SENA จับมือ ABB ขยายความร่วมมือติดตั้งสถานีชาร์จไฟรถอีวีนำร่องให้บริการพื้นที่ส่วนกลาง 2 โครงการ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 13, 2016 08:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์ (SENA) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนา โซลาร์ เอนเนอร์ยี่ จำกัด ผู้พัฒนาหมู่บ้านโซลาร์เต็มรูปแบบรายแรกของไทย เปิดเผยว่า เสนา โซลาร์ฯ ได้ขยายความร่วมมือกับ ABB ในการติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charger) ในพื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้าน เพื่อให้บริการกับลูกบ้านที่อยู่ในโครงการของเสนา โดยได้เปิดตัวนำร่องใน 2 โครงการแล้วขณะนี้ ได้แก่ โครงการเสนาพาร์ค วิลล์ รามอินทรา–วงแหวน และโครงการเสนา วิลล์ บรมราชชนนี สาย 5 และในปี 2560 จะขยายแผนการลงทุนตามการลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของเสนาในส่วนอื่น ๆ ต่อไป

"เสนาโซลาร์ฯ เป็นพันธมิตรกับ ABB ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำของโลกด้านอุปกรณ์ไฟฟ้าและเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์การแปลงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Converter) ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก รวมถึงเครื่องประจุไฟแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า หรือ ที่เราเรียกกันว่า อีวี ชาร์จเจอร์ (EV Charger) เราจึงขยายความร่วมมือในการติดตั้งสถานีชาร์จไฟสำหรับรถอีวี เพื่อที่จะเป็นอีกหนึ่งบริการให้กับลูกบ้านของเสนา"นางเกษรา กล่าว

สำหรับสถานีชาร์จไฟสำหรับรถอีวีที่จะให้บริการกับลูกบ้านของเสนา เป็นการต่อยอดการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ซึ่งสามารถนำมาลดค่าใช้จ่ายส่วนกลางให้กับลูกบ้านได้โดยหัวจ่ายไฟฟ้าสามารถรองรับกับรถยนต์ทุกรุ่น ทั้งค่ายยุโรป อเมริกาและ ญี่ปุ่น ทั้งนี้ ระยะเวลาชาร์จไฟตั้งแต่ 3 ชั่วโมงถึง 6 ชั่วโมงจะขึ้นกับความจุแบตเตอรี่และระบบควบคุมการชาร์จของรถยนต์ไฟฟ้าเองด้วย

นางเกษรา กล่าวว่า ในช่วงระยะ 3 ปีมานี้ ต้นทุนแผงเซลล์แสงอาทิตย์มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีต้นทุนลดลงเฉลี่ย 40% เพราะผู้ผลิตรายใหญ่ในโลกมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งเป็นเหตุผลที่ล่าสุดรัฐบาลได้พิจารณาปรับลดการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในระบบFeed in Tariff (FiT) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดเล็กมาก (VSPP) จาก 5.66 บาทต่อหน่วยมาอยู่ที่ 4.12 บาทต่อหน่วย

ปัจจุบัน เสนา โซลาร์ฯ ได้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการนำร่องการติดตั้งโซลาร์รูฟจำนวน 98 ยูนิต โดยเป็นการติดตั้งบนหลังคาบ้านที่อยู่อาศัย ขนาดกำลังผลิตไฟประมาณ 2.0– 3.6 กิโลวัตต์ (KW) ในเขตการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จำนวน 84 ยูนิต และอีก 14 ยูนิต ในเขตการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งโครงการนี้ยอมรับว่าผิดคาดจากที่เคยมองไว้เพราะรัฐต้องการนำร่องเพื่อศึกษาความพร้อมก่อนจึงให้ผลิตเองใช้เอง ไฟฟ้าที่เหลือไม่มีการรับซื้อเข้าระบบ อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดหวังว่าในที่สุดรัฐบาลจะมีนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบในระยะต่อไป โดยอัตราซื้อไฟต่ำกว่าที่ซื้อจากการไฟฟ้าก็ยังจูงใจมากกว่าที่จะไม่รับซื้อเลย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ