GUNKUL ยังมั่นใจกำไรปีนี้ใกล้เคียงปีก่อนแม้รายได้หดหลังงาน EPC ล่าช้า,ตั้งเป้า PPA แตะ 1 พัน MW ปี 63

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 30, 2016 14:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) มั่นใจว่ากำไรสุทธิปีนี้จะทำได้ใกล้เคียงระดับ 685.14 ล้านบาทในปีก่อน แม้รายได้อาจจะทำได้ราว 3 พันล้านบาท ต่ำกว่าระดับ 4.59 พันล้านบาทในปี 58 เนื่องจากงานรับเหมาก่อสร้าง (EPC) ลดลง หลังงานโครงการไฟฟ้าต่าง ๆ ของภาครัฐมีความล่าช้า แต่การรับรู้ผลการดำเนินงานของกำลังการผลิตไฟฟ้าที่มีเข้ามาต่อเนื่องช่วยหนุนกำไรสุทธิในปีนี้

ขณะที่บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 60 เติบโต 20-30% จากปีนี้ หลังจะรับรู้รายได้จากกำลังผลิตไฟฟ้า 176 เมกะวัตต์ (MW) ได้เต็มปี ขณะที่ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่จะเดินเครื่องผลิตในช่วงปลายปีเข้ามาเพิ่มอีก 60 เมกะวัตต์ด้วย ตลอดจนธุรกิจซื้อมาขายไปจะยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ คาดว่าในปี 60 สัดส่วนรายได้จากการธุรกิจซื้อมาขายไป และรับเหมาก่อสร้างจะอยู่ที่ 60% ส่วนรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าจะอยู่ที่ 40% ขณะที่สัดส่วนของกำไรจะอยู่ที่ 50:50

นางสาวโศภชา กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าในปี 63 จะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ในมือแตะ 1,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในโครงการโซลาร์ฟาร์มและพลังงานลม ทั้งหมด 488 เมกะวัตต์ เป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เดินเครื่องแล้ว 176 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างยื่นประมูลสัญญาซื้อขายไฟฟ้าร่วมกับพันธมิตรในประเทศมาเลเซีย กำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 50 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะรู้ผลการประมูลในช่วงไตรมาส 1/60

นอกจากนั้น บริษัทยังเจรจาเพื่อเข้าลงทุนในโครงการโซลาร์ฟาร์มในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มเติมอีก 130 เมกะวัตต์ ตลอดจนมีแผนยื่นประมูลโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ระยะ 2 เพิ่มเติม ไม่น้อยกว่า 170-180 เมกะวัตต์ โดยขณะนี้เจรจาอยู่กับกลุ่มสหกรณ์ 10 ราย กำลังการผลิต 70-80 เมกะวัตต์ และส่วนราชการไม่น้อยกว่า 100 เมกะวัตต์

"เรามีการศึกษาการลงทุนโซลาร์ฟาร์มที่ประเทศมาเลเซีย และที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งจริง ๆ ต้องเรียนว่าเรามีพาร์ทเนอร์ และได้เตรียมตัวยื่นสมัครเข้าไปสักประมาณ 50 เมกะวัตต์ที่มาเลเซีย แต่ก็ยังไม่ได้เป็นผลที่เรียบร้อย โดยราคาที่มาเลย์ต้องใช้ราคา Bidding ซึ่งก็ค่อนข้างยากที่จะเข้าไปทำ ในส่วนของญี่ปุ่นเอง คงเป็นประเทศที่เรามุ่งเน้นที่จะเข้าไปพัฒนา ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเราก็คาดหวังที่จะมีทั้งหมด 200 เมกะวัตต์ปัจจุบันนี้เราทำได้แล้ว และตอนนี้เราก็ได้เจรจาเพิ่มเติมอยู่อีกราว 130 เมกะวัตต์ ซึ่งคงได้เห็นความชัดเจนในไม่ช้า"นางสาวโศภชา กล่าว

นางสาวโศภชา กล่าวอีกว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2559 มีมติอนุมัติให้เข้าทำรายการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ lwakuni City Miwa Town Solar Power Plant เมืองอิวาคุนิ จังหวัดยามางุจิ ประเทศญี่ปุ่น ขนาดกำลังการผลิตตามสัญญาณซื้อขายไฟฟ้า 75 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใน Godo Kaisha East Japan Solar 13 (โครงการ Iwakuni) เมืองอิวาคุนิ จังหวัดยามางุจิ ประเทศญี่ปุ่น มูลค่าการลงทุนรวมของโครงการ 3.13 หมื่นล้านเยน หรือประมาณ 1.08 หมื่นล้านบาท

บริษัทดังกล่าวจะผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับ Chugoku Electric Power ขนาดกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 75.0 เมกะวัตต์ ซึ่งได้รับสัมปทานในการขายไฟฟ้าให้กับ Chugoku Electric Power ในอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed-in Tariff (FiT) หน่วยละ 32 เยน เป็นระยะเวลา 20 ปี ส่งผลทำให้ขณะนี้บริษัทมีโครงการพลังงานงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศญีปุ่นรวมประมาณ 200 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นยังมีมติเห็นชอบให้ออกและเสนอขายหุ้นกู้เพิ่มอีกวงเงิน 3 พันล้านบาท จากวงเงินเดิมไม่เกิน 3 พันล้านบาท รวมเป็นวงเงินใหม่ไม่เกิน 6 พันล้านบาท อายุไม่เกิน 7 ปี เพื่อเป็นการลดภาระต้นทุนทางการเงิน เป็นเงินทุนหมุนเวียนและเงินกู้ระยะยาวสำหรับพัฒนาโครงการปัจจุบันและโครงการใหม่ รวมทั้งรองรับการขยายธุรกิจในอนาคตของบริษัท

สำหรับทิศทางผลประกอบการไตรมาส 4/59 มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากขณะนี้บริษัท มีกำลังการผลิตในส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมเพิ่มขึ้น จากบริษัท พัฒนาพลังงานลม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้ดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ โครงการโรงไฟฟ้าวายุวินด์ฟาร์ม และโครงการโรงไฟฟ้าซับพลูวินด์ฟาร์ม 1-2 ครบทั้ง 60 เมกะวัตต์แล้ว โดยจะเริ่มทยอยรับรายได้ทันทีตั้งแต่ปี 59 ประมาณ 100 ล้านบาท อีกทั้งยังทยอยรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ปัจจุบันจ่ายไฟเข้าระบบแล้วประมาณ 120 เมกะวัตต์ รวมโซลาร์ฟาร์มจาก บริษัท บีเอ็มพี โซล่าร์ จำกัด กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ ด้วย

"เป้าหมายของเราคือ การก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำด้านธุรกิจพลังงานทดแทน รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินทรัพย์และกำไรในอนาคต ดังนั้นเราจึงอยากให้ผู้ถือหุ้นได้เติบโตไปพร้อม ๆ กับบริษัท เพราะปี 2560 รายได้ประมาณ 50% ของกลุ่มบริษัทจะมาจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ทำให้กลุ่มบริษัทก้าวเข้าสู่ธุรกิจโรงไฟฟ้าอย่างเต็มตัว นั่นหมายความว่ารายได้และกำไรของกลุ่มบริษัทจะปรับเพิ่มสูงขึ้นแน่นอนในอนาคต"นางสาวโศภชา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ