นายสิทธิชัย พรทรัพย์อนันต์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) ยืนยันกรณี IFEC ผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงินระยะสั้น (B/E) ไม่ใช่ความผิดของตน เนื่องจากเคยส่งแผนชำระหนี้ให้กับทางคณะกรรมการบริษัทฯ พิจารณาแล้ว แต่ทางผู้บริหารชุดปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการตามแผนดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม นายสิทธิชัย มั่นใจว่า IFEC มีความสามารถในการชำระหนี้ดังกล่าว เนื่องจากมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน พร้อมเร่งให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ เนื่องจากคณะกรรมการชุดปัจจุบันเหลือเพียง 4 คนทำให้ไม่สามารถดำเนินธุรกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ และตนเองจะรอดูโฉมหน้าคณะกรรมการและแนวทางการการบริหารของคณะกรรมการชุดใหม่ก่อนนตัดสินใจว่าจะถือหุ้น IFEC ต่อไป หรือขายหุ้นออกไป พร้อมยืนยันว่าจะลาออกจากบริษัทย่อย IFEC ทั้งหมด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา แต่อาจไม่ทันภายในปีนี้
นายสิทธิชัย กล่าวในฐานะผู้ถือหุ้นอันดับ 2 โดยมีจำนวนหุ้น IFEC ที่ถือครองทั้งหมด 72 ล้านหุ้นว่า ปัจจุบันกำลังทยอยดำเนินการลาออกจากบริษัทลูกของ IFEC ทั้งหมดที่นั่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจจำนวน 40 บริษัทที่ดำเนินธุรกิจพลังงานทดแทนและธุรกิจโรงแรม แบ่งเป็น 20 บริษัท เป็นบริษัทที่ยื่นประมูลโครงการโรงไฟฟ้าต่างๆ ส่วนอีก 15 บริษัทดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และอีก 5 บริษัทเป็นบริษัทภายใต้โรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่ คาดว่าสิ้นปีนี้จะทยอยลาออกได้เกือบครบทั้งหมด อาจจะเหลือเพียง 3-4 บริษัทที่จะลาออกได้เสร็จสิ้นในช่วงต้นปี 60
หลังจากที่ลาออกจากการเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ IFEC ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.59 ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้บริษัทไม่สามารถดำเนินงานต่างๆได้ เนื่องจากก่อนหน้าที่จะลาออก ได้ส่งแผนงานต่างๆไปให้กับผู้บริหารและคณะกรรมการบริษัทได้รับทราบเรียบร้อยแล้ว ประกอบกับจำนวนคณะกรรมการ IFEC ในปัจจุบันต่ำกว่า 4 คน ซึ่งในแง่ของกฏระเบียบจะต้องมีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่ รวมไปถึงแต่งตั้งผู้บริหารชุดใหม่ เพื่อที่จะทำให้บริษัทสามารถเดินหน้าไปต่อได้ในอนาคต
โดยได้มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 5-6 อันดับแรกของ IFEC ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 21.4% ส่งหนังสือให้กับทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเรียกร้องให้ IFEC จัดประชุมผู้ถือหุ้นภายในระยะเวลาที่กฏระเบียบกำหนดภายใน 30 วัน เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทและทีมบริหารชุดใหม่โดยเร็วที่สุด
"การดำเนินงานต่างๆของ IFEC ที่ทำไม่ได้ ไม่ได้เกิดจากลายเซ็นต์ผมคนเดียวเท่านั้น เพราะผมได้ลาออกไปแล้วตั้งแต่ 1 ธ.ค. และก่อนที่ผมจะออกก็ส่งแผนงานต่างๆให้กับผู้บริหารและบอร์ดรับทราบแล้ว แต่ไม่มีใครดำเนินการตามแผนที่ผมให้ไว้ และตัวบริษัทก็ทำอะไรไม่ได้ตอนนี้ เพราะบอร์ดต่ำกว่า 4 คน จากเดิม 9 คน ซึ่งตามระเบียบจะต้องจัดประชุมผู้ถือหุ้นภายใน 30 วัน เพื่อแต่งตั้งบอร์ดและทีมผู้บริหารใหม่ แต่เขาก็ยังไม่ได้มีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นสักที นี่ก็ใกล้ครบกำหนดแล้ว ซึ่งผู้ถือหุ้นอันดับที่ 5-6 รวมกันคิดเป็นสัดส่วน 21.4% ก็ส่งหนังสือเรียกร้องไปที่ตลาดหลักทรัพย์ฯและก.ล.ต.แล้ว ตัวผมเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นก็หวังว่า IFEC จะจัดประชุมผู้ถือหุ้นเร็วๆนี้ และการที่บอร์ดไม่ครบทำให้บริษัทเกิดปัญหาขึ้น เพราะไม่สามารถดำเนินการอนุมัติอะไรได้ ก็ต้องรอหลังประชุมผู้ถือหุ้นเสร็จ"นายสิทธิชัย กล่าว
นายสิทธิชัย ยืนยันว่า การผิดนัดชำระหนี้ตั๋วสัญญาระยะสั้น (B/E) ให้กับ บลจ.แลนด์ แอนด์ เฮาส์ ชุดแรก มูลค่า 100 ล้านบาทเมื่อกลางเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ไม่ใช่ความผิดของตน และไม่ใช่เพราะไม่เซ็นเอกสาร เนื่องจากได้ส่งให้กับคณะกรรมการและผู้บริหารทราบแล้ว แต่ผู้บริหารปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการ ทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ทั้งที่ IFEC ยังมีความสามารถในการชำระหนี้คืนในะดับที่ค่อนข้างสูง เพราะมีสินทรัพย์รวมมากกว่าหนี้สินรวม ทำให้มั่นใจว่า IFEC สามารถจ่ายคืนหนี้อย่างแน่นอน
"การผิดชำระหนี้ตั๋ว B/E ที่เกิดขึ้นเกิดจากการที่ผู้บริหารปัจจุบันไม่ได้ทำตามแผนที่ให้ไว้ และคณะกรรมการบริษัทต่ำกว่า 4 คน ซึ่งไม่สามารถดำเนินการอนุมัติแผนการต่างๆได้ และยังกังวลว่าตั๋ว B/E ที่จะครบกำหนดในสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม 60 มูลค่า 200 ล้านบาท อาจมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ได้ เพราะบริษัทไม่สามารถดำเนินการต่างๆได้ หากยังไม่มีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เข้ามา"นายสิทธิชัย กล่าว
ปัจจุบัน IFEC มีสินทรัพย์รวมมูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท และมีหนี้สินรวมอยู่ที่ 8,500 ล้านบาท แบ่งเป็น ตั๋ว B/E มูลค่า 3.2 พันล้านบาท หุ้นกู้ 3,000 ล้านบาท และเงินกู้ในการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้า 1.7-1.8 พันล้านบาท ซึ่งตามแผนของนายสิทธิชัยเสนอให้ลดสัดส่วนของหนี้สินของบริษัทลง เพราะปัจจุบันมีภาระดอกเบี้ยจ่ายค่อนข้างสูง ทำให้กดดันผลการดำเนินงานของบริษัท จึงจำเป็นต้องยอมตัดขายสินทรัพย์บางอย่างออกไปเพื่อนำเงินไปชำระคืนหนี้ อย่างเช่น การขายโรงไฟฟ้าบางส่วนออกไปราว 5-10 เมกะวัตต์ ซึ่งทำให้บริษัทได้เงินมากว่า 1 พันล้านบาท และการขายโรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่ ออกไป มูลค่าขั้นต่ำในการขายราว 4 พันล้านบาท
"IFEC ถือว่าโตเร็วมากในช่วง 3 ปี พอโตเยอะๆตอนนี้ก็ถือว่าเป็นช่วงที่หยุดโต ซึ่งในช่วงนี้เองต้องพยายาม Mix & Match สินทรัพย์และหนี้สินให้อยู่ในระดีบเหมาะสม แม้ว่า IFEC จะมีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สิน แต่การลดหนี้ลงไปทำให้ IFEC มีภาระดอกเบี้ยจ่ายลดลง ผมในฐานะนักการเงินเราก็ต้องมีแนวทางทำยังไงจะทีเงินไปจ่ายคืนหนี้ การขายสินทรัพย์ของ IFEC ออกไปบางส่วนก็เป็นการได้เงินมา ซึ่งจะขายสินทรัพย์ที่เป็น Non Movement บางอย่าง เช่น โรงไฟฟ้า 5-10 MW และโรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่ แล้วนำเงินไปจ่ายคืนหนี้ ซึ่งปัญหาคืนหนี้ตั๋ว B/E ตอนนี้ที่เป็นประเด็น 100 ล้านบาทที่ Default ไปแล้ว ผมก็งงว่าทำไมมูลค่ามันก็ไม่มาก แต่ก็บริษัทก็ผิดชำระหนี้ได้ ซึ่งเรื่องนี้จริงๆ มีผมทางแก้หลายอย่าง แต่ก็ไม่รู้ว่าทำไมถึงเกิดขึ้นได้"นายสิทธิชัย กล่าว
ด้านกรณีที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับบริษัท ไลท์ คอร์ปอเรท จำกัด ชาร์จกำไรส่วนต่าง 20% จากการขายขนมมาการองนั้น นายสิทธิชัย กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง เพราะ ไลท์ฯ ซื้อเฟรนไชส์ร้านมาการองของโรงแรมดาราเทวีเปิดสาขา และรับขนมมาจากโรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้ผลิตไปขาย มีการคิดค่าส่วนต่างเป็นปกติ
อย่างไรก็ตาม นายสิทธิชัย ระบุว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรอ IFEC จัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการและคณะผู้บริหารชุดใหม่ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร รวมถึงติดตามผลงานของทีมผู้บริหารชุดใหม่ เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะยังถือหุ้น IFEC ต่อไป หรือจะขายหุ้น IFEC ออกไปในอนาคต และยอมรับว่ากระแสข่าวที่ออกมาทำให้ตนเองและผู้ถือหุ้นทุกคนและคนที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบทั้งสิ้น รวมถึงพนักงานส่วนหนึ่งที่ถูกปลดออกจากการเป็นพนักงานโดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจนได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ซึ่งพนักงานส่วนหนึ่งได้ไปฟ้องศาลแรงงานแล้ว จึงอยากให้ทางผู้บริหารและคณะกรรมการ IFEC ปัจจุบันเร่งแก้ไขปัญหาให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อทำให้บริษัทเดินหน้าต่อไปได้