ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป ที่ระดับ “BBB" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"
อันดับเครดิตสะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่น่าพอใจ กระแสเงินสดที่มีเสถียรภาพจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัท และแนวโน้มการเติบโตของพลังงานทดแทนเพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนเนื่องจากบริษัทยังเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีผลการดำเนินธุรกิจที่ปรากฏในระยะเวลาอันสั้น รวมถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ในการดำเนินโครงการ และภาระหนี้ที่จะเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการขยายการลงทุนของบริษัท
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทสามารถขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าและรักษาผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยไม่มีต้นทุนทดแทนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะเดียวกันก็สามารถดำเนินงานโรงไฟฟ้าใหม่ได้ตามแผน และยังคาดว่าบริษัทจะสามารถสร้างกระแสเงินสดในระดับสูงได้อย่างสม่ำเสมอและมีผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจ โดยไม่ทำให้โครงสร้างเงินทุนอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ
อันดับเครดิตจะปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทประสบความสำเร็จในการขยายธุรกิจหลักของบริษัทด้วยการสร้างกระแสเงินสดจำนวนมาก แม้ว่าจะต้องเผชิญกับการดำเนินงานที่ซับซ้อนขึ้นและความเสี่ยงจากการดำเนินงานในต่างประเทศ ในทางตรงข้าม อันดับเครดิตจะปรับลดลงหากบริษัทไม่สามารถรักษาผลการดำเนินงานในระดับที่น่าพอใจและสร้างผลงานในธุรกิจให้ปรากฏอย่างต่อเนื่องได้ หรือไม่สามารถสร้างกระแสเงินสดที่เพียงพอ หรือมีโครงสร้างเงินทุนอ่อนแอลงอย่างมาก
บมจ.อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป ก่อตั้งขึ้นในปี 2553 โดยเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ต่อมาในปี 2555 บริษัทได้เป็นบริษัทย่อยของ บมจ.โรงพิมพ์ตะวันออก (EPCO) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ในธุรกิจบริการด้านสิ่งพิมพ์ในประเทศ โดย EPCO ซื้อกิจการของบริษัทมาจาก บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วิศวการ (IFEC)
การที่บริษัทสร้างรายได้อย่างมีนัยสำคัญให้แก่ EPCO ตลอดจนอนาคตที่ดีของธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทำให้บริษัทมีสถานะเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญของ EPCO ในเดือนมกราคม 2559 บริษัทแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน และเปลี่ยนชื่อบริษัทจากเดิม “บริษัท บ่อพลอย โซล่าร์ จำกัด" เป็น “บริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)" หลังจากนั้นบริษัทเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 750 ล้านบาท เพื่อใช้ในการเข้าซื้อบริษัทโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม ณ เดือนสิงหาคม 2559 บริษัทโรงพิมพ์ตะวันออกถือหุ้นของบริษัทลดลงเหลือ 75%
อันดับเครดิตสะท้อนถึงความมีเสถียรภาพของกระแสเงินสดจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัท ซึ่งมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement -- PPA) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในปี 2555 บริษัทได้เริ่มดำเนินงานโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Farm) 2 โครงการแรกในจังหวัดกาญจนบุรี โดยมีขนาดกำลังการผลิตรวม 10 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้ง 2 โครงการเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าได้ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคม 2555 ต่อมาในปี 2556 บริษัทก่อสร้างโซลาร์ฟาร์มเพิ่มขึ้นอีก 1 โครงการในจังหวัดลพบุรีซึ่งมีขนาดกำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ โดยเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2557
ในช่วงปี 2557-2558 บริษัทลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) จำนวน 8 โครงการในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดสมุทรปราการ โดยมีขนาดกำลังการผลิตรวม 1.5 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ โครงการ Solar Farm และ Solar Rooftop ทั้งหมดของบริษัทได้ดำเนินการแล้ว และมีสัญญา PPA กับผู้รับซื้อไฟฟ้าที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ความมีเสถียรภาพของกระแสเงินสดจากโครงการโรงไฟฟ้าส่วนหนึ่งมาจากการมีสัญญารับซื้อไฟฟ้าในราคาที่แน่นอนและมีความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินโดยผู้รับซื้อไฟฟ้าในระดับต่ำ
ในช่วงปี 2558-2559 บริษัทเข้าซื้อและพัฒนาโครงการ Solar Farm ขนาดกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ในเมืองเกียวโตประเทศญี่ปุ่น มูลค่าเงินลงทุน 1,030 ล้านบาท และเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนพฤศจิกายน 2559
บริษัทยังเข้าลงทุนในโครงการ Solar Farm สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ในจังหวัดปราจีนบุรี ขนาดกำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ ด้วยมูลค่าเงินลงทุน 268 ล้านบาท โดยมีแผนเริ่มผลิตไฟฟ้าภายในปี 2559 โครงการ Solar Farm กับสหกรณ์มีสัญญา PPA กับ กฟภ. และมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าคงที่ตลอดอายุโครงการ (Feed-in-tariff -- FiT) ที่ราคา 5.66 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงเป็นระยะเวลา 25 ปี
นอกจากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว บริษัทยังได้เข้าทำสัญญาเพื่อลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม 2 บริษัทคิดเป็นมูลค่า 2,650 ล้านบาท การเข้าลงทุนนี้จะเป็นการเพิ่มขนาดกำลังผลิตและกระจายไปในพลังงานชนิดอื่น ๆ บริษัทอนุมัติเข้าซื้อหุ้น 49.5% ของ บริษัท พีพีทีซี จำกัด (PPTC) และ 30% ใน บริษัท เอสเอสยูที จำกัด (SSUT) PPTC ซึ่งตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง และโรงไฟฟ้าก็เริ่มดำเนินการผลิตตั้งแต่เดือนมีนาคม 2559 ด้วยขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 120 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตไอน้ำ 30 ตันต่อชั่วโมง ขณะที่ SSUT มีโรงไฟฟ้า 2 โรงกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 240 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตไอน้ำ 60 ตันต่อชั่วโมง ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ โรงไฟฟ้าของ SSUT คาดว่าจะดำเนินการผลิตไฟฟ้าได้ครบทั้งหมดภายในปี 2559 การเข้าลงทุนของบริษัทเพื่อให้กำไรเติบโตจากการเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิตของบริษัทจำนวน 131.4 เมกะวัตต์คิดตามสัดส่วนการลงทุน
อันดับเครดิตยังได้พิจารณาถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่น่าพอใจตั้งแต่เริ่มดำเนินงาน โรงไฟฟ้าของบริษัทมีประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า (Performance Ratio -- PR) เฉลี่ยที่ 83% บริษัทสามารถผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 17.8 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงในปี 2556 เป็น 31.5 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงในปี 2558 และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 บริษัทผลิตไฟฟ้าได้ 23.5 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการเพิ่มกำลังผลิตในช่วงปี 2556-2558 โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทสร้างรายได้ประมาณปีละ 200-350 ล้านบาทในช่วงปี 2556-2558 และ 255 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทอยู่ที่ระดับประมาณ 80%-90% ของรายได้รวม อันดับเครดิตยังได้พิจารณาถึงแนวโน้มการเติบโตของการใช้พลังงานทดแทนของประเทศไทยจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น แผนระยะยาวของภาครัฐในการพัฒนาพลังงานทางเลือก การสนับสนุนผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นต้น
อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนลงบางส่วนจากการที่บริษัทยังมีผลการดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าที่ปรากฏในระยะเวลาอันสั้น ผลงานการผลิตไฟฟ้าเพื่อให้ได้ระดับผลผลิตที่มีเสถียรภาพในระยะยาวของบริษัทยังต้องรอการพิสูจน์ต่อไป นอกจากนี้ อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากความเสี่ยงจากการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบันและโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต อีกทั้งบริษัทลงทุนมูลค่าสูงในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่มีความซับซ้อนและมีความเสี่ยงจากการดำเนินงานมากกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ จากการลงทุนในประเทศญี่ปุ่น
อันดับเครดิตยังถูกลดทอนลงจากภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการขยายการลงทุนของบริษัทด้วย บริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเท่ากับ 52.2% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 อัตราส่วนดังกล่าวลดลงจาก 61.1% ณ สิ้นปี 2558 จากการเพิ่มทุนของบริษัท อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 68.2% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2559 ซึ่งการเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมและโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 70%-73% อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ 21.7% ในปี 2558 และ 5.6% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559
บริษัทยังตั้งเป้าการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น โดยบริษัทมีแผนลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีขนาดกำลังการผลิต 23 เมกะวัตต์ ด้วยมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 2,700-3,000 ล้านบาท โดยมีแผนก่อสร้างในช่วงปี 2560-2561 หากโครงการเริ่มดำเนินการจะส่งผลให้บริษัทมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูงในช่วงก่อสร้างโครงการ ซึ่งการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่จะส่งผลต่อสถานะทางการเงินของบริษัทในช่วงปี 2559-2562
สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 158-163 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 26-32 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมตามสัดส่วนการลงทุนที่ 131.4 เมกะวัตต์ บริษัทจะสามารถรับรู้รายได้จากโครงการ Solar Farm เกียวโตและโครงการ Solar Farm สหกรณ์ รวมทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมได้ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์คาดว่ามีประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 80%-85% ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ยกเว้นจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมจากสมมติฐานดังกล่าวคาดว่าจะอยู่ในช่วง 35-45 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี
ในระหว่างปี 2560-2562 รายได้ของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในช่วง 400-500 ล้านบาทต่อปี และ EBITDA ประมาณ 500-700 ล้านบาทต่อปี อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ของบริษัทจะอยู่ในช่วง 80%-85% ขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานคาดว่าจะอยู่ในช่วง 350-550 ล้านบาทต่อปี EBITDA และเงินทุนจากการดำเนินงานคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากผลตอบแทนจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม อย่างไรก็ตาม คาดว่า EBITDA จะค่อย ๆ ลดลงจากการหมดอายุของส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป ในช่วงปี 2559-2562 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 70%-75% จากการกู้ยืมของบริษัทเพื่อใช้ในการลงทุน