นายจุมพล เตชะไกรศรี กรรมการบริหาร บมจ.ที.กรุงไทยอุตสาหกรรม (TKT) เปิดเผยว่า บริษัทฯคาดรายได้ปี 60 จะกลับมาเติบโตได้ราว 5-10% จากปีนี้ที่คาดว่ารายได้จะลดลง 15-20% จาก 1.36 พันล้านบาทในปีที่แล้ว และยังมีผลขาดทุนสุทธิ เป็นผลจากอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ชะลอตัว แต่คาดว่าในปีหน้าอุตสาหกรรมยานยนต์จะฟื้นตัวราว 2-5% หรือมียอดผลิตรถยนต์ในประเทศเพิ่มเป็น 2 ล้านคัน จากคาดระดับ 1.95 ล้านคันในปีนี้
โดยรายได้ของบริษัทในปีหน้าคาดว่าจะเติบโตได้มากกว่าอุตสาหกรรม หลังปัจจุบันมีงานในมือ (Backlog) อยู่ที่ 1.05 พันล้านบาท ซึ่งจะรับรู้รายได้เข้ามาในปีหน้าทั้งหมด และจะหางานในมือเข้ามาเพิ่มอีกให้ไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท โดยปัจจุบันได้เจรจากับลูกค้ารายเดิมเพื่อผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ให้กับสินค้าใหม่ ๆ ราว 2-3 ราย
อย่างไรก็ตามในปีหน้า บริษัทฯคาดจะมีผลขาดทุนสุทธิน้อยลงจากปีนี้ โดยจะดำเนินการการปรับโครงสร้างองค์กร ลดค่าใช้จ่ายคงที่ หรือค่าใช้จ่ายจากการบริหาร เช่น การรวมหน่วยงานบางหน่วยงานเข้าด้วยกัน เพื่อให้จุดคุ้มทุนต่ำลง ซึ่งปัจจุบันจุดคุ้มทุนอยู่ที่ระดับ 1.2 พันล้านบาท ก็ตั้งเป้าหมายจะทำให้ลดลงเหลือระดับ 1.1 พันล้านบาท รวมถึงจะมุ่งเน้นลดความสูญเสียที่เกิดจากการผลิตที่แผนกพ่นสี ที่ยังสูงอยู่ ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสูงผิดกว่าปกติ ของโรงงานสุวินทวงศ์ ซึ่งคาดจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ในไตรมาส 2/60
สำหรับผลการดำเนินงานในปีนี้เชื่อว่าจะยังขาดทุนสุทธิ และมีรายได้ที่ลดลงจากปีก่อน หลังในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้มีผลขาดทุนสุทธิ 52.55 ล้านบาท และมีรายได้รวมราว 798 ล้านบาทตามภาวะอุตสาหกรรมที่ชะลอตัว และยังได้รับผลกระทบการเลื่อนรับรู้รายได้ค่าแม่พิมพ์และสูญเสียรายได้บางส่วนจากการยกเลิกรุ่นการผลิต โดยปัจจุบันบริษัทฯมีงานในมือเฉพาะงานแม่พิมพ์ อยู่ที่ 90 ล้านบาท คาดจะสามารถรับรู้รายได้ในไตรมาส 4/59 ราว 20 ล้านบาท และปีหน้าอีก 70 ล้านบาท อีกทั้งยังคงมีอัตราความสูญเสียจากการผลิต ที่โรงงานสุวิทวงศ์ เป็นมูลค่าความเสียหายราว 20 ล้าบาท และน่าจะส่งผลทำให้บริษัทฯน่าจะมีผลขาดทุนสุทธิในไตรมาส 4/59
"ปีนี้คาดรายได้น่าจะลดลง จากอุตสาหกรรมชะลอตัว และได้รับผลกระทบจากภายในองค์กร 2 ส่วน คือ การรับรู้รายได้แม่พิมพ์ที่เลื่อนออกไป และมีความสูญเสียจากการผลิตที่สูง ซึ่งน่าจะยังส่งผลทำให้เรายังขาดทุนอยู่ แต่ปีหน้าเราน่าจะกลับมาเติบโตได้ 5-10% ตามอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เติบโตขึ้น ประกอบกับเราจะมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างภายใน ลดความสูญเสียที่เกิดจากการผลิต"นายจุมพล กล่าว