เครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กฯ มองภาครัฐ-เอกชนต้องมีแนวทางปฎิบัติร่วมกันเพื่อก้าวสู่การพัฒนาปท.อย่างยั่งยืน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 9, 2016 13:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น (TRUE) ในฐานะ ประธานคณะกรรมการฯ เครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนาเชิงปฎิบัติการ "ก้าวสู่โกลบอลคอมแพ็กในประเทศไทย เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน" ในหัวข้อบทบาทของภาคเอกชนไทยในการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ว่า การขับเคลื่อนของภาคธุรกิจของไทยเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น ขณะนี้น่าจะไม่ใช่เป้าหมายที่ภาคธุรกิจได้ให้ความสำคัญมากนัก เนื่องจากไม่มีบทบาทที่ชัดเจน หรือไม่มีอำนาจอยู่มือที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยความท้าทายที่ยังเป็นปัญหา คือ ปัญหาของความเหลื่อมล้ำ ,ปัญหาสิทธิมนุษยชน ,ปัญหาความยากจน และปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ภาคธุรกิจเองไม่มีมิติ หรือมุมมองที่ชัดเจนในปัญหาเหล่านี้

ทั้งนี้ เครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย เป็นการรวมตัวกันของ 15 องค์กรชั้นนำในประเทศไทย เพื่อร่วมกันผลักดันหลักสากล 10 ประการ ของ UN Global Compact โดยมีพันธกิจหลักในการส่งเสริมการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน และการร่วมผลักดันให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals :SDGs) ทั้ง 17 ข้อ ประกอบด้วย 1. ขจัดความยากจนในทุกรูปแบบ ทุกที 2.ขจัดความหิวโหย บรรลุเป้าความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการที่ดีขึ้น และส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน 3.ทำให้แน่ใจถึงการมีสุขภาวะในการดำรงชีวิต และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในทุกช่วงอายุ 4.ทำให้แน่ใจถึงการได้รับการศึกษาที่ได้คุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง และส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน 5.บรรลุถึงความเท่าเทียมทางเพศ และเสริมสร้างพลังให้แก่สตรีและเด็กหญิงทุกคน

6.ทำให้แน่ใจว่าเรื่องน้ำและการสุขาภิบาลได้รับการจัดการอย่างยั่งยืน และมีสภาพพร้อมใช้สำหรับทุกคน 7.ทำให้แน่ใจว่าทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานที่ทันสมัย ยั่งยืน เชื่อถือได้ ตามกำลังซื้อของตน 8.ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและทั่วถึงให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ส่งเสริมศักยภาพการมีงานทำและการจ้างงานเต็มที่ และงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน 9.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการปรับตัวให้เป็นอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและทั่วถึง และสนับสนุนนวัตกรรม 10.ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ

11.ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัยทั่วถึง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน 12.ทำให้แน่ใจถึงการมีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน 13.ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น 14.อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้เป็นไปอย่างยั่งยืน 15.พิทักษ์ บูรณะ และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนของระบบนิเวศบนบก จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้กับการแปรสภาพเป็นทะเลทราย หยุดยั้งและฟื้นฟูความเสื่อมโทรมของที่ดิน และหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ 16.ส่งเสริมให้สังคมมีความเป็นปกติสุข ไม่แบ่งแยก เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มีการเข้าถึงความยุติธรรมโดยถ้วนหน้า และสร้างให้เกิดสถาบันอันเป็นที่พึ่งของส่วนรวม มีประสิทธิผล และเป็นที่ยอมรับในทุกระดับ และ 17.เสริมสร้างความเข้มแข็งในวิธีการปฏิบัติให้เกิดผล และสร้างพลังแห่งการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระดับสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ขณะที่ความท้าทายของประเทศไทย มองว่าจะต้องกลับมามองดูตัวเองก่อน ซึ่งเริ่มจาก 1.การสร้างการตระหนักรู้ โดยภาครัฐในฐานะเป็นผู้นำของประเทศ จะต้องมีการผลักดันเป้าหมายให้ไปสู่ความยั่งยืน 2.การวางแผนต่อความยั่งยืน หรือการวางเป้าหมายให้ชัดจน 3.แนวทางปฎิบัติที่จะต้องมีร่วมกันเพื่อไปสู่ความยั่งยืน 4.การ Engage ชุมชน หรือการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับความยั่งยืนสู่ชุมชน 5. Supply Chain ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศเกษตรกรรม โดยเรื่องของความเกี่ยวข้องกับการทำเกษตรที่กระทบกับสิ่งแวดล้อม หรือกระบวนการที่นำไปถึงภาคของอาหาร ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมาก 6.ความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่จะขยายองค์ความรู้ หรือแลกเปลี่ยนความรู้ และ 7. ผู้นำที่มีความตระหนักรู้ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งเมื่อผู้นำแต่ละองค์กรมีความตระหนักรู้ก็จะมีการแก้ปัญหา และเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

"ปัญหาเรื่องของความยั่งยืนของโลก ซึ่ง 17 เป้าหมายของ SDGs ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นในทุกๆประเทศ ถ้าเราสามารถสร้างเป้าหมายที่เป็นหนึ่งเดียวกันของระดับโลก และระดับประเทศไทย ที่จะต้องมีการเชื่อมต่อกับประเทศอื่น ภาคเอกชนก็จะเริ่มตั้งเป้าหมาย และจะทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเวทีโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย น่าจะช่วยให้เราสามารถวางเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ซึ่งเป้าหมายอันดับแรกภายในปีแรกที่เราต้องดำเนินการ คือ การสร้างความตระหนักรู้ หรือการทำให้บริษัทที่เข้าร่วมโครงการวางเป้าหมายที่คิดว่าทำได้ และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ต่อธุรกิจ"

นอกจากนี้การมีส่วนร่วมเพื่อการขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืนนั้น จะต้องลงมือปฎิบัติ และหาโอกาสที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งสองอย่างนี้มีความสำคัญอย่างมากของการดำเนินงานของภาคเอกชน ขณะเดียวกันเป้าหมายต่อจากนี้ของภาคเอกชน จะต้องมีการตั้งเป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืน ที่ต้องครอบคลุมทั้ง Government และ CSR, การแข่งขันได้ในระดับสากล และการมีวัฒนธรรมองค์กรที่ดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ