ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บล.บัวหลวง (BLS) ที่ระดับ “AA-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยอันดับเครดิตดังกล่าวได้รับการปรับเพิ่มขึ้นจากสถานะอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทในฐานะเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของธนาคารกรุงเทพ (BBL)
ทั้งนี้ อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงพื้นฐานที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และความแข็งแกร่งของฐานรายได้ที่มาจากการดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย ตลอดจนแนวทางการบริหารงานที่ระมัดระวังของคณะผู้บริหาร ความยืดหยุ่นทางการเงินจากการเป็นบริษัทลูกของธนาคารกรุงเทพ รวมถึงศักยภาพในการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายและความสัมพันธ์กับกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ที่กลุ่มธนาคารกรุงเทพมีอยู่อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทยังมีข้อจำกัดจากธรรมชาติที่ผันผวนและการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจหลักทรัพย์ซึ่งมีผลกระทบต่ออัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ในปัจจุบันด้วย
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ว่า BLS จะคงสถานะการเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของกลุ่ม BBL และได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากธนาคารแม่ต่อไป
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้หากสถานะด้านเครดิตของกลุ่ม BBL หรือระดับที่บริษัทจะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม BBL เปลี่ยนแปลงไป
BBL เป็นหนึ่งในธนาคารชั้นนำในประเทศไทยซึ่งมีฐานลูกค้าที่กว้างขวาง อีกทั้งยังมีเครือข่ายสาขาที่ครอบคลุมและให้บริการทางการเงินอย่างครบวงจร โดย BBL ได้รับการจัดอันดับเครดิตจากสถาบันจัดอันดับเครดิตสากลคือ Moody’s Investors Service ที่ระดับ “Baa1" และ S&P Global Ratings ที่ระดับ “BBB+" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" จากทั้ง 2 สถาบัน
ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของแนวกลยุทธ์ของกลุ่ม BBL ที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งในการให้บริการทางการเงินแบบครบวงจร BBL จึงได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน BLS จาก 56.34% เป็น 99.75% ในปี 2555 ทั้งนี้ BBL มุ่งหวังจะใช้ศักยภาพในตลาดทุนของบริษัทเพื่อตอบสนองความต้องการด้านการลงทุนและหาแหล่งเงินทุนของลูกค้าในกลุ่มให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ การที่ BBL ถือหุ้นเพิ่มขึ้นยังช่วยให้การจัดการเงินทุนภายในกลุ่มกระทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและช่วยให้ธนาคารสนับสนุนเงินทุนแก่บริษัทได้ในจำนวนที่มากขึ้นด้วย
การเป็นบริษัทในกลุ่ม BBL ให้ประโยชน์แก่บริษัทหลายประการ กล่าวคือ บริษัทได้ใช้สาขาของธนาคารเป็นช่องทางสำคัญช่องทางหนึ่งในการขยายฐานลูกค้ารายย่อยของบริษัท โดยบัญชีลูกค้าซื้อขายหลักทรัพย์ราว 50% ที่บริษัทได้เพิ่มมาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2559 เป็นลูกค้าที่ผ่านการแนะนำจาก BBL เพิ่มขึ้นจาก 1 ใน 4 ของบัญชีลูกค้าในปี 2555 ความสัมพันธ์ที่ BBL มีกับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่จำนวนมากช่วยให้บริษัทมีความได้เปรียบในการให้บริการลูกค้ากลุ่มสถาบันในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ความสัมพันธ์ดังกล่าวยังช่วยให้บริษัทได้ลูกค้าด้านวาณิชธนกิจเพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบของบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นบริษัทลูกของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจาก BBL ด้วย โดยบริษัทได้รับวงเงินสินเชื่อจากทางธนาคารเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ วงเงินสินเชื่อดังกล่าวน่าจะเพียงพอต่อความต้องการด้านสภาพคล่องของบริษัท
บริษัทมีสถานะทางการตลาดที่เข้มแข็งในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดของปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์อยู่ในระดับ 4%-5% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และมีอัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม ส่วนแบ่งรายได้ของบริษัทในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมเติบโตอย่างต่อเนื่องจาก 3.5% ในปี 2550 เป็น 6.7% ในปี 2558 และลดลงเล็กน้อยเป็น 6.6% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นผู้นำในธุรกิจวาณิชธนกิจด้วยโดยมีรายได้จากการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์รวมกับรายได้จากการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเฉลี่ยปีละกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งจัดอยู่ใน 5 อันดับแรกของอุตสาหกรรมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
บริษัทมีความเสี่ยงไม่มากจากความผันผวนของราคาหลักทรัพย์เนื่องจากบริษัทมีนโยบายการลงทุนที่จำกัดเพียงการหาผลตอบแทนแบบ Arbitrage และการป้องกันความเสี่ยงจากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์เท่านั้น บริษัทได้ออกจำหน่ายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์เป็นครั้งแรกในปี 2553 และจัดได้ว่าเป็นผู้นำตลาดในผลิตภัณฑ์นี้ ในการบริหารความเสี่ยงด้านราคา บริษัทใช้กลยุทธ์ Dynamic Delta Hedging เพื่อลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าอ้างอิง ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าระบบบริหารจัดการความเสี่ยงของบริษัทจะยังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้บริษัทต้องขาดทุนจากการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในระดับที่สูงเกินจนไป
ในด้านความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์นั้น บริษัทมียอดการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์คงค้างจำนวน 1,785 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 ซึ่งคิดเป็น 23% ของส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทและเป็น 3% ของการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ของทั้งอุตสาหกรรม ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงไว้ซึ่งมาตรฐานในการให้สินเชื่อที่ระมัดระวังต่อไป
ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอยู่ในระดับที่เข้มแข็ง ในปี 2558 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,136 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จากกำไรสุทธิในปี 2557 ที่ระดับ 1,004 ล้านบาท ถือว่าเป็นผลประกอบการที่ดีกว่าคู่แข่งขันในอุตสาหกรรมที่ส่วนใหญ่มีผลประกอบการขาดทุนในปี 2558 เนื่องจากภาวะอุตสาหกรรมที่ไม่ดีนัก ผลจากธุรกรรมการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์มูลค่าไม่มากนักในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 ทำให้บริษัทมีผลกำไรสุทธิปรับลดลง 35% เป็น 477 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 737 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้สุทธิอยู่ที่ระดับ 47% สำหรับครึ่งแรกของปี 2558 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 64%
ฐานทุนของบริษัทเติบโตขึ้นอย่างมากภายหลังจากที่บริษัทมีฐานะเป็นบริษัทย่อยของ BBL ซึ่งจัดได้ว่าเป็นฐานทุนที่แข็งแกร่งในอันดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรม บริษัทได้เพิ่มทุน 1,600 ล้านบาทจากผู้ถือหุ้นเดิมในเดือนพฤศจิกายน 2556 โดยบริษัทจะใช้เงินทุนที่เพิ่มขึ้นในการขยายขีดความสามารถในการรับประกันการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ รวมทั้งขยายสินเชื่อเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ และขยายธุรกิจใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ บริษัทไม่ได้จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นเนื่องจากผลประกอบการตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปี 2556 แต่ต่อมาในปี 2557 บริษัทได้จ่ายเงินปันผลจากการดำเนินงานรวมเป็นเงิน 432 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 อยู่ที่ประมาณ 7,700 ล้านบาทเมื่อเทียบกับ 1,900 ล้านบาทในปี 2554 บริษัทมีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิต่อหนี้สินทั่วไป ณ สิ้นปี 2558 อยู่ที่ 209% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ทางการกำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์ต้องดำรงไว้ที่ระดับ 7% เป็นอย่างมาก