นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย (KTAM) เปิดเผยว่า บริษัทได้รับความไว้วางใจจาก 3 องค์กรรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ ต่อสัญญาบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกอบด้วย บมจ.ทีโอที มูลค่า 13,000 ล้านบาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หนึ่งในผู้บริหารกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ มูลค่า 13 ,641 ล้านบาท และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หนึ่งในผู้บริหารกองทุน มูลค่า 13,184 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทได้เปิดรับโอนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ( PVD) ไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แล้วตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2560 เป็นต้นไป
พร้อมกันนี้บริษัทอยู่ในระหว่างการเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ เอฟไอเอฟ 121 (KTFF121) เสนอขายตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 9 มกราคม 2560 อายุ 3 เดือน เน้นลงทุนตราสารหนี้ในต่างประเทศ ประเภท เงินฝากประจำ Bank of China , Hong Kong Branch อัตราผลตอบแทน 1.75% ต่อปี , Agricultuarl Bank of China อัตราผลตอบแทน1.65% ต่อปี
China Construction Bank Corporation Limited อัตราผลตอบแทน 1.80% ต่อปี Ahi Bank QSC อัตราผลตอบแทน 1.90% ต่อปี และ Commercial Bank QSC อัตราผลตอบแทน 1.90% ต่อปี โดยสัดส่วนการลงทุนสถาบันการเงินละ 20% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน และกองทุนมีค่าใช้จ่ายประมาณ 0.25% ต่อปี ดังนั้น ผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนประมาณ 1.55% ต่อปี ซึ่งกองทุนมีนโยบายการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน
แนวโน้มอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ในประเทศ มีการปรับตัวสูงขึ้นทุกช่วงอายุ จากความต้องการซื้อตราสารหนี้ของนักลงทุน หลังจากการประมูลพันธบัตรรัฐบาลรุ่น 50 ปี ที่ออกมาไม่ดีนัก ประกอบกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี ตามที่คาดการณ์กันไว้ และคงอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ไว้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา คือ อยู่ที่ประมาณ 3.2%
ส่วนอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ปรับตัวลดลงเกือบทุกช่วงอายุ หลังจากนักลงทุนเริ่มกลับมาซื้ออีกครั้ง เนื่องจากราคาตราสารหนี้สหรัฐ เริ่มกลับมาอยู่ในระดับที่น่าสนใจเพื่อลดความเสี่ยงช่วงสิ้นปี ทั้งนี้ สหรัฐเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาส 3/59 พุ่งเกินคาด แตะ 3.5% สูงสุดรอบ 2 ปี โดยสรุปอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ อายุคงเหลือ 2 ปี อยู่ที่ 1.22 % ต่อปี อายุคงเหลือ 5 ปี อยู่ที่ 2.04% ต่อปี และอายุคงเหลือ 10 ปี อยู่ที่ 2.55% ต่อปี
สำหรับปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตาม ความคืบหน้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ทิศทางของการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนระหว่างประเทศ และการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศ