นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ กลุ่มทิสโก้ กล่าวว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นราว 6% ในช่วงปลายปีที่แล้วหลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพ.ย.59 เนื่องจากความคาดหวังของตลาดว่า นโยบายเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐและการลดภาษีของนายทรัมป์ จะส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในสหรัฐฯ และกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น
อย่างไรก็ดี ปรากฏว่าในช่วง 2 สัปดาห์แรกของปีนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เริ่มกลับมาอ่อนค่าลงราว 2% เนื่องจากตลาดขาดปัจจัยสนับสนุนใหม่ ๆ โดยในการแถลงต่อสื่อมวลชนของนายทรัมป์ เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา ยังไม่ได้มีรายละเอียดในด้านนโยบายเศรษฐกิจมากเท่าที่ควร และระดับการเก็งกำไรค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 1 ปีครึ่ง ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กดดันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ มองว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ น่าจะเคลื่อนไหวในทิศทางทรงตัวถึงอ่อนค่าลงอีกเล็กน้อย ในช่วงที่ตลาดยังรอความชัดเจนด้านนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีคนใหม่ แต่คาดค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะกลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายเดือน ก.พ. โดยมีปัจจัยสนับสนุน จากการแถลงนโยบายประจำปีของประธานาธิบดีทรัมป์ ต่อรัฐสภา (State of Union) ในวันที่ 21 ก.พ. และแผนการปฏิรูปภาษีจากคณะกรรมาธิการพิจารณาวิธีการจัดหารายได้ (House Ways and Means Committee) ซึ่งน่าจะมีการเปิดเผยรายละเอียดในเดือน ก.พ. เช่นกัน
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่พักฐานในช่วงนี้ส่งผลให้เงินทุนต่างชาติไหลกลับเข้าลงทุนในตลาดหุ้น Emerging Market และกดดันตลาดหุ้นญี่ปุ่นเนื่องจากค่าเงินเยนกลับมาแข็งค่า อย่างไรก็ดีมองการพักฐานของดอลลาร์สหรัฐฯ จะมีขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ น่าจะกลับมาแข็งค่าต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยแนะนำให้นักลงทุนใช้โอกาสนี้ในการทยอยขายหุ้นในตลาดเกิดใหม่ เช่น ไทย และเกาหลีใต้ ซึ่งได้อานิสงส์จากเงินทุนไหลกลับในช่วงนี้ และใช้โอกาสที่ตลาดปรับฐานในการทยอยสะสมหุ้นญี่ปุ่น