นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บล.เคทีบี (ประเทศไทย) (KTBST) ประเมินหุ้นไทยสัปดาห์นี้ (16-20 ม.ค.) ว่า ตลาดยังแกว่งในกรอบ Sideway เนื่องจากรับรู้ข่าวบวกมามากแล้ว เงินลงทุนไหลเข้าตลาดที่ชะลอ หลังราคาน้ำมันดิบเริ่มอ่อนตัวลง และรอดูท่าทีของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯต่อนโยบายการค้าต่างประเทศเป็นปัจจัยสำคัญต่อตลาดในสัปดาห์นี้ และจะทำให้ตลาดหุ้นผันผวนได้ในบางวัน คาดว่าจะมีแรงขายทำกำไรเข้ามาในตลาดมากขึ้น จากหุ้นที่ราคาขึ้นมามาก แต่หากความกังวลในเรื่องของนโยบายของสหรัฐฯลดลงหรือพลิกมาเป็นบวกเชื่อว่านักลงทุนก็พร้อมที่จะกลับเข้ามาซื้อหุ้นกันต่อ
โดยปัจจัยที่สำคัญที่จะมีผลต่อตลาด ได้แก่ 1.) การแถลงข่าวครั้งแรกของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นสัญญาณว่า จะมีการนำเอานโยบายต่างประเทศ ที่สำคัญ ๆ มาใช้ คือ การตอบโต้ประเทศที่เอาเปรียบการค้ากับสหรัฐฯ ที่พุ่งเป้าไปที่จีนเป็นลำดับต้น ๆ และการดึงเอาโรงงานอุตสาหกรรมที่ขายสินค้าให้สหรัฐฯ เข้าไปตั้งโรงงานในประเทศสหรัฐฯ ขณะที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศยังไม่ชัดเจนนัก ด้านค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ค่า Dollar Index ปรับตัวลงเกือบ 1% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯและความมั่นใจของนักลงทุนต่อนโยบายของนายทรัมป์ ที่ลดลง สอดคล้องกับภาวะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่เริ่มชะลอลง หากดอลลาร์ยังคงอ่อนค่าอยู่อีกจะทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกอยู่ในสภาวะที่ทรงตัวตามไปด้วย
ขณะเดียวกันสัปดาห์นี้ นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นพูดในวันที่ 18 และ 19 ตลาดน่าจะให้ความสนใจ 2 เรื่อง คือ ท่าทีของการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด (เดิมกล่าวว่าจะปรับขึ้น 3 ครั้งในปีนี้) และผลของการใช้นโยบายเศรษฐกิจของนายทรัมป์ จะมีผลต่อเงินเฟ้อ-ดอกเบี้ย สหรัฐฯอย่างไร ซึ่ง นางเยลเลน ได้เคยแสดงความเห็นไว้บ้างแล้ว ซึ่งพิจารณาจาก ระดับของ Bond Yield ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงจากช่วงก่อนหน้านี้ บ่งชี้ 2 เรื่อง คือ ความกังวลต่อการปรับขึ้นน้อยลงและเริ่มมีเงินไหลเข้าตลาดพันธบัตรของสหรัฐฯ
2) ราคาน้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์ โดยราคาน้ำมันดิบ ยังคงได้อานิสงส์จากการลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตน้ำมันที่จะมีการประชุม ของ Monitoring Committee ในวันที่ 21-22 ม.ค.นี้ โดยมีตัวแทนของประเทศที่เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย Kuwait, Algeria, Venezuela, Russia และ Oman ทั้งนี้ ผู้ผลิตน้ำมันและนักวิเคราะห์ ต่างเห็นไปในทางบวกว่า การลดกำลังการผลิตน้ำมันนั้น จะบรรลุตามที่ตกลงกันไว้และเป็นบวกต่อราคาน้ำมันดิบ ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันดิบ (WTI) วิ่งอยู่ในกรอบ 50-55 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในระยะนี้ อย่างไรก็ตามคาดว่านักลงทุน จะยังมีความพะวงอยู่ว่าการลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และผู้เข้าร่วมรายอื่น หากทำให้ราคาน้ำมันดิบสูงเกิน 55 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จะทำให้ผู้ผลิตน้ำมันที่เป็น Shale Oil เพิ่มกำลังการผลิตขึ้นมาอีก โอกาสที่น้ำมันดิบ (WTI) จะปรับตัวขึ้นไปเหนือ 55 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในช่วงนี้ จึงเป็นไปได้ยาก แม้การประชุม 21-22 ม.ค.นี้ ผลจะออกมาดีก็ตาม
ด้านราคาสินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มโลหะและสินค้าเกษตร คาดจะเป็นกลุ่มที่ราคามีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อ โดยความต้องการใช้โลหะที่เป็นวัตถุดิบที่ยังคงสูงจากประเทศจีน ซึ่งมีการควบคุมการใช้กำลังการผลิต และการคาดหวังว่านโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะเพิ่มความต้องการใช้สินค้าที่เป็นวัตถุดิบของภาคอุตสาหกรรม จึงทำให้ราคาสินค้าในกลุ่มโลหะ โดยเฉพาะเหล็ก มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น
ขณะที่ราคาสินค้าในกลุ่มเกษตรที่เห็นการปรับตัวสูงขึ้น นอกจากความต้องการใช้สินค้าที่สูงขึ้นมาจากปัญหาด้าน supply อย่างเช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมันที่เป็นบวกจากน้ำท่วมภาคใต้ของไทย โดยรวม ๆ แนวโน้มราคาสินค้าในกลุ่มนี้ ยังน่าจะยืนตัวในระดับที่สูงอยู่ต่อไปแต่ถึงกระนั้น ราคาหุ้นที่มีรายได้อิงกับราคาโลหะและสินค้าเกษตร ส่วนใหญ่ราคาจะปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมาก ทาให้โอกาสที่ราคาหุ้นจะเดินหน้าต่อ จึงน่าจะมีกรอบจากัด การเข้าลงทุนหุ้นกลุ่มนี้ จึงต้องดูราคาผลิตภัณฑ์อ้างอิง ประกอบไปด้วย
3) การเก็งงบไตรมาส 4/59 และเงินปันผลงวดครึ่งปีหลัง ประเมินกำไรไตรมาสที่ 4/59 ไว้ที่ 1.6–1.7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 9-13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งจะดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้กำไรของบริษัทในตลาดดีขึ้น มาจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง มูลค่าส่งออกของไทยที่สูงขึ้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่เข้ามาในช่วง 1-2 เดือนสุดท้าย ทั้งนี้ หุ้นที่คาดว่า ผลประกอบการไตรมาส 4/59 จะออกมาดี จะเป็นธุรกิจกลุ่มน้ามัน (ผู้ผลิต+โรงกลั่นน้ามัน) ธุรกิจส่งออก (อีเล็คทรอนิกส์-ชิ้นส่วนรถยนต์-อาหารแช่แข็ง-เกษตรแปรรูป ฯลฯ) และกลุ่มค้าปลีก เป็นต้น
4) Fund Flow คาดแรงซื้อจากนักลงทุนต่างประเทศจะยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยบวกในประเทศเอง คือการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่จะผลักดันหุ้นที่อิงภาวะเศรษฐกิจ นั้นมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้ คาดว่านักลงทุนต่างประเทศน่าจะยังซื้อต่อ เพียงแต่ปริมาณจะลดลงเพราะรอดูนโยบายของสหรัฐฯและราคาหุ้นที่เป็นเป้าหมายของกองทุนฯปรับตัวขึ้นมามาก อีกทั้ง จะถูกกดดันจากแรงขายของกองทุนในประเทศ ทั้งการขายทำกำไรและการถึงกำหนดขายของผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
5) ปัญหาตั๋วแลกเงิน (B/E) กระทบความมั่นใจในหุ้นเล็ก ที่ฐานะการเงินไม่แข็งแรง จากช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา มี 4 บริษัทในตลาดหุ้น ที่ไม่สามารถคืนหนี้ได้ตามกำหนด ทั้งจากตั๋ว B/E และเงินกู้ที่ครบกำหนดชำระ ประกอบด้วย KC,EFORL,IFEC และ RICH แม้ EFORL นั้น จะเป็นปัญหาด้านเทคนิค ที่ได้นำเงินมาคืนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่การที่มีหลายบริษัทมีปัญหาลักษณะนี้ ในช่วงเวลาใกล้กัน อาจกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุน ที่มีต่อบริษัที่มีฐานะทางการเงินที่ไม่แข็งแรง หรือมีการระดมทุนด้วย B/E หรือแม้กระทั่งเงินกู้สถาบันการเงินผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ เผยมีตั๋ว B/E ที่มีความเสี่ยงในลักษณะนี้ คิดเป็นวงเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท หรือ ประมาณ 10% ของการระดมทุนด้วยวิธีนี้ผลกระทบจากการผิดนักชำระหนี้ คาดจะมีผลต่อหุ้นเป็นรายตัว และอาจเพิ่มความกังวลต่อหุ้นธนาคาร ในเรื่องของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) หากยังคงมีบริษัทที่มีปัญหานี้อยู่อีกในอนาคต
สำหรับกลยุทธ์ลงทุนในสัปดาห์นี้ แนะนำให้นักลงทุนพิจารณาขายทำกำไรหุ้นที่ราคาปรับขึ้นมามาก โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มที่เคยเป็น Laggard อาทิ ธนาคารและหุ้นที่อยู่อาศัย และไปรอดูสัญญาณซื้อรอบใหม่ตามตลาดต่างประเทศ หรือหากตลาดมีการพักตัว ดูว่าดัชนีที่ระดับ 1,566 จุดจะมีแรงซื้อกลับหรือไม่ หุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ น่าจะยังคึกคักต่อ แต่ให้ความสนใจกับกลุ่มกลางจนถึงปลายน้ำมากกว่า (ปิโตรเคมี,โรงกลั่นน้ามัน,ผู้นำสินค้ามาแปรรูป) แต่ควรเป็นการเก็งกำไรช่วงสั้น ๆ แต่ควรติดตามราคาอ้างอิงผลิตภัณฑ์เหล่านี้ด้วย ส่วนหุ้นกลุ่มที่เป็น Domestic Play น่าจะถูกกลับเข้ามาเล่นอีกครั้ง โดยเฉพาะหุ้นที่ได้ประโยชน์จากมาตรการและการลงทุนภาครัฐ และหุ้นที่มีผลประกอบการดี ขณะที่หุ้นในกลุ่มส่งออก อิเล็คทรอนิคส์ และชิ้นส่วนรถยนต์ เป็น กลุ่มที่จะได้รับผลจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯโดยตรง การลงทุนหุ้นกลุ่มนี้ จึงควรรอดูนโยบายการค้า หรือสถานการณ์ภายนอกประกอบไปด้วย
ทั้งนี้ KTBST คาดการณ์ดัชนีฯสัปดาห์นี้จะผันผวนในกรอบ 1,566-1,590 จุด หุ้นที่คาดว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุน TOP,SPRC,IVL,PTL,FSMART,BJC,STEC,ADVANC,MSC