นายศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น (TRUE) ในฐานะ ประธานคณะกรรมการฯ เครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนาเชิงปฎิบัติการ "ก้าวสู่โกลบอลคอมแพ็กในประเทศไทย เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน" ในหัวข้อบทบาทของภาคเอกชนไทยในการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ว่า การขับเคลื่อนของภาคธุรกิจของไทยเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น ขณะนี้น่าจะไม่ใช่เป้าหมายที่ภาคธุรกิจได้ให้ความสำคัญมากนัก เนื่องจากไม่มีบทบาทที่ชัดเจน หรือไม่มีอำนาจอยู่มือที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยความท้าทายที่ยังเป็นปัญหา คือ ปัญหาของความเหลื่อมล้ำ ,ปัญหาสิทธิมนุษยชน ,ปัญหาความยากจน และปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ภาคธุรกิจเองไม่มีมิติ หรือมุมมองที่ชัดเจนในปัญหาเหล่านี้
ทั้งนี้ เครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย เป็นการรวมตัวกันของ 15 องค์กรชั้นนำในประเทศไทย เพื่อร่วมกันผลักดันหลักสากล 10 ประการ ของ UN Global Compact โดยมีพันธกิจหลักในการส่งเสริมการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน และการร่วมผลักดันให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals :SDGs) ทั้ง 17 ข้อ ประกอบด้วย 1. ขจัดความยากจนในทุกรูปแบบ ทุกที 2.ขจัดความหิวโหย บรรลุเป้าความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการที่ดีขึ้น และส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน 3.ทำให้แน่ใจถึงการมีสุขภาวะในการดำรงชีวิต และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในทุกช่วงอายุ 4.ทำให้แน่ใจถึงการได้รับการศึกษาที่ได้คุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง และส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน 5.บรรลุถึงความเท่าเทียมทางเพศ และเสริมสร้างพลังให้แก่สตรีและเด็กหญิงทุกคน
6.ทำให้แน่ใจว่าเรื่องน้ำและการสุขาภิบาลได้รับการจัดการอย่างยั่งยืน และมีสภาพพร้อมใช้สำหรับทุกคน 7.ทำให้แน่ใจว่าทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานที่ทันสมัย ยั่งยืน เชื่อถือได้ ตามกำลังซื้อของตน 8.ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและทั่วถึงให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ส่งเสริมศักยภาพการมีงานทำและการจ้างงานเต็มที่ และงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน 9.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการปรับตัวให้เป็นอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและทั่วถึง และสนับสนุนนวัตกรรม 10.ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ
11.ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัยทั่วถึง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน 12.ทำให้แน่ใจถึงการมีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน 13.ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น 14.อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้เป็นไปอย่างยั่งยืน 15.พิทักษ์ บูรณะ และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนของระบบนิเวศบนบก จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้กับการแปรสภาพเป็นทะเลทราย หยุดยั้งและฟื้นฟูความเสื่อมโทรมของที่ดิน และหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ 16.ส่งเสริมให้สังคมมีความเป็นปกติสุข ไม่แบ่งแยก เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มีการเข้าถึงความยุติธรรมโดยถ้วนหน้า และสร้างให้เกิดสถาบันอันเป็นที่พึ่งของส่วนรวม มีประสิทธิผล และเป็นที่ยอมรับในทุกระดับ และ 17.เสริมสร้างความเข้มแข็งในวิธีการปฏิบัติให้เกิดผล และสร้างพลังแห่งการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระดับสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ขณะที่ความท้าทายของประเทศไทย มองว่าจะต้องกลับมามองดูตัวเองก่อน ซึ่งเริ่มจาก 1.การสร้างการตระหนักรู้ โดยภาครัฐในฐานะเป็นผู้นำของประเทศ จะต้องมีการผลักดันเป้าหมายให้ไปสู่ความยั่งยืน 2.การวางแผนต่อความยั่งยืน หรือการวางเป้าหมายให้ชัดจน 3.แนวทางปฎิบัติที่จะต้องมีร่วมกันเพื่อไปสู่ความยั่งยืน 4.การ Engage ชุมชน หรือการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับความยั่งยืนสู่ชุมชน 5. Supply Chain ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศเกษตรกรรม โดยเรื่องของความเกี่ยวข้องกับการทำเกษตรที่กระทบกับสิ่งแวดล้อม หรือกระบวนการที่นำไปถึงภาคของอาหาร ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมาก 6.ความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่จะขยายองค์ความรู้ หรือแลกเปลี่ยนความรู้ และ 7. ผู้นำที่มีความตระหนักรู้ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งเมื่อผู้นำแต่ละองค์กรมีความตระหนักรู้ก็จะมีการแก้ปัญหา และเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
"ปัญหาเรื่องของความยั่งยืนของโลก ซึ่ง 17 เป้าหมายของ SDGs ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นในทุกๆประเทศ ถ้าเราสามารถสร้างเป้าหมายที่เป็นหนึ่งเดียวกันของระดับโลก และระดับประเทศไทย ที่จะต้องมีการเชื่อมต่อกับประเทศอื่น ภาคเอกชนก็จะเริ่มตั้งเป้าหมาย และจะทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเวทีโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย น่าจะช่วยให้เราสามารถวางเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ซึ่งเป้าหมายอันดับแรกภายในปีแรกที่เราต้องดำเนินการ คือ การสร้างความตระหนักรู้ หรือการทำให้บริษัทที่เข้าร่วมโครงการวางเป้าหมายที่คิดว่าทำได้ และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ต่อธุรกิจ"
นอกจากนี้การมีส่วนร่วมเพื่อการขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืนนั้น จะต้องลงมือปฎิบัติ และหาโอกาสที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งสองอย่างนี้มีความสำคัญอย่างมากของการดำเนินงานของภาคเอกชน ขณะเดียวกันเป้าหมายต่อจากนี้ของภาคเอกชน จะต้องมีการตั้งเป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืน ที่ต้องครอบคลุมทั้ง Government และ CSR, การแข่งขันได้ในระดับสากล และการมีวัฒนธรรมองค์กรที่ดี
ด้านนายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวในหัวข้อ "ก้าวต่อไปของบริษัทไทย ในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน"ว่า การบริหารขององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ต้องให้ความสำคัญกับ 5 กลุ่ม คือ 1. ผู้บริโภค โดยปัจจุบันมีความรู้และต้องการให้บริษัทที่ตนเองซื้อสินค้าทำความดี หากไม่ดีจะเผยแพร่ตามโซเซียลรวดเร็วมาก 2. คู่ค้า บริษัทขนาดใหญ่ต้องดูแลให้คู้ค้าทำความดี 3.บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบันหากไม่ทำดี หรือมีการบริหารจัดการที่ดี นักลงทุนอาจจะถอนหุ้นออกได้ 4.พนักงานบริษัท ต้องดูแลเพื่อให้อยู่ได้ รักษาคนดี คนเก่งให้อยู่กับบริษัท 5.ชุมชน สังคม บริษัทต้องดูแลสังคมเพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดี
ดังนั้นการเดินไปสู่องค์กรที่ยั่งยืน ต้องเริ่มวางแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการที่ดี การบริหารความเสี่ยง เพื่อให้องค์กรมีความยั่งยืน โดยเฉพาะความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น หากไม่ทำดีอาจถูกเลิกร่วมค้าและลงทุนด้วย จึงต้องติดตามดูแลคู่ค้า การช่วยเหลือ SMEs ที่เป็นเครือข่ายธุรกิจ นับเป็นการช่วยเหลือสังคมอีกด้านหนึ่ง
สำหรับตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแนวทางปฎิบัติมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการกำกับดูแลกิจการที่ดีประกอบธุรกิจด้วยความเป็นธรรม, การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น, การเคารพสิทธิมนุษยชน, ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค, ความร่วมมือกับชุมชน สังคม, การดูแลสิ่งแวดล้อม, การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นต้น
นางชุลีพร บุณยมาลิก ผู้อำนวยการสำนักวางแผนการเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวในห้วข้อ " 1 ปีของการขับเคลื่อสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และความคาดหวังต่อภาคเอกชน" ว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในระยะ พ.ศ.2559-2573 นั้น ทางภาครัฐจะมีการขับเคลื่อนควบคู่ไปกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) โดยมีกลไกการขับเคลื่อน SDGs ของไทย จะประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี, คณะกรรมการเพื่อการยั่งยืน (กพย.) ซึ่งจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และอนุกรรมการทั้ง 3 ด้าน รวมถึงคณะทำงานร่วม
พร้อมกันนี้ การขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ที่ผ่านมา ภาครัฐได้มีการขับเคลื่อนเป้าหมายร่วมกันในทุกภาคส่วน และได้มีการมอบหมายหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ ในการเข้าไปดูแลแต่ละเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงได้มีการจัดอันดับความสำคัญของการขับเคลื่อน SDGs แบ่งเป็นมิติที่ 1 คือ เรื่องของความสำคัญ และมิติที่ 2 คือ เรื่องของความพร้อม โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการสำรวจความพร้อมในการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs ของภาคเอกชน พบว่า มี 43 บริษัท เข้าร่วมการประชุมระดมความคิดเห็น มี 21 บริษัท ตอบแบบสำรวจ และ 10 บริษัท สนใจจะเข้าร่วมในการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs เช่น บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF), บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC), บมจ. น้ำตาลมิตรผล เป็นต้น
ส่วนข้อเสนอแนะของภาคเอกชนนั้น เห็นว่า ภาครัฐควรมีการเชิญหน่วยที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ประชุมร่วมกัน เพื่อกำหนดแนวทางหรือข้นตอนการนำ SDGs มาเป็นแนวทางปฎิบัติขององค์กร ควรมีหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ SDGs ให้เป็นที่รู้จักแก่หน่วยงานต่างๆ, การพัฒนาที่ยั่งยืนความมีบริษัทในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก SMEs เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาบริษัทในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กให้เป็นบริษัทที่มีการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น
โดยการดำเนินการ SDGs ระยะต่อไป คือ การจัดอันดับความสำคัญของเป้าหมาย และเป้าประสงค์การพัฒนาที่ยั่งยืนใน 30 อันดับแรก และจัดทำ Roadmap การขับเคลื่อนโดยการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนที่จะทำในระยะเวลา 1 ปี 5 ปี และหลัง 5 ปี เช่น กำหนดมาตรการกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ งบประมาณตัวชี้วัดตาม SDGs และเพิ่มเติม SEP แนวทางดำเนินการร่วมกับภาคเอกชน ภาคประชาสังคม, จัดประชุมหารือกับภาครัฐและเครื่อข่ายประชาสังคมในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และการเตรียมความพร้อมด้านระบบข้อมูลและสารสนเทศ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ จะทบทวนสถานะและความพร้อมของข้อมูลและกำหนดแนวทางการติดตามประเมินผลการขับเคลื่อน SDGs โดยใช้ระบบแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูล