BEM คาดรายได้ปี 63 โตก้าวกระโดด จำนวนผู้โดยสารเพิ่มหลังเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย, เล็งนำ BMN เข้าตลาดฯอีก 2-3 ปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 9, 2016 13:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) คาดว่ารายได้จากธุรกิจทางรางจะเติบโตก้าวกระโดดนับจากปี 60 จากปี 59 ที่คาดว่ารายได้โต 10% เทียบกับปี 58 มีรายได้ 2.5 พันล้านบาทและคาดว่ารายได้ในปี 63 จะมีประมาณ 8 พันล้านบาท มาจากเดินรถสายสีน้ำเงินทั้งหมด 5-6 พันล้านบาท และจากการรับจ้างบริการเดินรถสายสีม่วงราว 2 พันล้านบาท

ส่วนผลประกอบการในปีนี้คาดว่าจะพลิกมีกำไรราว 100 ล้านบาท จากปีก่อนขาดทุน 300 ล้านบาท และคาดว่าปี 60 กำไรจะค่อยๆ ดีขึ้นและเห็นเติบโตชัดเจนในปี 63 เนื่องจากในปี 60 จะเปิดบริการส่วนเชื่อมต่อสถานีบางซื่อ-สถานีเตาปูนของสายสีม่วง จะทำให้มีจำนวนผู้โดยสารเข้าระบบสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ หรือเส้นปัจจุบัน

จากนั้นคาดว่าในปี 61 จะเปิดให้บริการช่วงหัวลำโพง-บางแค ก่อนของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย และส่วนที่เหลือช่วงบางซื่อ-ท่าพระ จะเปิดบริการในปลายปี 62 ทำให้คาดว่าจะเพิ่มจำนวนผู้โดยสารได้เท่าตัวเป็น 6 แสนคน/วัน จากปัจจุบันมีจำนวน 3 แสนคน/วัน

นอกจากนี้ ระหว่างในช่วงปี 60-63 ยังมีการเปิดบริการของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย จะช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารเข้าระบบสายสีน้ำเงินมากขึ้น

อนึ่ง รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ระยะทาง 21.5 กม. มี 19 สถานี ช่วงหัวลำโพง-บางแค ระยะทาง 15.9 กม.มี 11 สถานี และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ระยะทาง 11.08 กม.มี 8 สถานี

ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่เดินรถปัจจุบันมีระยะทาง 20 กม. มี 18 สถานี ราคาโดยสาร 16-42 บาท/เที่ยว

ทั้งนี้ การเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายจะมีอัตราเท่ากับสายสีน้ำเงินในปัจจุบัน

"เราเชื่อว่านับจากปี 60 จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะจะมีการเปิดเดินรถทุกปี โดยเฉพาะปี 63-66 มีสายสีชมพู สีเหลือง สีส้ม เมื่อโครงข่ายเดินรถมากขึ้น จำนวนผู้โดยสารจะเติบโต"นายสมบัติกล่าว

ขณะนี้เตรียมสั่งซื้อรถไฟฟ้า 35 ขบวน เพื่อใช้รองรับการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย จำนวน 28 ขบวน และอีก 7 ขบวน ใช้รองรับเส้นทางปัจจุบัน ระหว่างนี้รอข้อเสนอผู้ผลิตรถไฟฟ้าจาก Japan Railway Group (JR) จากญี่ปุ่น และซีเมนส์จากเยอรมัน การลงทุนรถไฟฟ้านั้นบริษัทไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน และสามารถจัดสรรเงินทุนได้ไม่ว่าจะเป็นเงินกู้หรือเงินส่วนทุน

นอกจากนี้ บริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด (BMN) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ BEM ซึ่งมีรายได้จากการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ในตัวสถานี โฆษณาด้วย โดยมองว่ามีโอกาสเติบโตมากเพราะเมื่อ BEM ได้เดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ก็จะมีพื้นที่เชิงพาณิชย์ในตัวสถานีเพิ่มเท่าตัว

ด้านนายณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ BMN กล่าวว่า รายได้ปีนี้เติบโต 7-8% จากปีก่อน 470 ล้านบาท และคาดว่ามีกำไรดีกว่าปีก่อน ทั้งนี้ บริษัททำกำไรได้ต่อเนื่อง โดยปีนี้ปัจจัยสนับสนุนรายได้มาจากจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ค่าโฆษณาเพิ่มขึ้น และพื้นที่ค้าปลีกมากขึ้น โดยล่าสุดเปิดที่สถานีคลองเตย

ในปีหน้าจะเปิดพื้นที่ร้านค้าปลีก 2 สถานี คือ สถานีศูนย์วัฒนธรรม ในเดือนมี.ค. 60 และสถานีเพชรบุรี คาดเปิดในไตรมาส 3 หรือ 4 ในปี 60 ทั้งนี้ บริษัทมีแผนนำหุ้นเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ (SET) ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า รอให้รายได้กำไรเติบโตก่อน

ปัจจุบัน BMN เปิดบริการพื้นที่ร้านค้าปลีก 5 แห่ง ได้แกสถานีหพลโยธิน สถานีจัตุจักร สถานีกำแพงเพชร สถานีพระราม 9 และสถานีคลองเตย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ