นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หรือ ดีแทค คาดว่า ในปี 60 น่าจะเป็นปีที่ดีของ DTAC หลังจากที่ในปีนี้บริษัทได้ทำการปรับปรุงโครงข่ายยกระดับเป็น super 4G ที่มีแบนด์วิธกว้างถึง 20 MHz บนคลื่น 1800 MHz ด้วยงบลงทุน 7 หมื่นล้านบาท(ปี 58-60) ทำให้ DTAC ได้รับการตอบรับที่ดีและความพึงพอใจของลูกค้า รวมทั้ง จำนวนผู้ใช้บริการแบบรายเดือน (Postpaid) ก็เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้รายได้ต่อเลขหมายปรับตัวดีขึ้น
ณ สิ้นไตรมาส 3/59 DTAC มีลูกค้ารวม 24.8 ล้านเลขหมาย ลดลงจากไตรมาส 2/59 จำนวน 1.32 แสนเลขหมาย แต่รายได้เฉลี่ยต่อเลขหมาย อยู่ที่ 218 บาทต่อเดือนเพิ่มขึ้น 6.9%จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนการขยายบริการ 4G มีสถานีฐาน 4G เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 19,200 สถานี
นายลาร์ส กล่าวว่า ในปี 60 DTAC ปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจให้รองรับกระแสดิจิทัล และการให้บริการในรูปดิจิทัลมากขึ้น โดยลูกค้าสามารถเข้ามาใช้บริการออนไลน์ผ่านแอพดีแทค ทั้งเติมเงิน ซื้อมือถือ หรือจ่ายค่าบริการ/สินค้า ในทางกลับกัน DTAC ก็อาจจะส่งข้อมูลหรือข้อเสนอบริการให้ลูกค้า ถือว่าเป็นช่องทางสำหรับยุคดิจิทัล และเหมาะกับคนรุ่นใหม่ โดยปัจจุบันมีผู้ใช้ที active อยู่ 1.2 ล้านราย
"ยุคต่อไปนี้เป็นดิจิทัล เราได้ transform ไปสู่ Digital เรามีทั้งโครงข่ายที่ดี และ Value position ที่ให้กับลูกค้าได้ดี"
ดีแทคในฐานะผู้ให้บริการกิจการโทรคมนาคมของไทย ได้ตั้งเป้าหมายในการเป็นอันดับ 1 ดิจิทัลแบรนด์ 2020 หรือ ปี พ.ศ. 2563 ซึ่งการเตรียมความพร้อมจะเป็นหัวใจหลักในการพัฒนากิจการโทรคมนาคมไทย โดยรวมถึงบล็อกเชน (Blockchain) ที่คาดว่าจะเข้ามาพลิกโฉมหน้าการดำเนินธุรกิจในทุกภาคส่วนของไทย สร้างการเติบโตให้แก่ประเทศผ่านเทคโนโลยี ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลการพัฒนาของประเทศ Thailand 4.0 ที่รัฐบาลได้กำหนดขึ้นเพื่อยกระดับรายได้ประชาชนและคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน
อีกทั้งต้องร่วมกันพัฒนาระบบการเข้าถึงดิจิทัลที่ทุกฝ่ายจะต้องมีส่วนช่วยในกระบวนการลดความเหลื่อมล้ำในทางสังคม ทุกคนจะต้องก้าวไปพร้อมๆ กันทุกระดับ ทั้งภาครัฐ ราชการ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทเอกชน ผู้ประกอบการรายย่อย เกษตรกร ประชาชน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
บล็อกเชน (Blockchain) คือนวัตกรรมเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลที่ไม่ใช่แค่พลิกโฉมประเทศไทย แต่จะรวมถึงพลิกโฉมประเทศต่างๆ ในโลก ซึ่งนอกจากบล็อกเชนจะเข้ามาปฏิวัติโลกธุรกิจ และแวดวงการเงินการธนาคารแล้ว ยังจะเข้ามายกระดับและเปลี่ยนวิถีชีวิตประชาชนทั่วไปเฉกเช่นเดียวกันกับอิทธิพลของโลกออนไลน์ในขณะนี้ ถึงแม้เทคโนโลยีบล็อกเชนจะยังคงใหม่และต้องใช้เวลากว่าจะมีการใช้อย่างแพร่หลายในสังคม แต่เพื่อหลีกเลี่ยงความไม่พร้อมและการเสียโอกาสจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีใหม่ๆ นักวางแผน นักกลยุทธ์ ตลอดจนผู้กำหนดนโยบายภาครัฐต่างๆ รวมถึงกิจการโทรคมนาคม ควรตระหนักถึงอิทธิพลของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่อาจเกิดขึ้นต่อระบบในกิจการโทรคมนาคมอย่างฉับพลันในอนาคตอันใกล้ ดังนั้น การเตรียมความพร้อมต่อโอกาสและความท้าทายในอนาคตจะทำให้ประเทศไทยมีความได้เปรียบ เมื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีเหล่านั้นพร้อมให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ
รายงานการใช้งานดาต้าผ่านอินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยบนมือถือโครงข่ายดีแทคต่อคนต่อเดือนจากตุลาคม พ.ศ.2557 เทียบกับ ตุลาคม พ.ศ. 2559 เพิ่มเกือบ 200% ในขณะที่ข้อมูลจาก www.internetworldstats.com ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 รายงานการจัดอันดับ 20 ประเทศที่มีผู้ใช้งานการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นสูงสุด มีประเทศไทยติดอยู่ในอันดับ 19 ของโลก โดยไทยมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต 41 ล้านคน จากประชากรไทยประมาณ 68.2 ล้านคน โดยเพิ่มสูงถึง 1682.6% เมื่อเทียบกับการใช้งานปี พ.ศ. 2543-2559 แสดงว่าประเทศไทยมีการพัฒนาสู่ดิจิทัลอย่างเร็วและน่าสนใจ
นายลาร์ส กล่าวว่า สิ่งที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยกำลังประสบและเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมเทคโนโลยีในอนาคต คือ “กรอบนโยบายที่ชัดเจนต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยในอนาคต" เพื่อรองรับต่อปริมาณการใช้ข้อมูลมหาศาลหรือ “บิ๊กดาต้า (Big Data)" อันเกิดจากเทคโนโลยีการสื่อสารในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น 5G และ Internet of Things (IoT) ซึ่งเป็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของโลกในอีก 3 ปีข้างหน้า หากไม่กำหนดแผนบริหารจัดสรรคลื่นความถี่ชัดเจนในการประมูลล่วงหน้าก่อนที่คลื่นความถี่จะหมดอายุสัญญาสัมปทาน เพราะจะได้มีการลงทุนรองรับการเติบโตการใช้ดาต้า ถือว่าเรื่องนี้สำคัญ