นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย (KTAM) เปิดเผยว่า บริษัทออกกองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้เอฟไอเอฟ 124 ( KTFF124) อายุ 6 เดือน โดยเสนอขายตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 13 ธันวาคม 2559 ซึ่งผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนประมาณ 1.55% ต่อปี
โดยกองทุนจะเน้นลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศประเภทเงินฝากประจำ China Construction Bank Corporation Limited ผลตอบแทนของตราสารประมาณ 1.75% ต่อปี, Emiratcs NBD PJSC ผลตอบแทนประมาณ 2% ต่อปี, Commercial Bank of Qatar ผลตอบแทนประมาณ 1.75% ต่อปี, Ahi bank QSC. ผลตอบแทนประมาณ 1.95% ต่อปี และ First Gulf Bank PJSC ผลตอบแทนประมาณ 1.75% ต่อปี ในสัดส่วนสถาบันการเงินละ 20% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน และมีค่าใช้จ่ายประมาณ 0.23% ต่อปี ขณะที่กองทุนมีนโยบายการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน
สำหรับอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ในประเทศมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกช่วงอายุ หลังกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) บรรลุข้อตกลงลดกำลังการผลิต 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันได้สำเร็จ มีผลเริ่มบังคับใช้ในเดือนม.ค. ปีหน้า ถือเป็นการลดกำลังการผลิตครั้งแรกตั้งแต่ปี 51 หลังจากนี้ต้องติดตามท่าทีของผู้ผลิตน้ำมันที่ไม่ได้อยู่ในโอเปก โดยเฉพาะรัสเซีย ว่าจะลดกำลังการผลิตด้วยหรือไม่
อย่างไรก็ตามสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิประมาณ 1,326 ล้านบาท โดยสรุปอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้อายุคงเหลือ 2 ปี อยู่ที่ 1.64% ต่อปี อายุคงเหลือ 5 ปี อยู่ที่ 2.11% ต่อปี และอายุคงเหลือ 10 ปี อยู่ที่ 2.74% ต่อปี ส่วนอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา อายุคงเหลือ 2 ปี อยู่ที่ 1.11% ต่อปี อายุคงเหลือ 5 ปี อยู่ที่ 1.84% ต่อปี และอายุคงเหลือ 10 ปี อยู่ที่ 2.40% ต่อปี
ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้สหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังโอเปก บรรลุข้อตกลง ซึ่งนับเป็นสัญญาณเงินเฟ้อในระยะต่อไป นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 3 ของสหรัฐอเมริกาที่ขยายตัว 3.2% ดีกว่าที่คาดไว้ที่ 3.0% รวมถึงโอกาสค่อนข้างสูงที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพฤศจิกายนที่ 178,000 ตำแหน่ง ใกล้เคียงกับตลาดคาดการณ์ที่ 180,000 ตำแหน่ง สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตาม จะเป็นผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันที่ 8 ธ.ค. ว่าจะขยายอายุมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ ( QE) หรือไม่ แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและเศรษฐกิจโลก แนวโน้มราคาน้ำมัน ผลกระทบของการที่สหราชอาณาจักรจะแยกตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) และสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ