บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) หรือ เคทีซี เผยทิศทางธุรกิจปี 60 เน้นการดูแลและพัฒนาองค์กรต่อเนื่องทั้งภายในและภายนอก ชูแนวคิดใหม่ของแบรนด์ (Brand Core Value) สนับสนุนความกล้าเลือกใช้ชีวิตแบบที่ใช่และต้องการ เพื่อมุ่งประโยชน์สูงสุดให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรอบด้าน สร้างความผูกพันและนำไปสู่การเป็นแบรนด์ของบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลที่ได้รับการยอมรับและเลือกใช้มากที่สุด พร้อมเตรียมแผนระยะยาวรองรับแนวโน้มเทคโนโลยีดิจิทัลที่กำลังแรง ตั้งเป้าปีหน้าทำกำไรเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10% และมีแผนออกหุ้นกู้ 1.6 หมื่นล้านบาทเพื่อล็อคต้นทุนต่ำ
นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KTC กล่าวว่า ที่ผ่านมาเคทีซีมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะต้องพบกับความท้าทายจากสภาพเศรษฐกิจและปัจจัยภายนอกต่างๆ แต่ด้วยการทำงานที่ใกล้ชิดและการประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงต่างๆ ทำให้เราผ่านพ้นมาได้ด้วยดี และมีตัวเลขสำคัญเติบโตดีกว่าอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 59 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,854 ล้านบาท ด้วยฐานสมาชิกรวมมากกว่า 2.8 ล้านบัญชี พอร์ตลูกหนี้การค้ารวมสุทธิเท่ากับ 57,015 ล้านบาท และมีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเติบโตที่ 14% ในขณะที่ลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวม (NPL) ลดเหลือ 1.86% NPL บัตรเครดิตลดเหลือ 1.37% และ NPL สินเชื่อบุคคลอยู่ในระดับเดิมที่ 1.01%
สำหรับทิศทางการทำธุรกิจของเคทีซีในปี 60 เพื่อบรรลุแผนในการก้าวสู่แบรนด์ในใจที่สมาชิกชื่นชอบและเลือกใช้ ซึ่งเป็นความสำเร็จที่ยั่งยืนในระยะยาว บริษัทฯ จะดำเนินธุรกิจภายใต้ 3 องค์ประกอบทางความคิดใหม่ (Brand Core Value) อันได้แก่ 1) ความกล้า กล้าคิด กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง (Courageous) 2) ทำในสิ่งที่ฉลาดและเรียบง่าย (Smart & Simplicity) และ 3) สิ่งที่ทำต้องมีคุณค่า(Meaningful) ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนให้สมาชิกหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กล้าตัดสินใจที่จะเลือกใช้ชีวิตในแบบที่ใช่และต้องการ เพื่อชีวิตที่มีความหมาย โดยเป็นการต่อยอดแนวคิดในการสร้างแบรนด์นี้จากภายในองค์กรซึ่งประสบความสำเร็จไปสู่ภายนอกองค์กรให้ครอบคลุมรอบด้าน “เคทีซีมีเป้าหมายในการรุกธุรกิจทุกกลุ่ม ทั้งบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล ร้านค้า การบริหารช่องทางจัดจำหน่ายและออนไลน์ รวมทั้งสร้างทางเลือกต่างๆ เพื่อตอบความต้องการของลูกค้าในการชำระค่าใช้จ่ายผ่านแพลทฟอร์มการชำระเงินใหม่ๆ ด้วยบัตรเครดิต (Card/Payment Platform) เพื่อรองรับกระแสของเทคโนโลยีดิจิทัล และการเปลี่ยนแปลงของระบบ National E-Payment ตลอดจนธุรกิจฟินเทคที่กำลังมา โดยคาดว่าในปี 60 บริษัทฯ จะสามารถทำกำไรเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10% และจะรักษาระดับของ NPL ให้อยู่ในระดับเดียวกันกับปี 59"นายระเฑียร กล่าว
ด้านนายชุติเดช ชยุติ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส-คอร์ปอเรท ไฟแนนซ์ KTC กล่าวว่า เคทีซีมุ่งเน้นการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพ สถานะทางการเงินโดยภาพรวมดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปีนี้มีการเจริญเติบโตมากกว่าที่คาดไว้ อย่างไรก็ตามในปี 2560 มีแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้น เคทีซีจึงได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการบริหารต้นทุนเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยจะเพิ่มสัดส่วนของเงินกู้ระยะยาวมากขี้น เพื่อชะลอผลกระทบของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อต้นทุนเงินให้น้อยที่สุด
ในปี 60 เคทีซีมีแผนจะออกหุ้นกู้ระยะที่ยาวขี้นกว่าที่เคยออกไว้เดิม มูลค่าของหุ้นกู้ที่คาดว่าจะออกในปีหน้ารวมประมาณ 16,000-17.000 ล้านบาท และคาดว่าจะรักษาระดับต้นทุนทางการเงินที่ประมาณ 3.35% โดยคาดหมายว่าจะนำเสนอผู้ถือหุ้นพิจารณาเพิ่มวงเงินในการออกหุ้นกู้ระยะยาวอีก 30,000 ล้านบาทในการประชุมสามัญประจำปี เช่นเดียวกับที่เคยได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นมาแล้วในอดีต เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต
"ต้นทุนทางการเงินของเราในอดีตเคยทำได้ต่ำสุดที่ 3.5% สำหรับหุ้นกู้อายุ 10 ปี เราก็อยากจะได้เหมือนในอดีต หุ้นกู้ที่จะออกจากนี้ไปจะมีอายุ 5 , 7 และ 10 ปี จากที่เคยออก 3 และ 5 ปี วงเงินปีหน้าจะออกราว 1.6 หมื่นล้านบาท เป็นหุ้นกู้ที่ทดแทนหุ้นกูเดิมที่ครบกำหนดไถ่ถอน 1 หมื่นล้านบาท และหุ้นกู้ชุดใหม่ราว 6 พันล้านบาท ซึ่งเราจะขอ AGM ขยายวงเงินอีก 3 หมื่นล้านบาท จากที่เหลือวงเงินอยู่ 1.2 หมื่นล้านบาท ส่วนระยะเวลาคงรอดูเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนนี้ และนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์เมื่อเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในช่วงเดือน ม.ค.ปีหน้าก่อน"นายชุติเดช กล่าว
พร้อมกันนั้น KTC ยังจะรักษาระดับการตั้งสำรองหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายการ (NPL) ไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 400% โดยตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อรวมในปี 60 จะเติบโตราว 10% ต่อเนื่องจากปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโตราว 10% เช่นกัน
“เคทีซียังเตรียมความพร้อมรองรับโครงการระบบชำระเงินของประเทศ (National E-Payment) ของภาครัฐที่จะนำเข้ามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ซึ่งเมื่อสามารถรองรับการโอนเงินระหว่างองค์กรธุรกิจด้วยแล้ว ระบบของเคทีซีก็พร้อมจะรองรับการรับชำระเงินและการจ่ายเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ด้วย
นอกจากนั้น เคทีซีจะเข้าร่วมในโครงการระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิคส์ (E-Tax System) โดยจะให้ความร่วมมือกับกรมสรรพากรในการพัฒนาระบบเพื่อรองรับ E-Tax SysTem ในเดือน ม.ค.61 โดยในปัจจุบันเคทีซีเข้าอยู่ในระบบ eFiling ในการนำส่งภาษีประเภทต่างๆกับกรมสรรพากรอยู่แล้ว"นายชุติเดช กล่าว
นางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-ธุรกิจบัตรเครดิต KTC กล่าวถึงกลยุทธ์การตลาดธุรกิจบัตรเครดิตในปี 60 ว่า เคทีซีต้องการเน้นให้บัตรเครดิตเคทีซีเป็นบัตรหลักในการใช้จ่าย เราจึงเน้นความสำคัญในทุกหมวดร้านค้าที่เป็นการใช้จ่ายประจำวัน (Everyday Usage) และการใช้จ่ายตามโอกาสต่างๆ (Occasional Usage) ด้วยการประสานความร่วมมือกับพันธมิตรพัฒนารูปแบบการตลาดที่ตรงใจ สร้างสรรค์และหลากหลาย โดยออกแคมเปญที่สร้างมูลค่าเพิ่มในแต่ละหมวดสินค้าเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอ โดยมีเป้าหมายการเติบโตในปี 60 ที่ 15% และคาดว่าจะมียอดรวมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ประมาณ 190,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ เคทีซีจะใช้กลยุทธ์ในการรักษาฐานสมาชิกในระยะยาวด้วยโปรแกรมคะแนนสะสม KTC Forever Rewards โดยได้ขยายรูปแบบการใช้คะแนนออกไปหลากหลาย ด้วยการจับมือกับกลุ่มพันธมิตรธุรกิจต่างๆ และเพิ่มช่องทางให้สมาชิกสามารถแลกสินค้าและบริการได้จากจุดให้แลกคะแนนกว่า 3,000 จุด รวมถึงช่องทางออนไลน์อีกด้วย บริษัทฯ ยังคงมุ่งพัฒนาบริการออนไลน์ที่รวดเร็ว ปลอดภัยสูงและง่าย เพื่อให้สมาชิกเคทีซีทำธุรกรรมรายการต่างๆ ได้มากขึ้น ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ด้วยตนเองทั้งบนเว็บไซต์ Click KTC และบนสมาร์ทโฟน/แท็บเล็ตผ่านโมบาย แอพพลิเคชั่น (TapKTC) รองรับระบบปฏิบัติการ iOS และแอนดรอยด์
บริษัทฯ ยังจะพัฒนาบริการการเดินทางและท่องเที่ยวแบบครบวงจร (KTC World Travel Services) เพื่อรวบรวมสิทธิประโยชน์หรือส่วนลดครอบคลุมการท่องเที่ยวทั้งภายในและภายนอกประเทศไว้ในที่เดียว สำหรับการจองบัตรโดยสาร โรงแรม และสร้างสรรค์โปรแกรมการตลาดอย่างต่อเนื่องและตรงกับความต้องการของลูกค้า
ด้านนางสาวสุดาพร จันทร์วัฒนากุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-ธุรกิจสินเชื่อบุคคล KTC กล่าวถึงกลยุทธ์การตลาดของธุรกิจสินเชื่อบุคคลในปี 60 ว่า “เคทีซีจะเน้นจัดกิจกรรมการตลาดที่สร้างสรรค์เพื่อรองรับสมาชิกใหม่และรักษาฐานเดิมของสมาชิกสินเชื่อพร้อมใช้ ด้วยกลยุทธ์ 4 แกน คือ 1) ให้สมาชิกธุรกิจสินเชื่อพร้อมใช้ “เคทีซี พราว" (KTC PROUD) สามารถใช้วงเงินสินเชื่อและชำระคืน โดยใช้บริการแบ่งชำระ KTC Flexi ยาวนานถึง 36 เดือนในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ
2) การเพิ่มและขยายฐานสมาชิกใหม่ครอบคลุมถึงการอนุมัติสินเชื่อที่รวดเร็วและรับเงินได้ทันที ผ่านโครงการ “CASH@KTC Touch" สมัครง่ายอนุมัติไวรู้ผลภายใน 30 นาที และบริการเบิกถอนเงินสดแบบออนไลน์ ผ่านโมบายแอพพลิเคชั่น “TapKTC" หรือผ่านเว็บไซต์และเข้าทำรายการใน “Click KTC" ซึ่งสะดวกสบายและเหมาะกับสมาชิกในยุคดิจิทัล 3) การแบ่งเบาภาระหนี้และค่าใช้จ่ายโดยพิจารณาถึงความต้องการลูกค้าเป็นสำคัญ 4) การสร้างความพึงพอใจสมาชิกเพื่อสร้างความผูกพันกับผลิตภัณฑ์ในระยะยาว
ทั้งนี้ ในปี 60 บริษัทฯ มีเป้าหมายการเติบโตของพอร์ตธุรกิจสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 15%
นายปิยศักดิ์ เตชะเสน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส-ช่องทางการจัดจำหน่าย และธุรกิจร้านค้า KTC กล่าวถึงกลยุทธ์การบริหารช่องทางจัดจำหน่ายและธุรกิจร้านค้าในปี 60 ว่า เคทีซีจะมุ่งขยายฐานกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เริ่มทำงาน และกลุ่มพนักงานประจำที่อาศัยในกรุงเทพฯ และในเขตเมืองที่มีกำลังซื้อสูงในระดับเดียวกัน ซึ่งเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่กลุ่มลูกค้าเดินทางไปค่อนข้างสูง โดยช่องทางธนาคารกรุงไทย ถือเป็นช่องทางหลักในการขยายฐานสมาชิก โดยมีสัดส่วนถึง 55% เมื่อเทียบกับช่องทางอื่น
อย่างไรก็ดี ด้วยพฤติกรรมของประชากรในเขตเมืองที่ปรับเปลี่ยน และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำธุรกรรมบนออนไลน์มากขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้า กลยุทธ์การขยายฐานผลิตภัณฑ์ในปีหน้า เคทีซีจึงมุ่งเน้นที่จะเติบโตบนช่องทางการสมัครทางออนไลน์ โดยเคทีซีจะเชิญชวนให้ลูกค้ามาสมัครผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ของเคทีซี ทั้งเว็บไซต์ โมบายแอพพลิเคชั่น เฟซบุ๊ค รวมถึงจะร่วมมือกับพันธมิตรที่ทำธุรกิจด้านการรับสมัครบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลผ่านออนไลน์ให้มากยิ่งขึ้น เช่น Silkspan, Interspace, Masli และพันธมิตรอื่นๆ ในอนาคต โดยตั้งเป้าจำนวนสมาชิกใหม่ของเคทีซีในปี 60 เท่ากับ 560,00 ราย แบ่งเป็นสมาชิกบัตรเครดิต 400,000 ราย และสินเชื่อบุคคล 160,000 ราย
"ด้านการบริหารธุรกิจร้านค้ารับบัตร เคทีซีจะรุกเข้าธุรกิจประเภทใหม่ๆ และการขยายสู่ตลาดต่างจังหวัด โดยทำงานร่วมกับธนาคารกรุงไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อสนับสนุนการขยายธุรกิจร้านค้ารับบัตรให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นทำการตลาดทั้งแบ่งชำระ (Flexi) และการชำระเต็มจำนวน รวมถึงการขยายสมาชิกร้านค้าในช่องทางของ e-Commerce เนื่องจากเป็นเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ที่มีการเลือกซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น ปัจจุบันเคทีซีมีมูลค่าการซื้อขายผ่านธุรกิจร้านค้าประมาณ 53,022 ล้านบาท และจำนวนร้านค้าประมาณ 14,800 แห่ง โดยในปี 60 บริษัทฯ มีเป้าหมายเติบโตของธุรกิจร้านค้าผ่านช่องทางออนไลน์ให้มากยิ่งขึ้น"