดีต่อยอดขายในประเทศ ขณะที่การส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนมีโอกาสฟื้นตัวโดยเฉพาะตลาดอาเซียนและออสเตรเลีย ธุรกิจบริการสุขภาพที่ได้รับอานิสงส์จากกลุ่มลูกค้า Medical Tourism ซึ่งไทยมีความได้เปรียบหลายประเทศในภูมิภาค และธุรกิจท่องเที่ยวที่บางตลาดมีแนวโน้มดีขึ้น เช่น รัสเซียและสแกนดิเนเวีย"นางสาวขัตติยา กล่าว
ในปี 60 ธนาคารได้ตั้งบงบประมาณด้านไอทีประมาณ 10% ของกำไรสุทธิ หรือประมาณ 4 พันล้านบาท และการลงทุนในรูปแบบเวนเจอร์ แคปปิตอล (VC) อีกประมาณ 2% ของกำไรสุทธิหรือ 1 พันล้านบาท เพื่อพัฒนานวตกรรมใหม่ ๆ โดยธนาคารจะขยายการลงทุนในฟินเทคและสตาร์ทอัพผ่าน VC ทั้งการลงทุนโดยตรง (Direct Investment) ในสตาร์ทอัพของไทยและภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารมีส่วนร่วมในการพัฒนานวัตกรรมหรือโมเดลธุรกิจใหม่ และการลงทุนผ่านกองทุนเพื่อการระดมทุน (Fund of Fund) ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารเข้าถึงแนวคิดนวัตกรรมระดับโลกได้อย่างรวดเร็ว