(เพิ่มเติม) PTG คาดเริ่มสร้าง รง.เอทานอลร่วมทุนในปี 61 เริ่มผลิตปี 63 พร้อมเจรจาจับมือพันธมิตรผลิตจากโมลาส

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 9, 2017 15:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) คาดว่า โรงงานผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังภายใต้ บริษัท อินโนเทค กรีน เอ็นเนอยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง PTG สัดส่วน 60% และ บริษัท เอี่ยมบรูพา จำกัด สัดส่วน 40% โดยมีมูลค่าลงทุนในโครงการ 1,500 ล้านบาท จะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 61 และเริ่มผลิตได้ในปี 63 ซึ่งมีเป้าหมายผลิตได้เต็มที่ 4 แสนลิตร/วันภายในปี 64-65 เพื่อสร้างกำไรให้ได้ราว 300 ล้านบาท/ปี

ล่าสุด อินโนเทค กรีน เอ็นเนอยี ได้เข้าลงนามข้อตกลงการใช้เทคโนโลยีการผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลังกับบริษัท ซัปโปโร โฮลดิ้ง จำกัด โดยเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นการย่อยแป้งที่เหลือในกากมันสำปะหลังให้สามารถนำมาผลิตเป็นน้ำตาล และเข้าสู่กระบวนการหมักให้เป็นเอทานอล ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าของเหลือใช้ให้สูงขึ้น และยังสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 3 บาท/ลิตร

ขณะที่ PTG ยังอยู่ระหว่างการเจรจาเข้าร่วมทุนผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล (โมลาส) ด้วย คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ โดยจะอยู่ภายใต้งบลงทุนที่เตรียมไว้สำหรับการลงทุนในธุรกิจใหม่ราว 1-1.5 พันล้านบาท

นายพิทักษ์ กล่าวว่า โรงงานเอทานอลจากวัตถุดิบมันสำปะหลังนี้ จะมีกำลังการผลิตเริ่มต้น 2 แสนลิตร/วัน หลังจากนั้นจะยังมองการขยายโรงเอทานอลดังกล่าว ในเฟส 2 และ 3 อย่างต่อเนื่อง และตั้งเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตราว 4 แสนลิตร/วัน ในปี 64-65

"ในอนาคต หรือในปี 63 เราตั้งเป้าจะมีสถานีบริการน้ำมัน ไม่น้อยกว่า 3,200 สาขา และเชื่อว่าในอนาคตน่าจะมีความจำเป็นที่จะใช้เอทานอลกว่า 1 ล้านลิตร/วัน ซึ่งเราก็ได้มีการร่วมทุนกับ บริษัท เอี่ยมบรูพา จำกัด จัดตั้งบริษัท อินโนเทค กรีน เอ็นเนอยี เพื่อดำเนินการผลิตเอทานอล จากกากมันสำปะหลัง ซึ่งโรงเอทานอลจะตั้งอยู่ที่ จังหวัดสระแก้ว มีกำลังการผลิตที่ 2 แสนลิตร/วัน ขณะที่วันนี้ เราได้ลงนามข้อตกลงนำเอาเทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่น ของบริษัท ซัปโปโร โฮลดิ้ง จำกัด เข้ามาอีกด้วย ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 3 บาท/ลิตร"นายพิทักษ์ กล่าว

นายพิทักษ์ กล่าวว่า บริษัทยังอยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตรทั้งในประเทศและนอกประเทศ เพื่อร่วมทุนในธุรกิจผลิตเอทานอลจากโมลาส ซึ่งปัจจุบันมีเจรจาอยู่หลายราย และมีขนาดธุรกิจที่ใหญ่ หรือมีกำลังการผลิตราว 2 แสนลิตร/วัน คาดว่าจะได้ข้อสรุปได้ภายในปลายปีนี้ โดยบริษัทเตรียมงบลงทุนสำหรับการร่วมทุนในธุรกิจใหม่ไว้ราว 1-1.5 พันล้านบาท ซึ่งน่าจะเพียงพอต่อการลงทุน

สำหรับธุรกิจน้ำมัน บริษัทตั้งเป้าจะมีส่วนแบ่งตลาดการขายน้ำมันผ่านสถานีบริการในปีนี้ขยับขึ้นเป็นอันดับที่ 2 จากเดิมอยู่ที่อันดับ 5 ในปี 59 โดยคาดปริมาณการขายน้ำมันปีนี้จะเติบโตราว 30% หรือมาอยู่ที่ 3,900-4,000 ล้านลิตร จากปีก่อนที่มีปริมาณการขายอยู่ที่ 2,900 ล้านลิตร จากการขยายสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ จึงทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้สะดวกมากยิ่งขึ้น และยังขยายสาขาของธุรกิจนอนออยล์ อย่างร้านกาแฟ ให้มีทุกสาขา ในขณะเดียวกันยังมีร้านสินค้าที่เป็นแบรนด์ชั้นนำมาเช่าพื้นที่เพื่อขายสินค้าเพิ่มขึ้น

ขณะที่บริษัทวางงบลงทุนปีนี้ไว้ราว 4-4.5 พันล้านบาท ใช้ขยายสถานีบริการน้ำมันอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนจะเพิ่มเป็น 1,800 สาขา จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 1,407 สาขา ซึ่งจะให้บริษัทมีจำนวนสถานีบริการน้ำมันมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในประเทศ อีกทั้งยังตั้งเป้าว่าภายในปี 63 จะมีสถานีบริการน้ำมันทั้งสิ้นกว่า 3,200 สาขาทั่วประเทศ โดยระยะยาวยังมองว่าความต้องการใช้ยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งผู้ใช้รายย่อยรวมถึงผู้ใช้ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และยังนำเงินมาขยายร้านกาแฟพันธุ์ไทยให้มีทุกสาขาของสถานีบริการน้ำมัน

สำหรับผลการดำเนินงานบริษัทในปี 60 ตั้งเป้ารายได้เติบโตแตะระดับ 1 แสนล้านบาท จากปี 59 คาดว่าจะทำได้ 6.4 หมื่นล้านบาท จากการขยายสถานีบริการน้ำมัน ,ร้านกาแฟพันธุ์ไทย และการรุกธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นคุณภาพสูงภายใต้แบรนด์ “พีที แมกซ์นิตรอน" และโครงการพลังงานครบวงจร “ปาล์ม คอมเพล็กซ์" เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ