นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจมาร์ท (JMART) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติจัดตั้ง บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด เพื่อประกอบธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์ รับจ้างพัฒนาซอฟต์แวร์ และเพื่อประกอบธุรกิจลงทุนในกิจการอื่นๆ เช่น ธุรกิจ Start-up ด้วยทุนจดทะเบียนจำนวนทั้งสิ้น 100 ล้านบาท โดยชำระทุนครั้งแรกแล้ว 25 ล้านบาท (มูลค่าต่อหุ้น 10 บาทต่อหุ้น) โดยมี JMART เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 80% ส่วนที่เหลือเป็นของนายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ถือหุ้น 20%
อย่างไรก็ตาม การลงทุนครั้งนี้ บริษัทมองว่าจะได้รับประโยชน์อย่างมาก เนื่องจาก ฟินเทค (Fintech) เป็นเทรนด์แห่งอนาคตของการเงินไทย ที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ บริษัทจึงรุกเข้าไปขยายธุรกิจทางด้านซอฟต์แวร์ แอพพลิเคชั่น ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจฟินเทค รวมทั้งเทคโนโยโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการเงินในยุคดิจิตอล เพื่อรองรับธุรกิจค้าปลีกและเพื่อขยายธุรกิจของกลุ่มบริษัท โดยการหาโอกาสในการลงทุนในบริษัทที่มีศักยภาพ รองรับการเติบโตของกลุ่มบริษัทในอนาคต
ทั้งนี้ ด้วยความพร้อมของกลุ่ม JMARTที่มีฐานข้อมูลลูกค้าจำนวนมาก โดยเจมาร์ทมีลูกค้าซื้อมือถือกว่า 1.3 ล้านเครื่องต่อปี ขณะที่บริษัทในเครือเสริมแกร่ง ทั้ง บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) มีฐานข้อมูลลูกหนี้กว่า 3 ล้านราย และ เจ ฟินเทค ปัจจุบันมีลูกค้าสินเชื่อกว่า 1 แสนราย นับเป็นกลุ่มบริษัทที่มีข้อมูล Big Data ในการต่อยอดธุรกิจอย่างแข็งแกร่งต่อไป
"ในอนาคตเทคโนโลยีทางด้านการเงิน หรือฟินเทค จะเข้ามามีบทบาทในการทำธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก ซึ่งปัจจุบันข้อมูลลูกค้าเป็นหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจต่อไปในอนาคต ดังนั้น เรามองว่ากลุ่มเจมาร์ทมีความพร้อมอย่างมาก เนื่องจากเรามีหน้าร้านขายสินค้ากว่า 200 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งยังไม่รวมซิงเกอร์ที่มี Sale Agent กว่า 4,000 ราย กระจายทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีบริษัทปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การบริหาร ของ เจ ฟินเทค มีบริษัทติดตามหนี้ และบริหารหนี้ด้อยคุณภาพของ เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค รวมทั้ง บริษัทบริหารพื้นที่เช่ารายใหญ่ของ เจเอเอส แอสเซ็ท ที่มีรายได้ระยะยาวมั่นคง แข็งแกร่ง ดังนั้น ผมเห็นว่า เจมาร์ทเป็นกลุ่มค้าปลีกที่ทำงานได้อย่างครบวงจร และมีศักยภาพจะเติบโตอีกมากในอนาคต การเข้ามาในธุรกิจฟินเทค จะทำให้เราได้เปรียบคู่แข่งอื่นๆ"นายอดิศักดิ์ กล่าว บทวิเคราะห์ บล.เอเซียพลัส ระบุว่า JMART มีมุมมองเชิงบวกมากขึ้น ภายหลัง JMT ลดสัดส่วนธุรกิจให้สินเชื่อในบริษัทย่อย เจ ฟินเทค เหลือราว 9.1% จากเดิมถือ 100% และให้ JMART ถือหุ้นใหญ่แทนในสัดส่วน 90.1% จึงปรับเพิ่มกำไรปี 59-60 ของ JMT และหนุนภาพกำไรของ JMART ด้วย (JMART ถือหุ้น 55.9%)
ฝ่ายวิจัยคาดว่ากำไรงวดไตรมาส 4/59 จะเติบโตอย่างมีนัยฯ จากผลบวกธุรกิจ JMT ที่แกร่งกว่าคาดดังกล่าว และยังได้แรงหนุนจากธุรกิจหลักขายมือถือจะได้ผลบวกจากนโยบายช้อปช่วยชาติ นอกจากนี้ จะมาจากธุรกิจให้สินเชื่อ (เจ ฟินเทค) ที่จะพลิกจากขาดทุนมาคุ้มทุน จากการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และการตั้งสำรองหนี้ที่สูงกว่าปกติในช่วงแรกที่จะทยอยลดลงสู่ปกติ
ดังนั้น จึงมองว่า JMART ถือเป็นหุ้นที่มีจุดเด่น จากประโยชน์ระยะสั้นที่ได้รับโดยตรงจากนโยบายช้อปช่วยชาติ ประกอบกับ ผลบวกของการปรับเพิ่ม Fair Value ตาม JMT ซึ่งหนุนมูลค่าพื้นฐานใหม่ของ JMART ภายใต้วิธี Sum of the part เพิ่มขึ้นเป็น 16.2 บาท ยังมี Upside อีกราว 14.9% จึงยังให้"ซื้อ"