นายอาณัติ ปิ่นรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโสสายงานบัญชีและการเงิน บมจ.อารียา พรอพเพอร์ตี้ (A) กล่าวว่า บริษัทยอมรับว่ารายได้ในปีนี้คงจะทำได้ไม่ถึงเป้าหมายที่ 6,000 ล้านบาท เนื่องจากตั้งแต่เดือน ต.ค.เป็นต้นมาลูกค้าเริ่มชะลอการโอนโครงการ แต่ยอดขายน่าจะทะลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ 6,000 ล้านบาท ซึ่ง 10 เดือนที่ผ่านมาบริษัทฯมียอดขายแล้วราว 6,000 ล้านบาท
ขณะที่กำไรสุทธิปีนี้ยังน่าจะทำสถิติสูงสุดในรอบ 5-6 ปี หลังจาก 9 เดือนแรกของปีนี้มีกำไรสุทธิแล้ว 247.17 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนทั้งปีที่มีกำไร 216.69 ล้านบาท และเทียบย้อนหลังไปอีก 3 ปี โดยในปี 57 มีกำไร 41.27 ล้านบาท ,ปี 56 กำไร 13.87 ล้านบาท และปี 55 กำไร 94.35 ล้านบาท เป็นผลจากการปรับกลยุทธการดำเนินงานและลดต้นทุน เช่น การใช้แผงโซล่าร์เซลเพื่อลดค่าไฟฟ้า รวมถึงใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ที่ผ่านมามีลูกค่าสนใจโครงการของบริษัทฯค่อนข้างมาก
ในปีนี้บริษัทได้เปิดขายโครงการแนวราบไปแล้วทั้งสิ้น 7 โครงการ มูลค่ารวม 3,800 ล้านบาท และในเดือนธ.ค.นี้ เตรียมเปิดขายอีก 1 โครงการ มูลค่า 500-600 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม มองแนวโน้มในไตรมาส 4/59 รายได้และยอดขายน่าจะปรับตัวลดลง เป็นไปตามสถานการณ์ในประเทศที่ส่งผลต่อภาวะอารมณ์ของผู้บริโภค
ปัจจุบัน บริษัทมียอดขายรอโอน (Backlog) อยู่ที่ 2,000 ล้านบาท คาดว่าจะรับรู้รายได้ในไตรมาส 4/59 ราว 1,200 ล้านบาท
นายอาณัติ กล่าวอีกว่า บริษัทยังได้ตั้งเป้าหมายทางธุรกิจที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 60-61 โดยคาดว่าในปี 60 จะมีรายได้สูงขึ้นเป็น 7 พันล้านบาท และยอดขาย 1 หมื่นล้านบาท จากนั้นในปี 61 รายได้จะเพิ่มขึ้นแตะ 1 หมื่นล้านบาทเช่นกัน
แผนงานในปี 60 บริษัทเตรียมเปิดตัวโครงการบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม และคอนโดมิเนียม จำนวน 8 โครงการ มูลค่ารวม 8,900 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการบ้านย่านรังสิต 3 โครงการ , โครงการบ้านย่านบางนา 3 โครงการ ,คอนโดมิเนียมย่านบางนา 1 โครงการ และคอนโดมิเนียม สุขุมวิท 53 อีก 1 โครงการ พร้อมทั้งวางงบซื้อที่ดินไว้ราว 800-1,000 ล้านบาท
นอกจากนั้น บริษัทยังมีโครงการเหลือขาย แบ่งเป็น โครงการแนวราบ มูลค่า 3,500-4,000 ล้านบาท และคอนโดนิเนียมราว 3,500 ล้านบาท
นายอาณัติ กล่าวว่า ภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ในปี 60 น่าจะเติบโตได้เล็กน้อย เนื่อวจากยังมีภาวะโอเวอร์ซัพพลายค่อนข้างมาก แต่บริษัทมั่นใจว่าจะมีการเติบโตที่ดีตามการเปิดโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง แม้ว่ายอดปฎิเสธสินเชื่อ (Reject rate) จะปรับตัวสูงขึ้น โดยปัจจุบันมียอดปฎิเสธสินเชื่ออยู่ที่ 35-40% เป็นไปตามภาวะหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น และการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยังคงเข้มงวด ซึ่งบริษัทก็จะเข้ามาดูแลลูกค้าในการให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด
"ปีหน้าอสังหาริมทรัพย์น่าจะเติบโตดีขึ้นจากปีนี้ แต่ก็ไม่น่าจะโตได้มาก จากโอเวอร์ซัพพลายที่ยังมีอยู่ ขณะที่แนวโน้มของเรายังเติบโตไปได้ ซึ่งเฉลี่ยต่อปีก็เปิดปีละ 10 โครงการ โดยปีหน้าก็เตรียมเปิดตัวโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง และยังมีสต็อกเหลือขายอีกจำนวนมาก ก็น่าจะได้รับความน่าสนใจจากผู้บริโภค"นายอาณัติ กล่าว