นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) คาดว่าบริษัทจะสามารถทำกำไรปี 60 เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10% จากปีนี้ หลังวางเป้าหมายการรุกธุรกิจในทุกกลุ่ม ทั้งบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล ร้านค้า การบริหารช่องทางจัดจำหน่ายและออนไลน์ รวมทั้งสร้างทางเลือกต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในการชำระค่าใช้จ่าย ขณะที่จะรักษาระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้อยู่ในระดับเดียวกันกับปีนี้
ด้านนางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-ธุรกิจบัตรเครดิต ของ KTC กล่าวว่า กลยุทธ์การตลาดของธุรกิจบัตรเครดิตในปี 60 จะเน้นให้บัตรเครดิตเคทีซีเป็นบัตรหลักในการใช้จ่าย ด้วยการประสานความร่วมมือกับพันธมิตรพัฒนารูปแบบการตลาดที่ตรงใจ สร้างสรรค์และหลากหลาย โดยออกแคมเปญที่สร้างมูลค่าเพิ่มในแต่ละหมวดสินค้าเป็นระยะ ๆ อย่างสม่ำเสมอ มีเป้าหมายการเติบโตในปี 60 ที่ 15% และคาดว่าจะมียอดรวมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตประมาณ 1.9 แสนล้านบาท
ขณะที่นางสาวสุดาพร จันทร์วัฒนากุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-ธุรกิจสินเชื่อบุคคล ของ KTC กล่าวว่า กลยุทธ์การตลาดของธุรกิจสินเชื่อบุคคลในปี 60 จะเน้นกิจกรรมการตลาดที่สร้างสรรค์ เพื่อรองรับสมาชิกใหม่และรักษาฐานเดิมของสมาชิกสินเชื่อ โดยมีเป้าหมายการเติบโตของพอร์ตธุรกิจสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 15%
นายปิยศักดิ์ เตชะเสน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส-ช่องทางการจัดจำหน่ายและธุรกิจร้านค้า ของ KTC กล่าวว่า กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของกลุ่มในปี 60 จะมุ่งขยายฐานกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เริมทำงาน และกลุ่มพนักงานประจำที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และเขตเมืองที่มีกำลังซื้อสูง รวมถึงในจังหวัดท่องเที่ยวที่กลุ่มลูกค้าเดินทางไปค่อนข้างสูง โดยช่องทางหลักของธนาคากรุงไทย (KTB) ถือเป็นช่องทางหลักในการขยายฐานสมาชิก โดยตั้งเป้าหมายมีจำนวนสมาชิกใหม่ในปี 60 เท่ากับ 5.6 แสนราย แบ่งเป็น สมาชิกบัตรเครดิต 4 แสนราย และสินเชื่อบุคคล 1.6 แสนราย
ด้านการบริหารธุรกิจร้านค้ารับบัตร บริษัทก็จะรุกเข้าธุรกิจประเภทใหม่ ๆ และขยายตลาดสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันเคทีซีมีมูลค่าการซื้อขายผ่านธุรกิจร้านค้าประมาณ 5.3 หมื่นล้านบาท และจำนวนร้านค้าประมาณ 14,800 แห่ง โดยในปี 60 มีเป้าหมายเติบโตของธุรกิจร้านค้าผ่านช่องทางออนไลน์ให้มากยิ่งขึ้น
นายชุติเดช ชยุติ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส-คอร์ปอเรท ไฟแนนซ์ ของ KTC กล่าวว่า จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในปี 60 ที่จะปรับตัวสูงขึ้นนั้น ทำให้บริษัทปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการบริหารต้นทุนเงิน โดยจะเพิ่มสัดส่วนของเงินกู้ระยะยาวมากขึ้น เพื่อชะลอผลกระทบของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อต้นทุนเงินให้น้อยที่สุด โดยในปี 60 วางแผนจะออกหุ้นกู้ระยะยาวมากขึ้น ซึ่งจะนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาเพิ่มวงเงินในการออกหุ้นกู้ระยะยาวอีก 3 หมื่นล้านบาท