นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บมจ.ถิรไทย (TRT) เปิดเผยถึงทิศทางของบริษัทฯ (Business Plan)ว่า กลุ่ม TRT มีแผนจะเพิ่มยอดขายให้ถึง 5,000 ล้านบาทในปี 61 ด้วยกลยุทธ์การเพิ่มประสิทธิภาพของ กลุ่มงาน Steel Fabrication และงาน EPC ด้วยการเตรียมแผนเพื่อเข้ารับการรับรองมาตรฐานขั้นสูงต่างๆ (ตัวอย่างเช่น UL Stamp) ทั้งด้านศักยภาพการผลิต และบุคลากร เพื่อเพิ่ม Value Added ที่จะสามารถทำให้ยอดขายของงานกลุ่มงานนี้สามารถเติบโตจาก 486 ล้านบาทในปี 58 เป็น 1,000 ล้านบาทในปี 61
นอกจากนี้ยังมีกลยุทธ์การขยายฐานตลาดส่งออกหม้อแปลงไฟฟ้า ซึ่งจะเน้นตลาดในกลุ่มประเทศทีมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่ต้องการวิศวกรรมการออกแบบ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มยอดส่งออกจาก 650 ล้านบาทในปี 58 เป็น 880 ล้านบาทในปี 61 หรือมีอัตราเติบโตคิดเป็น 35%
ขณะที่ปัจจุบัน กลุ่ม TRT มีมูลค่างานคงเหลือที่ยังไม่ได้ส่งมอบ (Backlog) ณ สิ้นไตรมาส 3/59 จำนวน 2,221 ล้านบาท แบ่งเป็นการส่งมอบภายในปี 59, 60 และ 61 จำนวน 829, 1,006 และ 386 ล้านบาท ตามลำดับ รวมถึงยังมีงานรอประมูลและอยู่ระหว่างการเสนอราคา จำนวนทั้งสิ้น 8,592 ล้านบาท โดยกลุ่ม TRT มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 20-25%
สำหรับ Backlog ที่จะรับรู้เป็นรายได้ในปีหน้า แบ่งเป็นงานหม้อแปลงและงานที่ไม่ใช่หม้อแปลงอย่างละครึ่ง ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยหนุนให้รายได้ในปีหน้าเติบโตราว 20% มาที่ระดับ 3,000 ล้านบาท จากปีนี้ที่คาดว่าจะทำได้ในช่วง 2,500-2,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 2,266 ล้านบาทในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการเติบโตจากบริษัทย่อย คือ บริษัท แอล.ดี.เอส.เมทัล เวิร์ค จำกัด และจากการรับรู้งานในมือ
นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างรอผลประมูลงาน คือ งานโรงไฟฟ้าหงสา ที่สปป.ลาว มูลค่างาน 1,000 ล้านบาท คาดว่าจะรู้ผลภายในปีนี้ และในปีหน้าบริษัทก็เตรียมเข้าประมูลงานหม้อแปลงไฟฟ้าทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงงานบริการ งานโครงสร้างเหล็ก และอื่น ๆ มูลค่ารวม 8,592 ล้านบาท แบ่งเป็น งานการไฟฟ้านครหลวง มูลค่า 1,400 ล้านบาท ,งานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มูลค่า 1,700 ล้านบาท ,งานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มูลค่า 1,200 ล้านบาท
ส่วนงานภาคเอกชน มูลค่า 1,000 ล้านบาท งานบริการอื่น ๆ 460 ล้านบาท ,งาน Non-Transformer มูลค่า 500 ล้านบาท ,งานโครงสร้างเหล็ก มูลค่า 1,400 ล้านบาท และส่งออกหม้อแปลงไฟฟ้าอีก 900 ล้านบาท โดยคาดหวังได้รับงานดังกล่าวราว 20-25% หรือประมาณ 2,000-2,500 ล้านบาท โดยตั้งงบลงทุนราว 50-100 ล้านบาท ใช้ในการปรับปรุงสิทธิภาพการผลิต
นายสัมพันธ์ กล่าวอีกว่า กลยุทธ์การเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงานผลิตหม้อแปลงไฟฟ้า เพื่อรองรับความต้องการหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวปี 58-79 (PDP2015) ซึ่งประมาณการงบลงทุนในโครงการระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในช่วงปี 59-63 ต้องการหม้อแปลงไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 2,000 ล้านบาท ซี่งบริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 25%-30%
บริษัทจะเริ่มเดินสายการผลิตของโรงงานผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าใหม่ ในไตรมาส 4/59 นี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย และส่งเสริมกำลังการผลิตของหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย เพิ่มจาก 1,000 MAV เป็น 1,500 MVA และเพิ่มกำลังการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง จาก 4,000 MVA เป็น 7,500 MVA รวมเป็น 9,000 MVA ซึ่งจะสามารถรองรับการเติบโตธุรกิจของบริษัทไปอีก 5-7 ปี