นายสันติ กีระนันทน์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ขณะนี้ ตลท.ได้ร่วมกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เข้าไปตรวจสอบข้อมูลตั๋วแลกเงินระยะสั้น (B/E) ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หลังมีกรณีการผิดนัดชำระหนี้ตั๋ว B/E หลายรายในช่วงนี้ โดยเบื้องต้นพบว่ามีตั๋ว B/E ที่มีความเสี่ยงอาจจะมีปัญหาอยู่ราว 1 หมื่นล้านบาท จากตลาดรวมในหลักหลายแสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสรุปแนวทางการจัดการได้ในสัปดาห์หน้า
สำหรับการผิดนัดชำระหนี้ตั๋ว B/E ของบมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) ,บมจ.เค.ซี. พร็อพเพอร์ตี้ (KC) และบมจ.อี ฟอร์ แอล เอม (EFORL) มีความแตกต่างกันในแต่ละกรณี ซึ่ง ตลท.ต้องเข้าไปตรวจสอบอย่างละเอียด ซึ่ง ตลท.และ ThaiBMA เข้าไปตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้มีความชัดเจนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ตลท.มีความกังวลมานานแล้วเกี่ยวกับการใช้ช่องทางออกตั๋ว B/E ระดมทุน เนื่องจากตั๋ว B/E มีความแตกต่างจากหุ้นกู้คือไม่มีหลักประกัน แต่ก็ยังเชื่อว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะไม่รุนแรง เพราะผู้ลงทุนในตั๋ว B/E ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มกองทุนที่ลงทุนในรูปแบบที่มีความเสี่ยงแต่ให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth) ที่รับรู้ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นอยู่แล้ว ขณะที่ผู้ที่ออกตั๋ว B/E ส่วนใหญ่ก็ไม่ถึงกับจะไม่ชำระหนี้เลย เพียงแต่อาจมีความล่าช้าไปบ้างจากปัญหาทางเทคนิคของแต่ละราย
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ลงทุนใหม่ ควรที่จะรับรู้ถึงความเสี่ยงของการลงทุน และศักยภาพการลงทุนของตัวเอง รวมถึงพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือของผู้ที่ออกตั๋ว B/E ด้วย ส่วนผู้ที่ลงทุนอยู่แล้วก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าสถานการณ์การเงินของผู้ออกตั๋ว B/E เหล่านั้นเป็นอย่างใดบ้าง